ผลงานกรีฑาปี 2566 ไม่ขี้เหร่ แต่จบเห่เพราะดราม่า

ในปี พ.ศ.2566 สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันหลายรายการด้วยกัน ซึ่งผลงานโดยรวมถือว่าอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ด้วย เท่านั้นยังไม่พอ ยังจัดการแข่งขันกรีฑาชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย 2023 ที่สนามกีฬาแห่งชาติศุภชลาศัยได้อย่างยอดเยี่ยม จนได้รับคำชมจากหลายๆฝ่าย โดยเฉพาะ ลอร์ด เซบาสเตียน โค ที่ยอมหอมอยากให้ไทย จัดกรีฑาเยาวชนชิงแชมป์โลก

นอกจากการจัดกรีฑาชิงแชมป์เอเชียครั้งดังกล่าวแล้ว การที่สมาคมกรีฑาไทย จัดอบรมผู้ฝึกสอนและผู้ตัดสินอย่างต่อเนื่อง แถมยังตั้งศูนย์ฝึกกรีฑาแห่งใหม่ขึ้นมา ณ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ซึ่งหลายๆชาติในเอเชียก็ส่งนักกีฬามาเก็บตัวฝึกซ้อม ณ ศูนย์ฝึกแห่งนี้ด้วย จึงทำให้สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ได้เข้าชิงสหพันธ์ยอดเยี่ยมประจำปี 2023 ของกรีฑาโลก(World Athletics)

อย่างไรก็ตาม จากผลงานที่สวยหรูดังกล่าว กลับไม่เป็นที่จดจำของแฟนกีฬาสักเท่าไหร่ เนื่องจากโดนกระแสดราม่าที่เกิดขึ้นในกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 19 ที่ นครหางโจว ประเทศจีน กลบเสียจนเงียบเชียบ จากการที่ลมกรดหนุ่มชื่อดังอย่าง "เทพบิว" ภูริพล บุญสอน วิ่งไม่เต็มที่ในอีเวนต์วิ่ง 200 เมตรชายรอบรองชนะเลิศ เพื่อเก็บแรงไปวิ่งในอีเวนต์วิ่งผลัด 4X100 เมตรชาย

เหตุการณ์ดังกล่าว ได้กลายเป็นที่วิพากย์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง จนส่งผลให้ พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย หลังดำรงตำแหน่งนี้มานั้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2544

 ก่อนจะพูดถึงเหตุการณ์ดราม่าดังกล่าว มาไล่เรียงผลงานของสมาคมกีฬากรีฑาในรอบปี พ.ศ.2566 ที่ผ่านมากันก่อน เริ่มจากการส่งนักกีฬาไปแข่งขันในกรีฑายุวชนอายุไม่เกิน 18 ปี ชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย 2023 ที่กรุงทาชเคนต์ ประเทศอุซเบกิสถาน ระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน

แม้รายการนี้ สมาคมกรีฑาเลือกจะไม่ส่ง "เทพบิว" ภูริพล บุญสอน ลมกรดชื่อดังลงชิงชัย เนื่องจากต้องการพักเพื่อลงแข่งขันในกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 32 ณ ประเทศกัมพูชา ในอีก 1 เดือนถัดมามากกว่า ทว่าทัพกรีฑาไทยยังสามารถคว้ามาได้ 2 เหรียญทอง 1 เหรียญทองแดง

โดย "เบสต์" ศราวุฒิ นวลศรี นักวิ่งวัยเพียง 16 ปี แจ้งเกิดอย่างเต็มตัว จากการมีส่วนร่วมจนคว้า 2 เหรียญทองให้กับทีมลู่-ลานจากแดนสยาม ได้แก่การคว้าเหรียญทองวิ่ง 400 เมตรชาย พร้อมกับทำลายสถิติ ด้วยผลงาน 46.92 วินาที และวิ่งผลัดผสม(100+200+300+400) ที่ผนึกกำลังร่วมกับ ชุตินันท์ พฤกษ์สรนันท์, วีรยุทธ แดนขนบ และ ณัฐพล สุขเกษม ที่คว้าเหรียญทองพร้อมกับทำลายสถิติ หลังเข้าเส้นชัยด้วยเวลา 1.52.59 น. ส่วน 1 เหรียญทองแดงได้จาก ณัฐพล สุขเกษม ในการวิ่ง 100 เมตรชาย

จากนั้นในมหกรรมกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 32 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 6-12 พฤษภาคม แม้สองนักวิ่งตัวหลักอย่าง ภูริพล บุญสอน(วิ่งระยะสั้น) กับ คีริน ตันติเวทย์(วิ่งระยะไกล) จะได้รับบาดเจ็บจนไม่ได้ลงแข่งขัน ซึ่งรายแรกเจ็บในระหว่างแข่งขันวิ่ง 200 เมตรชายรอบคัดเลือก แต่ทัพกรีฑาไทยชุดนี้ ยังสามารถทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม

มหกรรมดังกล่าว ทีมกรีฑาไทย ช่วยกันโกยไปถึง 16 เหรียญทอง 8 เหรียญเงิน กับอีก 5 เหรียญทองแดง แย่งตำแหน่งเจ้าเหรียญทองในชนิดกีฬากรีฑากลับมาจากเวียดนามเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี หลังเสียตำแหน่งเจ้าลู่-ลานในมหกรรมกีฬาแห่งภูมิภาคอาเซียนให้กับญวนถึง 3 สมัยติด ประกอบด้วย ซีเกมส์ ครั้งที่ 29 ที่มาเลเซีย เมื่อปี 2017, ซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ที่ฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2019 และซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่เวียดนาม เมื่อปี 2022

นอกจากนี้ "ต้า" สรอรรถ ดาบบัง ยังทำผลงานแทน ภูริพล ได้อย่างยอดเยี่ยม จากการคว้าเหรียญทองวิ่ง 100 เมตรชายและ 200 เมตรชาย แม้ในการวิ่งผลัด 4X100 เมตรชาย จะได้เพียงเหรียญเงิน จากการพลาดท่าปราชัยให้กับอินโดนีเซียก็ตาม ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจาก ภูริพล ได้รับบาดเจ็บจนช่วยทีมไม่ได้นั่นเอง

ถัดมาในการแข่งขันกรีฑาเยาวชนอายุไม่เกิน 20 ปีชิงแชมป์เอเชีย 2023 ที่เมืองเยชอน ประเทศเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 4-7 มิถุนายน และจากการที่ทัวร์นาเมนต์นี้ห่างจากศึกชิงแชมป์เอเชีย 2023 ที่บ้านเราเป็นเจ้าภาพเพียงเดือนเศษ จึงทำให้สมาคมกรีฑาฯตัดสินใจพัก ภูริพล บุญสอน ที่เพิ่งได้รับบาดเจ็บจากซีเกมส์ครั้งที่ 32 มาหมาดๆ เพื่อไปล่าเหรียญทองในศึกชิงแชมป์เอเชีย 2023 มากกว่า

แม้จะไม่มี ภูริพล แต่ทัพกรีฑาวัยกระเตาะของไทยก็ยังคว้ามาได้ 1 เหรียญทอง 3 เหรียญเงินและ 1 เหรียญทองแดง โดย 1 เหรียญทองได้จากผลัด 4X400 เมตรชาย จากผลงานของ ศราวุฒิ นวลศรี, เมธาวี กัณหาอุดม, ธวัชชัย หีมเอียด และ ลักกี้ ยูยามาดู

ส่วน 3 เหรียญเงินได้จาก ศราวุฒิ นวลศรี ในอีเวนต์วิ่ง 200 เมตรชาย, อธิชา เพ็ชรกุล วิ่ง 200 เมตรหญิง และวิ่งผลัด 4X100 เมตรหญิง (จิราพัชร ขานอ่อนตา, มนัสดา สารมโน, สุวิมล สระเทียนทอง และ อธิชา เพ็ชรกุล) ขณะที่ 1 เหรียญทองแดงได้จาก อธิชา เพ็ชรกุล ในการวิ่ง 100 เมตรหญิง

จากนั้นเป็นการแข่งขันกรีฑาชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย 2023 ที่สนามกีฬาแห่งชาติศุภชลาศัย ระหว่างวันที่ 12-16 กรกฎาคม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพรายการนี้

ปรากฏว่าทัพรองเท้าตะปูไทย ทำผลงานได้ 1 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน และ 4 เหรียญทองแดง โดยเหรียญทองโทนที่ได้ มาจากการวิ่งผลัด 4X100 เมตรชาย ซึ่ง "เทพบิว" ที่เพิ่งหายเจ็บเพียง 70 เปอร์เซ็นต์ ลงวิ่งไม้สุดท้าย ผนึกกำลังร่วมกับ "ไฟเตอร์" ณฐวรรธ เอี่ยมอุดม (ไม้ 1), "ต้า" สรอรรถ ดาบบัง(ไม้ 2) และ "เฉาก๊วย" ชยุตม์ คงประสิทธิ์(ไม้ 3) วิ่งเข้าเส้นชัยเป็นทีมแรก ด้วยสถิติ 38.55 วินาที ทุบสถิติรายการนี้ และสร้างสถิติประเทศไทยขึ้นมาใหม่อย่างสวยงาม

และจากการที่ ภูริพล ยังไม่หายจากอาการบาดเจ็บ 100 เปอร์เซ็นต์นี่เอง ทำให้สต๊าฟโค้ชได้พักเจ้าตัวจากการวิ่ง 100 และ 200 เมตรชาย เพื่อเตรียมร่างกายให้ฟิตเต็มถัง ก่อนไปแข่งเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ในอีก 2 เดือนให้หลังต่อไป

สำหรับ 1 เหรียญเงินได้แก่ สุทธิศักดิ์ สิงห์ขรณ์ (ทศกรีฑาชาย) ส่วนอีก 4 เหรียญทองแดงได้จาก ตะวัน แก้วดำ (กระโดดสูงชาย), วิ่งผลัด 4X100 เมตรหญิง (สุภาวรรณ ธิปัตย์, ศุภานิช พูลเกิด, อรอุมา เชษฐา และ อธิชา เพ็ชรกุล), ชญาณิศา ชมชื่นดี(กระโดดค้ำหญิง) และ สุเบญรัตน์ อินแสง(ขว้างจักรหญิง)

จากนั้น ในศึกใหญ่แห่งปีอย่างกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 19 ที่นครหางโจว ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 5 ตุลาคม 66 ปรากฏว่า ทัพกรีฑาไทยคว้ามาได้ 2 เหรียญเงินจาก "เทพบิว" ภูริพล บุญสอน ในการวิ่ง 100 เมตรชาย โดยรอบชิงชนะเลิศวิ่งเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 2 ด้วยสถิติ 10.02 วินาที

นับว่าน่าเสียดายที่ความเร็วลมในช่วงแข่งขัน เป็นลมหนุนที่แรงกว่า 2 เมตรต่อวินาที สถิติดังกล่าวจึงไม่ถูกบันทึก จึงทำให้ "เทพบิว" ชวดทำลายสถิติประเทศไทยอย่างน่าเสียดาย อย่างไรก็ตามผลงานในการวิ่ง 100 เมตรรอบรองชนะเลิศที่ทำเวลาได้ 10.06 วินาที ได้กลายเป็นสถิติประเทศไทยเช่นกัน

ส่วนเหรียญเงินอีกเหรียญได้จากวิ่งผลัด 4X100 เมตรหญิงจาก สุภาวรรณ ธิปัตย์, ศุภานิช พูลเกิด, อรอุมา เชษฐา และ สุกานดา เพชรรักษา ที่วิ่งไม้สุดท้ายแทน อธิชา เพ็ชรกุล ซึ่งได้รับบาดเจ็บก่อนเดินทางมาแข่งเอเชียนเกมส์

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งดังกล่าว ได้เกิดดราม่าสะเทือนวงการกรีฑาขึ้น เริ่มจากการวิ่ง 100 เมตรชายรอบชิงชนะเลิศ ซึ่ง สรอรรถ ดาบบัง ที่มีอาการตึงกล้ามเนื้อเล็กน้อย ได้เจตนาออกตัวสตาร์ทฟาล์วเพื่อเก็บแรงมาแข่งในการวิ่งผลัด 4X100 เมตรชาย ตามคำสั่งของผู้ฝึกสอน

ขณะที่ ภูริพล บุญสอน มีอาการตึงกล้ามเนื้อเช่นกัน ได้เจตนาวิ่งไม่เต็มที่ในการแข่งขันวิ่ง 200 เมตรชายรอบรองชนะเลิศ เพื่อเก็บแรงมาวิ่งผลัด 4X100 เมตรชาย ตามคำสั่งของผู้ฝึกสอนเช่นกัน ทั้งสองเหตุการณ์ โดยเฉพาะเหตุการณ์หลัง ได้สร้างความไม่พอใจต่อแฟนกีฬาเป็นอย่างมาก จนเข้าไปต่อว่านักกีฬาและผู้ฝึกสอนทั่วโลกออนไลน์

นอกจากนี้ จากการที่ทีมผลัด 4X100 เมตรชาย ที่ 2 เดือนก่อนหน้านี้เพิ่งคว้าแชมป์เอเชียมาหมาดๆ ไม่สามารถคว้าเหรียญรางวัลกลับบ้านได้ด้วย จากการเข้าเส้นชัยเพียงอันดับ 4 จึงทำให้เหตุการณ์ดราม่าบนโลกออนไลน์ ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

แม้ทีมงานผู้ฝึกสอน จะออกมาแถลงข่าวชี้แจงว่า การให้นักกีฬาออกสตาร์ทฟาล์วและวิ่งไม่เต็มที่ มันเป็นการแก้ปัญหาหน้างาน เพราะหากนักกีฬาเจ็บขึ้นมาก็ไม่สามารถลงแข่งวิ่งผลัด 4X100 เมตรชายได้ แต่กระแสดราม่าก็ไม่มีทีท่าว่าลดลง มีแต่จะเพิ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ

จนทำให้ พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ตัดสินใจแสดงความรับผิดชอบประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หลังดำรงตำแหน่งนี้มานานกว่า 23 ปี หรือตั้งแต่ปี พ.ศ.2544

ในช่วงท้ายปี แม้สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะได้รับข่าวดี เมื่อเข้าชิงสหพันธ์ยอดเยี่ยมประจำปี 2023 ของกรีฑาโลกกรีฑาโลก (World Athletics) จากการจัดการแข่งขันชิงแชมป์เอเชีย 2023 ได้อย่างยอดเยี่ยม แถมยังจัดอบรมผู้ฝึกสอนและผู้ตัดสินอย่างต่อเนื่อง แต่กระแสดราม่าที่เกิดขึ้นในเอเชียนเกมส์ มันได้กลบความสำเร็จเหล่านี้จนเงียบสนิทไปเลย

นับเป็นบทเรียนราคาแพงที่สำคัญของสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ที่วางแผนผิด เล่นกับศรัทธาแฟนกีฬา ส่งผลให้เหตุการณ์ดราม่ามันลุกลามใหญ่โต จนมิอาจที่จะควบคุมและแก้ไขได้ 

ถัดมาในช่วงท้ายปี ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพกรีฑายุวชนอายุไม่เกิน 18 ปีชิงแชมป์อาเซียน 2023 ที่ศูนย์ฝึกกรีฑาแห่งชาติ อำเถอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ระหว่างวันที่ 5-7 ธันวาคม  ปรากฏว่าทัพนักกรีฑาไทยที่ไม่มี ภูริพล บุญสอน เสียฟอร์มเล็กน้อย เมื่อเสียตำแหน่งเจ้าเหรียญทองให้กับเวียดนาม ทั้งๆที่ลงแข่งในบ้านตัวเอง หลังทำผลงานได้ 12 เหรียญทอง, 10 เหรียญเงิน และ 12 เหรียญทองแดง รั้งอันดับ 2 ส่วนเวียดนามทำได้ 15 เหรียญทอง 11 เหรียญเงิน และ 5 เหรียญทองแดง


ที่มาของภาพ : -
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport