Savethaileague บอลไทยย้อนยุค135ปีลีกอังกฤษ

แฮชแทก #Savethaileague เปิดตัวเมื่อ 18 ก.ค. ที่ผ่านมาหลังจาก 16 สโมสรสมาชิกจัดประชุมหารือเรื่องการจัดการลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดได้ระดับหนึ่งแล้ว

ผมเขียนไปแล้วตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย. ว่าเรื่องลิขสิทธิ์บอลไทย เนี่ยว่ามันก็เดินผิดมาตั้งแต่ปี 2559 หลังจากเปลี่ยนบริษัท พรีเมียร์ลีก ไทยแลนด์ ของสมาคมชุดเก่า มาเป็น บริษัท ไทยลีก จำกัด ในยุคสมาคม พล.ต.อ ดร. สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง แล้วสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการบริหารสิทธิ ร่วมกันกับสโมสรสมาชิก ซึ่งความจริงสโมสรสมาชิกไม่ได้ร่วมบริหารอะไรหรอกครับในทางปฏิบัติ ก็เห็นๆกันอยู่ว่า สมาคมของ "บิ๊กอ๊อด" ดำเนินการเอง

อย่างที่ผมเขียนเทียบเคียงจาก บริษัท พรีเมียร์ลีก จำกัด ของอังกฤษเอาเป็นต้นแบง่ายๆเลย 

สมาคมฟุตบอลอังกฤษจะเป็นแค่หุ้นส่วนพิเศษ ในฐานะองค์กรผู้ดูแลกิจการฟุตบอลในประเทศ เพียงแต่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องสิทธิประโยชน์ของทีมบอลอาชีพ ปล่อยให้ บริษัท พรีเมียร์ลีก จำกัด บริหารกันเองใน 20 สโมสร โดยมีคณะกรรมการบริหารที่สมาคมฟุตบอลแต่งตั้งเข้ามาด้วยส่วนหนึ่ง ส่วนใหญ่คือกลุ่มคนที่มีประสบการณ์บริหารองค์กรทั้งด้านการเงิน, การบริหาร, การตลาด ในสังคม 

กลุ่มนี้เหมือนทำงานแทน สโมสรสมาชิกในเรื่องสิทธิประโยชน์ เหมือนสโมสรจ้างคนเหล่านี้ทำงานให้เพื่อมาหาผลประโยชน์ในพรีเมียร์ลีก  ส่วน "ฟุตบอลลีก" ก็มีอีกบริษัทฟุตบอลลีกดูแล เดอะ แชมเปี้ยนชิพ, ลีก วัน, ลีก ทู กันเอง

มันประมาณนี้ที่อยากบอกว่า... สมาคมฟุตบอลชุด "บิ๊กอ๊อด" เดินผิดตั้งแต่แรก ที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับลิขสิทธิ์บอลไทย จนมาถึงวันนี้ ได้จัดการมอบให้ 16 สโมสรไปบริหารสิทธิ์กันเองแล้ว (ทางข้อบังคับสมาคมยังดูแลอยู่) 

เรื่องนี้ควรทำตั้งแต่แรก....แต่มาทำตอนนี้ สายไปมั้ย?

มันยังไม่สายหรอก เพียงแต่เมื่อ "มูลค่า" ลิขสิทธิ์ ที่สมาคมยุค "บิ๊กอ๊อด" ดูแลรับช่วงต่อจากสมาคมชุดเดิมยุค "บังยี" มันตกต่ำอย่างน่าใจหาย จาก 4,200 ล้านเหลือ 50 ล้านบาท น้อยกว่า "ค่าตัว" ชนาธิป ซะอีก 

โอเคเรื่อง "มูลค่า" ไทยลีก ที่หายไปนั้น ผมจะขอเขียนวันหลัง มันมีเหตุปัจจัยที่มองได้ด้วยตาเปล่าครับ เพียงแต่วันนี้อยากเขียนถึงเรื่อง "ลิขสิทธิ์" ที่ล่าสุดสรุปกันมาได้ระดับหนึ่งแล้ว จากการที่ 16 สโมสรไปนั่งประชุมกันพร้อมคณะกรรมการบริษัท ไทยลีก ที่โรงแรม พูลแมน ซอยรางน้ำ ดูสถานที่การประชุมก็พอรู้แล้วนะครับว่า "โต้โผ" คือใคร และ 95 % ของสมาชิกจะมีความเป็นเอกภาพไปทางไหน 

ประการแรกเลย....เมื่อบริษัท พรีเมียร์ลีก จำกัด ของอังกฤษประชุมกัน 

หุ้นส่วนพิเศษอย่างสมาคมฟุตบอลอังกฤษ จะมีตัวแทนร่วมประชุม บวกกับ บอร์ดบริหารพรีเมียร์ลีก และตัวแทนสโมสรสมาชิก 20 ทีม 20 คน 

ตัวแทนสโมสรสมาชิกส่วนใหญ่คือ  CEO ของแต่ละทีม เช่น ริชาร์ด อาร์โนลด์ ของแมนฯยูฯ , บิล โฮแกน ของลิเวอร์พูล , เฟร์ราน โซเรียโน ของแมนฯซิตี หรือ ของอาร์เซนอลเป็น บริติช-อินเดียน ชื่อ  Vinai Venkatesham คุณวินัย นั่นแหละ ถ้าคนกลุ่มนี้จะไม่มาประชุมก็ส่งระดับบริหารเบอร์ทอปๆ มานั่งประชุมแทน

ส่วนพวกเกลเซอร์, จอห์น เฮนรี, ชีค มานซูร์, สแตน โครนเก้ เจ้าของทีมเหล่านี้ไม่มาหรอกครับ จะมาทำไมเมื่อจ้างคนทำงานให้แล้ว  ไม่ใช่งานของพวกเขา

ส่วนบ้านเราก็เข้าใจได้แหละ...เจ้าของทีม, ประธานสโมสร ส่วนใหญ่ "จ่ายเงิน" ทำทีม ก็มี "ค่านิยม" ว่านี่คือทีมของผม มันอาจเป็นวัฒนธรรมแบบบอลไทย ที่เจ้าของทีมต้องยุ่งเกี่ยวทุกเรื่องจนถึงคนตัดหญ้าสนามบอล เพราะมันทีมของเขาเอง

สำหรับบอลไทย ประธานสโมสรจึงใหญ่กว่า "สโมสร" ชัดเจน 

โอเค ไม่ว่ากันตรงนั้น เพราะครั้งนี้มันวิกฤตมากสำหรับมูลค่าไทยลีก ดังนั้น ระดับบิ๊กๆ ของหลายสโมสรมาประชุมเพื่อสิทธิประโยชน์ ก็พร้อมหน้ากัน ทั้ง บุรีรัมย์, ท่าเรือ,บีจี  ภาพมันจึงดูออกมาว่า "เรามาร่วมด้วยช่วยกัน" จากคนระดับไฮแรงค์ ของประเทศไทย ขณะที่หลายทีมนั้นส่งระดับ  MD มาประชุม ก็ตามนั้น

ผลการประชุมทราบกันหมดแล้ว  เรื่องสำคัญคือ จะจัดการลิขสิทธิ์บอลไทยลีก ที่จะเตะ 11 ส.ค. นี้อย่างไร เพื่อเป็นการหาทางออกเพื่อ "หาเงิน" ช่วยสโมสรสมาชิก 16 ทีมเบื้องต้น (แยกไทยลีก 2-3 ทำกันเอง แต่มีเงินช่วยให้ถ้าได้นะ) 

สรุปอีกครั้งนะครับ...

ไม่มีการขายลิขสิทธิ์ให้กับเจ้าใดเจ้าหนึ่งเหมือนเดิม

จัดแพคเกจบอลไทยลีก  240 แมตช์ ทั้งฤดูกาล เพื่อเสนอขายฟรีทีวีและในรูปแบบ  OTT หรือ Over-the-top หรือการให้บริการใดใดผ่าน "โครงข่ายอินเทอร์เน็ต" ในรูปแบบเปิด

แพลนบี เป็นตัวแทนสมาคมฟุตบอล  เสนอขายแพคเกจบอลไทยลีก 240 แมตช์ ให้ OTT ทุกเจ้าแบบไม่ exclusive ไม่แน่ชัดว่าเป็นทรูวิชันส์ หรือ ทรูไอดี และ #เอไอเอสเพลย์  ส่วนนี้คาดว่าเดือนละ 59 บาท ปีละ500 บาท  ส่วนฟรีทีวีนั้นอาจเป็นเดือนละ3-4 แมตช์ อะไรก็ว่ากันไป 

รายได้ทั้งซีซั่น จะมาจากเงินที่เก็บจากสมาชิกและแฟนบอลที่ซื้อแพ็กเกจ เมื่อมีรายได้เท่าไร ก็นำมาจัดสรรกันระหว่างสโมสรไทยลีกแบ่งกับสถานี ยกตัวอย่างสัดส่วนเช่นอาจจะแบ่ง 16 สโมสร 80% สถานี 20% (ซึ่งยังไม่สรุปชัดเจน)

โดยจะทดลอง 6 เดือนแรกก่อนแล้วค่อยประเมินอีกครั้ง

เบื้องต้นนะครับ….ส่วนกิจกรรม ลดแลกแจกแถม เอาใจแฟนบอลเพื่อกระตุ้นให้ซื้อ OTT ก็รอดูนะครับ มีแผนงานกันออกมาแล้ว

จุดนี้ไม่ขอวิจารณ์ ความพยายามหาเงินเข้าไทยลีก เพื่อช่วยสโมสรสมาชิก ยังมองภาพนี้ไม่ชัดเท่าไหร่

เพียงแต่ว่า….มูลค่าไทยลีกที่ปั้นกันมาระดับ4,200 ล้านบาท ตอนนี้เหลือ 0 บาท กลับต้องมาพึ่งเงินกระเป๋าแฟนบอลไทยจ่ายเงินทั้งตั๋วชมเกม, ของที่ระลึก อยู่เป็นประจำอยู่แล้ว ล่าสุดต้องจ่ายให้ OTT เพื่อดูถ่ายทอดสด เป็นการช่วยเหลือสโมสร

นีมันเหมือนบอลอังกฤษยุค135 ปีก่อน supporter คือผู้สนับสนุนทีม อัฐยายซื้อขนมยาย แฟนๆต้อง “จ่ายเงิน” ค่าตั๋ว, ของที่ระลึก ยังไงยังงั้นเลยครับ 😔😔 

รอดูนะครับ business model นี้ของ บริษัท ไทยลีก จำกัด จะเวิร์คหรือไม่ สโมสรจะมีรายได้เข้าทีมจากส่วน นี้ มากน้อยเพียงไร 

มันขึ้นอยู่กับ "แฟนบอล" แล้วละครับว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ แนวทางนี้ 

นี่คือ “มูลค่า” บอลไทยลีกยุคปัจจุบัน

การสร้างให้ไทยลีกกลับมามี "มูลค่า" มากขึ้นกว่าจุดที่เป็นอยู่ตอนนี้ จะต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ เพื่อ "มูลค่า" นั้นจะค่อยๆกลับมา

ใช้เวลาแน่นอนครับ ไม่ใช่เดือนสองเดือน ปีสองปี 

หรือบอลไทยเราเข้าสูตรที่ว่า…สร้างนั้นยากแต่พอทำลายง่ายเหลือเกิน

JACKIE


ที่มาของภาพ : siamsport
BY : JACKIE
อดิสรณ์ พึ่งยา
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport