กกท.ผนึกกองทุนกีฬาจัดสัมมนาเสริมองค์ความรู้สารต้องห้ามให้นักกีฬาไทย

กกท.จับมือกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และสมาคมมวยอาชีพ จัดการอบรมสัมมนา สร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสารต้องห้าม ให้กับบุคลากรทางการกีฬา นำไปเผยแพร่สู่องค์กรตัวเองได้อย่างถูกต้อง และตระหนักถึงบทลงโทษ เพื่อทำให้ประเทศไทย เป็นที่ยอมรับในเวทีสากล

นพ.วารินทร์ ตัณฑ์ศุภศิริ รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ เป็นประธานในพิธิเปิดการอบรมสัมมนาสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสารต้องห้าม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26 ก.ค.66 โดยมี ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ อดีตผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และนายกสมาคมมวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทยฯ พร้อมผู้บริหาร และคนวงการกีฬาเข้าร่วมกันอย่างเนืองแน่น 

สำหรับการจัดการอบรมโครงการสัมมนาสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสารต้องห้าม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จัดโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ร่วมกับกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) และสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 26-28 ก.ค.66 ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ จัดขึ้นเพื่อสร้างการรับรู้ เรื่องสารต้องห้ามให้แก่นักกีฬา โค้ชและผู้ที่เกี่ยวข้องด้านกีฬา เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้เรื่องสารต้องห้ามให้แก่นักกีฬา โค้ช หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น หากโดนสุ่มเก็บตัวอย่าง จะต้องเข้าใจกระบวนการ และขั้นตอนต่างๆให้ละเอียด สร้างความเข้าใจแก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง หากพิสูจน์ความผิดพบว่าจริง ก็จะมีบทลงโทษคือห้ามยุ่งเกี่ยวกับวงการกีฬา ถือว่ารุนแรงมาก 

สำหรับการจัดอบรมครั้งนี้มีกลุ่มเป้าหมายเข้ารับการอบรมจากทั่วประเทศกว่า 200 คนจาก กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย, บุคลากรทางการกีฬา, บุคคลวงการกีฬามวย, สำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) 25 จังหวัด, สมาคมมวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทยฯ, สมาคมกีฬาคิกบ๊อกซิ่งแห่งประเทศไทย, สมาคมกีฬาปันจักสีลัตแห่งประเทศไทย, สมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย ซึ่งทั้งหมดเข้าพักและสัมมนาที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ เป็นเวลา 2 คืน เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสารต้องห้ามอย่างถูกต้องจากวิทยากรที่มีความรู้ด้านสารต้องห้ามอย่างองค์การต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (WADA) ทั้งในและต่างประเทศ 

นพ.วารินทร์ ตัณฑ์ศุภศิริ รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า เรื่องสารต้องห้ามเป็นประเด็นที่ใหญ่มาก เป็นเรื่องคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) และ WADA ให้ความสำคัญเป็นอันดับ 1 และจะไม่ยอมให้นักกีฬาและผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าไปพัวพันกับการใช้สารต้องห้ามอย่างเด็ดขาด ฉะนั้นนักกีฬาไทย ผู้ฝึกสอน รวมทั้งผู้บริหารสมาคมกีฬา ต้องตระหนักและศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะปัจจุบัน มีสารต้องห้ามชนิดใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ดังนั้นจะต้องศึกษหาความรู้อย่างถ่องแท้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมา ซึ่งไม่ได้กระทบต่อตัวนักกีฬาและผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชื่อเสียงของประเทศชาติด้วย 

นพ.วารินทร์ กล่าวต่อว่า ในศึกเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่นครหางโจว ประเทศจีน ในเดือน ก.ย. 2566 ก็เช่นเดียวกัน ทางสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ) ได้กำหนดให้ศูนย์ตรวจสารต้องห้ามของแต่ละประเทศ จัดการอบรมให้ความรู้กับนักกีฬาของแต่ละชาติ พร้อมทั้งต้องออกหนังสือรับรองการผ่านการตรวจสารต้องห้ามของนักกีฬาส่งให้ทางโอซีเอด้วย ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้นมีสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา (DCAT) เป็นผู้ดำเนินการ 

ขณะที่ ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ นายกสมาคมกีฬามวยไทยสมัครเล่นฯ บรรยายว่า การควบคุมการใช้สารต้องห้ามในนักกีฬามีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในบริบทของกีฬา องค์กรระดับโลกอย่างคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ต้องการให้นักกีฬาทุกชาติทั่วโลกปราศจากการใช้สารต้องห้าม ซึ่งทุกคนที่เข้ารับการอบรมเราหวังว่าจะนำความรู้ไปปฏิบัติและทำความเข้าใจกระบวนการตรวจสารต้องห้ามนักกีฬาของหน่วยงานในประเทศอย่างสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา (DCAT) การกีฬาแห่งประเทศไทย รวมไปถึง WADA เพื่อจะได้ป้องกัน และหลีกเลี่ยงเรื่องสุ่มเสี่ยงที่นักกีฬาของไทยจะไปยุ่งเกี่ยวกับสารต้องห้าม สำหรับกรณีของกัญชา แม้ว่าประเทศไทยจะปลดล็อกเรื่องเสรีกัญชาแต่อยากให้นักกีฬาและคนวงการกีฬาเข้าใจว่า ยังเป็นสารต้องห้ามตามบัญชีสารต้องห้ามที่ WADA ควบคุมอยู่ ประเด็นนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษา และไม่อยากให้นักกีฬาไปใช้กัญชาเพราะจะทำให้เสียสมาธิไป


ที่มาของภาพ : -
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport