จุดกำเนิดวันเปิดโลกกว้างบอลยุโรปของลิเวอร์พูล

ช่วงหนึ่งของเกมที่ โยฮัน ครัฟฟ์ อารีน่า เมื่อคืนวันพุธ ผู้บรรยายพูดถึงเกมที่ลิเวอร์พูลถูก อาแจ๊กซ์ อัมสเตอร์ดัม ถล่มยับเยิน 1-5 ในศึกยูโรเปี้ยน คัพ ฤดูกาล 1966/67

มันทำให้ผมนึกย้อนไปถึงเส้นทางอันยาวไกลของลิเวอร์พูลในเวทีสโมสรยุโรป จากวันนั้นถึงวันนี้พวกเขาผ่านร้อนผ่านหนาวมามากจริงๆ

ประสบการณ์เหล่านั้นสอนให้เข้าใจว่า ความเกรียงไกรในเมอร์ซี่ย์ไซด์และเกาะอังกฤษไม่ได้หมายความว่าคุณจะข้ามทะเลไปอาละวาดใส่ใครเขาได้ง่ายๆ

เพราะฟุตบอลภาคพื้นทวีปก็มีเจ้าถิ่นของแต่ละที่เหมือนกัน

จากอดีตถึงปัจจุบัน ลิเวอร์พูลเจอเกมที่เหมือนเป็นบทเรียนหลายครั้ง และการถูกถล่มที่อัมสเตอร์ดัมครั้งนั้นก็เป็นหนึ่งในก้าวเดินสำคัญบนถนนสายนี้

ทุกการหกล้ม คือการเรียนรู้ และเติบโตขึ้น

ความพ่ายแพ้เมื่อเดือนธันวาคม ปี 1966 คราวนั้นเหมือนการถูกตบหน้าฉาดใหญ่ ลิเวอร์พูลเข้าแข่งในฐานะแชมป์จากอังกฤษหลัง บิลล์ แชงค์ลี่ย์ พาทีมคว้าแชมป์ดิวิชั่นหนึ่งเป็นสมัยที่สองในรอบสามปี

มันคือช่วงที่หงส์แดงกำลังพุ่งทะยานอย่างน่าจับตา ด้วยขุนพลอย่าง ทอมมี่ สมิธ รอน เยตส์ เอียน คัลลาแกน เอียน เซนต์จอห์น และ โรเจอร์ ฮันท์

เป็นฟุตบอลที่ดุดัน กองหลังเข้าสกัดหนักหน่วง กองกลางตัดเกมเข้มข้น ปีกสองข้างเร็วและคล่อง โยนบอลเข้ากลางให้คู่กองหน้าเข้าทำประตู

ใครก็หยุดทีมไฟแรงอย่างพวกเขาไม่อยู่ สองฤดูกาลก่อนหน้าเพิ่งปลดล็อกบวกแชมป์เอฟเอ คัพสมัยแรกเพิ่มเข้าไปจากแชมป์ลีกสูงสุดหนที่ 6 มาหมาดๆ ไม่เพียงเท่านั้นยังตะลุยเข้าไปถึงรอบตัดเชือกยูโรเปี้ยน คัพ เพียงแค่ปีแรกที่ได้สิทธิ์ไปเตะด้วย

นับจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนธันวาคม ปี 1959 แชงค์ลี่ย์ใช้เวลาสองปีครึ่งพาลิเวอร์พูลเลื่อนชั้นจากดิวิชั่นสองขึ้นมาเล่นในลีกสูงสุดได้สำเร็จ สิ้นสุดช่วงเวลาแปดปีอันยาวนานนับตั้งแต่ตกชั้นไปเมื่อปี 1954

แล้วตั้งแต่นั้นลิเวอร์พูลก็ไม่เคยก้าวถอยหลังอีกเลย ตรงกันข้ามกลับพุ่งทะยานไปข้างหน้าอย่างบ้าดีเดือด

1962/63 รอบรองชนะเลิศเอฟเอ คัพ

1963/64 แชมป์ดิวิชั่นหนึ่ง

1964/65 แชมป์เอฟเอ คัพ/ รอบรองชนะเลิศยูโรเปี้ยน คัพ

1965/66 แชมป์ดิวิชั่นหนึ่ง/ รองแชมป์คัพ วินเนอร์ส คัพ

ถ้าไม่เจอความโหดร้ายแห่ง ซาน ซิโร่ ในฤดูกาล 1964/65 เสียก่อน แชงค์ลี่ย์อาจพาทีมคว้าแชมป์ยุโรปตั้งแต่ปีแรกที่เข้าร่วมเลยก็ได้

(ลิเวอร์พูลเจอกับอินเตอร์ มิลาน ในรอบรองฯ หลังจากทุบ 3-1 ในเกมแรกที่แอนฟิลด์ก็ไปถูกทีมงูใหญ่ถล่ม 0-3 ต่อหน้าแฟนบอล 90,000 คนที่ซาน ซิโร่)

มันคือช่วงพุ่งกระฉูดของลิเวอร์พูลและฟุตบอลอังกฤษอย่างแท้จริง เพราะฤดูกาลต่อมาก่อนเข้าฟุตบอลโลก ขุนพลหงส์แดงยังไปได้ไกลกว่าเดิมทะลุเข้าไปถึงนัดชิงฟุตบอลสโมสรยุโรปเป็นครั้งแรกได้สำเร็จในศึกคัพ วินเนอร์ส คัพ ที่แฮมพ์เด้น พาร์ค (แพ้ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ 1-2 หลังต่อเวลาพิเศษ)

เมื่อบวกกับความตื่นตัวของแฟนบอลอังกฤษหลังเห็นทีมชาติคว้าแชมป์โลกที่เวมบลีย์เมื่อช่วงฤดูร้อนปี 1966 เข้าไปอีกก็ยิ่งทำให้ทุกคนหายใจเข้าออกเป็นฟุตบอล

แต่ก็นั่นแหละ เพียงแค่ครึ่งปีเท่านั้นหลังอังกฤษเป็นแชมป์โลกและความฟีเวอร์ที่แผ่ซ่านไปทั่วประเทศ คนอังกฤษภูมิใจในฟุตบอลของตัวเองอย่างที่สุด ลิเวอร์พูลตัวแทนของลูกหนังเมืองผู้ดีกลับถูก อาแจ๊กซ์ ขยี้ยับเยินเหมือนบอลคนละชั้น

มันคือเกมที่ฟุตบอลอังกฤษถูกตบหน้าฉาดใหญ่โดยแท้ ด้วยฟุตบอลที่ไหลลื่นทรงประสิทธิภาพของ ไรนุส มิเชลส์ และเหล่าอัศวินของเขา นำโดยนักเตะมหัศจรรย์วัย 19 ปีที่ชื่อ โยฮัน ครัฟฟ์..

---------------------------

เกมรอบสองนัดแรกครั้งนั้นไม่ได้เล่นกันที่ เดอ เมียร์

รังเหย้าของอาแจ๊กซ์มีความจุแค่สองหมื่นเศษ มันน้อยเกินไปสำหรับความต้องการเข้าชมอันมหาศาล เกมจึงย้ายไปเล่นกันที่ โอลิมปิก สเตเดี้ยม แห่งอัมสเตอร์ดัมท่ามกลางแฟนบอล 55,722 คน

หมอกลงหนาจัด..

ระยะการมองเห็นถูกจำกัดเหลือเพียงแค่ 50 เมตรเท่านั้น โอกาสที่เกมจะต้องเลื่อนไปเตะในวันรุ่งขึ้นสูงลิบซึ่งไม่ใช่สิ่งที่แชงค์ลี่ย์ต้องการแน่เพราะทีมยังมีโปรแกรมหนักกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด รออยู่ในอีกสามวันให้หลัง

อันโตนิโอ สบาร์เดลล่า ผู้ตัดสินชาวอิตาเลียนลังเลที่จะให้เกมเล่นกันตามกำหนดเนื่องจากเขาไม่สามารถมองเห็นประตูอีกฝั่งของสนามจากจุดประตูฝั่งที่อยู่ตรงข้ามได้เลย แต่เจ้าหน้าที่ดัตช์แย้งว่าตามกฎที่ใช้กันในประเทศฮอลแลนด์ การตัดสินระยะการมองเห็นประตูนั้นใช้เพียงแค่การยืนจากเส้นครึ่งสนามก็เพียงพอ

แชงค์ลี่ย์รำลึกถึงเกมนั้นในหนังสืออัตชีวประวัติของตัวเองว่า "อาแจ๊กซ์ในเวลานั้นเป็นทีมที่กำลังสร้างขึ้นมา พวกเขายังไม่ได้ยอดเยี่ยมอย่างที่จะก้าวไปเป็นในภายหลัง เราเล่นกับพวกเขาที่อัมสเตอร์ดัมก่อนในเกมแรก

"เกมไม่ควรจะมีขึ้นด้วยซ้ำเพราะหมอกลงจัดมาก เรามีโปรแกรมเตะกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด รออยู่ในวันเสาร์ซึ่งเป็นเกมที่สำคัญมาก เราไม่อยากเจอความล่าช้าที่อัมสเตอร์ดัมโดยเฉพาะการต้องเลื่อนไปเตะวันพฤหัสฯ และเดินทางกลับบ้านในวันศุกร์

"แต่มันไม่ใช่การตัดสินใจของเราที่จะให้เกมเล่นได้หรือไม่ได้ เลโอ ฮอร์น ผู้สังเกตการณ์จากยูฟ่า องค์กรที่ควบคุมฟุตบอลในยุโรปต่างหากที่มีอำนาจนั้น

"ผู้ตัดสินชาวอิตาเลียนบอกว่า 'ถ้าเรายืนหน้าประตูฝั่งหนึ่งแล้วสามารถมองเห็นประตูอีกฝั่ง เกมเตะได้ แต่ถ้ามองไม่เห็นก็จะไม่มีเกมเตะ' แต่ เลโอ ฮอร์น แย้งว่า 'ไม่ใช่นะ ถ้าเป็นในฮอลแลนด์ แค่มองเห็นประตูจากเส้นกลางสนามก็เตะได้แล้ว'"

หมอกในวันนั้นหนาถึงขนาดที่มีเรื่องตลกเล่ากันในหมู่แฟนบอลว่า แชงค์ลี่ย์สามารถเดินลงไปสั่งการกับ วิลลี่ สตีเวนสัน และ เจฟฟ์ สตรอง ได้ถึงในสนามโดยที่ไม่มีใครเห็น แต่เรื่องตลกที่เล่าๆ กันนั้นกลับเป็นความจริงเพราะมันออกมาจากปากของ บิลล์ แชงค์ลี่ย์ เอง

"เรากำลังตามหลังอยู่ 0-2 และ วิลลี่ สตีเวนสัน กับ เจฟฟ์ สตรอง ก็เริ่มเลือดเข้าตาวิ่งไล่ล่าอย่างบ้าคลั่ง ผมเลยเดินลงไปในสนามขณะที่เกมกำลังแข่งอยู่นั่นแหละ

"ผมเดินเข้าไปในหมอกเพื่อไปบอกกับวิลลี่และเจฟฟ์ว่า 'พวกแกจะบ้าหรือเปล่า! นี่มันแค่เกมแรกเอง เรายังเหลือเกมที่ลิเวอร์พูลอีกนัด เพราะฉะนั้นอย่าทำอะไรบ้าๆ ที่เสี่ยงต่อการโดนยิงเพิ่ม เกมนี้ให้แพ้แค่ 2-0 นี่แหละ ใจเย็นๆ มันไม่ได้เลวร้ายเกินไป' ผมเดินลงไปในสนาม สั่งการลูกทีม แล้วก็เดินออกมา แน่นอน.. ผู้ตัดสินมองไม่เห็นผมด้วย!"

---------------------------

เกมแพ้ อาแจ๊กซ์ 1-5 ในรอบสองนัดแรกของฤดูกาล 1966/67 และเกมนัดที่สองในแอนฟิลด์ที่ถูกครัฟฟ์เหมากระทุ้งอีกสองประตูในผลเสมอ 2-2 คือการเปิดโลกกว้างของแชงค์ลี่ย์และลิเวอร์พูล

ฟุตบอลภาคพื้นทวีปที่พวกเขาแทบไม่เคยรู้จัก ฟุตบอลชั้นเชิงแพรวพราวเต็มไปด้วยทักษะและความเยือกเย็น ฟุตบอลอันแม่นยำอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน

กระนั้นมันก็เป็นเพียงประสบการณ์เปิดโลกกว้างครั้งแรกๆ มันเพิ่งจะเป็นครั้งที่สองเท่านั้นเองที่ทีมได้สัมผัสกับเวทียูโรเปี้ยน คัพ แชงค์ลี่ย์ยังคงยึดมั่นในฟุตบอลของเขา

จนกระทั่งอีก 7 ปีต่อมา

ฤดูกาล 1973/74..

มันคือฤดูกาลที่แชงค์ลี่ย์พบกับความพ่ายแพ้ที่ทำให้เขาตัดสินใจเปลี่ยนแปลงลิเวอร์พูล

ช่วงเวลาระหว่างฤดูกาล 1966/67 ถึง 1973/74 นั้นทีมยังคงเดินหน้าอย่างแข็งแกร่งด้วยฟุตบอลในแบบฉบับของตัวเอง เพียงแต่ยังไม่อาจพูดได้เต็มปากว่าครอบครองเกาะอังกฤษและยุโรปอย่างเบ็ดเสร็จ

อาจมีเพียงฤดูกาล 1970/71 กับฤดูกาล 1972/73 เท่านั้นที่นับว่าประสบความสำเร็จชัดเจน ซีซั่น 1970/71 ได้รองแชมป์ดิวิชั่นหนึ่ง และเข้ารอบรองฯ อินเตอร์-ซิตี้ส์ แฟร์ส คัพ ขณะที่ซีซั่น 1972/73 ทะลุจุดสุดยอดคว้าดับเบิลแชมป์ ดิวิชั่นหนึ่ง - ยูฟ่า คัพ อย่างยิ่งใหญ่

ขุนพลถ่ายเลือดเข้าสู่เจเนอเรชั่นรุ่งเรืองครั้งใหม่ จาก ทอมมี่ ลอว์เรนซ์ สู่ เรย์ คลีเมนซ์ จาก รอน เยตส์ สู่ เอมลีน ฮิวจ์ส จาก ปีเตอร์ ธอมป์สัน สู่ สตีฟ ไฮเวย์

จากคู่หัวหอก เอียน เซนต์จอห์น กับ โรเจอร์ ฮันท์ สู่คู่หู เควิน คีแกน กับ จอห์น โตแช็ก

เหลือเพียง คริส ลอว์เลอร์ ทอมมี่ สมิธ และ เอียน คัลลาแกน ที่เป็นแกนหลักจากชุดที่แพ้อาแจ๊กซ์คราวนั้น ด้วยสภาพร่างกายที่โรยราลงไป

แล้วความพ่ายแพ้ที่เปลี่ยนลิเวอร์พูลก็มาถึง มันเกิดขึ้นในรายการเดียวกัน รอบเดียวกันกับคราวที่ถูก อาแจ๊กซ์ อัมสเตอร์ดัม ตบหน้าไม่มีผิด

ยูโรเปี้ยน คัพ รอบสอง นัดแรก

จากหมอกหนาทึบ สู่อากาศอันหนาวเหน็บแห่งยุโรปตะวันออก

จากอัมสเตอร์ดัม สู่กรุงเบลเกรด

จากอาแจ๊กซ์ สู่เร้ดสตาร์..

เร้ดสตาร์ เบลเกรด แห่งยูโกสลาเวีย

"ดาวแดง" ชุดนั้นมีนักเตะทีมชาติยูโกสลาเวียอยู่ในทีมถึง 7 คน และแฟนบอล 21,500 คนในสนามมาราคาน่าแห่งกรุงเบลเกรดก็ได้เห็นการสอนบอลครั้งใหญ่คล้ายภาพที่เกิดขึ้นเมื่อ 7 ปีก่อนอีกหน

สกอร์ 1-2 ที่ลิเวอร์พูลแพ้กลับมานั้นไม่ได้สอดคล้องกับรูปเกมที่ออกมาเลย ลูกทีมของแชงค์ลี่ย์ไม่อาจไล่ตามฟุตบอลอันยอดเยี่ยมของขุนพลดาวแดงได้ทัน อีกทั้งความหวังที่จะพลิกสถานการณ์ผ่านยูโรเปี้ยนไนท์ที่แอนฟิลด์ในนัดที่สองก็ยังถูกความเหนือชั้นของเร้ดสตาร์เล่นงานพังพาบอีกครั้งด้วยผลการแข่งขันเดิม

เส้นทางของแชมป์จากอังกฤษหยุดลงแค่รอบนั้นด้วยประตูรวม 2-4 แต่เสียงปรบมือจากเดอะค็อปที่ดังกึกก้องขึ้นแทบจะในทันทีที่รู้ตัวว่าทีมรักจบเส้นทาง ยูโรเปี้ยน คัพ อย่างรวดเร็วนั้นเป็นคำชื่นชมที่มอบให้กับนักสู้จากเร้ดสตาร์ทุกคนอย่างเต็มใจและประทับใจ

เกมในคืนวันที่ 6 พฤศจิกายน ปี 1973 นั้นอาจจะน่าผิดหวังในแง่ผลการแข่งขัน หากมันกลับสำคัญอย่างยิ่งสำหรับประวัติศาสตร์ฟุตบอลของลิเวอร์พูล

เพราะมันคือเกมที่ทำให้ บิลล์ แชงค์ลี่ย์ มองเห็นว่าถ้าจะพาทีมก้าวข้ามจากเกาะอังกฤษไปครองความยิ่งใหญ่ในยุโรป ลิเวอร์พูลต้องเปลี่ยนวิธีการเล่น

มันคือความพ่ายแพ้ที่เปลี่ยนแปลงลิเวอร์พูล

สองเกมที่ได้เห็นฟุตบอลของ เร้ดสตาร์ เบลเกรด แชงค์ลี่ย์ ตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบการเล่นของทีม ใช้การสร้างเกมจากแดนหลัง เซนเตอร์แบ๊กไม่โยนบอลยาว อาศัยทักษะและมันสมองมากขึ้น เคลื่อนบอลด้วยการเล่นร่วมกันในพื้นที่แคบๆ เยอะขึ้น

มิลาน มิลานิช เสก เร้ดสตาร์ เบลเกรด ให้เป็นทีมฟุตบอลที่เล่นอย่างสร้างสรรค์และทรงพลัง ทีมดาวแดงในมือของเขากลายเป็นยอดทีมคว้าแชมป์ลีกยูโกสลาเวีย 4 สมัย และตัวเขาเองก็ได้รางวัลตอบแทนเป็นตำแหน่งโค้ชใหญ่ของ เรอัล มาดริด ในเวลาต่อมาซึ่งเขาก็พาทีมราชันชุดขาวเป็นแชมป์ลา ลีกา 2 ปีซ้อนด้วย

"นักเตะที่กำลังครองบอลควรมีทางเลือกในการเล่นเยอะๆ" มิลานิช พูดถึงวิธีการเล่นในทีมของเขา "มันจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยวิธีเดียวคือนักเตะทุกคนในทีมต้องมีส่วนร่วมทั้งเกมรุกและเกมรับ"

วิธีการเล่นของมิลานิชทำให้ แชงค์ลี่ย์ เห็นกระจ่าง บ็อบ เพสลี่ย์พูดถึงเรื่องนี้ว่า "ทีมชั้นนำของยุโรปแสดงให้เราเห็นถึงวิธีการทำลายเกมรับของฝ่ายตรงข้าม การเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วของพวกเขาเกิดขึ้นจากการส่งบอลให้กันในครั้งแรก และเราก็ได้เรียนรู้ว่าเราต้องอดทนที่จะเล่นอย่างนั้น ที่สำคัญคือต้องคิดล่วงหน้าไปแล้ว 2-3 จังหวะก่อนที่บอลจะมาถึง

"พวกภาคพื้นยุโรปทำให้เราเห็นว่าฟุตบอลต้องสร้างเกมจากแดนหลัง นั่นคือวิธีเดียวที่ควรจะเล่น"

ลิเวอร์พูลเปลี่ยนมาสร้างเกมจากแดนหลังนับแต่นั้น

หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดคือตำแหน่งเซนเตอร์แบ๊ก

แชงค์ลี่ย์ปรับจากความแข็งแกร่งทางร่างกายจากนักเตะอย่าง ทอมมี่ สมิธ และ ลาร์รี่ ลอยด์ มาเพิ่มคุณภาพทางเทคนิคขึ้นจาก ฟิล ธอมป์สัน และการอ่านเกมของ เอมลีน ฮิวจ์ส ที่ถอยลงมายืนคู่กัน

ฮิวจ์สเล่นในตำแหน่งกองกลางขณะที่ธอมป์สันก็เป็นมิดฟิลด์ครั้งที่เล่นกับทีมเยาวชนและผลงานเตะตาแชงค์ลี่ย์จนไม่รีรอที่จะดึงขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ ธอมโม่คือสเกาเซอร์เกิดที่เคิร์กบี้และเป็นแฟนบอลลิเวอร์พูลตั้งแต่เด็ก เซ็นสัญญาอาชีพกับทีมตั้งแต่ปี 1971 ในวัยเพียง 17 ปีและได้โอกาสในทีมชุดใหญ่ในอีกหนึ่งปีให้หลัง เขาถูกใช้งานเป็นทั้งกองหลังและกองกลางในบางครั้ง

"ตอนนั้นเร้ดสตาร์เป็นหนึ่งในทีมชั้นนำของยุโรปเลย" ธอมโม่ รำลึกถึงเกมกับทีมดาวแดงในฤดูกาลนั้น "นักเตะของพวกเขาครองบอลได้อย่างเป็นธรรมชาติและนั่นช่วยเปิดหูเปิดตาของแชงค์ลี่ย์ เขาเปลี่ยนแนวทางการเล่นของทีมทันทีหลังจากนั้น

"นับตั้งแต่เกมนั้นผมก็เล่นเซนเตอร์แบ๊กเต็มตัว เขายังถอยเอมลีนลงมายืนกองหลังตัวกลางร่วมกับผมด้วย เรากลายเป็นคู่กองกลางที่ต้องถอยลงไปยืนเป็นเซนเตอร์ เพราะผมกับเขามีคุณสมบัติด้านการอ่านเกมอยู่ในตัว

"เรย์ (คลีเมนซ์) ก็ใช้เท้าได้ดีและเป็นคนเริ่มเปิดเกมได้ ผู้คนพากันพูดถึงโททั่ลฟุตบอลของพวกดัตช์แต่ผมคิดว่าเราทำมันก่อนซะอีก

"ฤดูกาลต่อมาบ็อบเข้ามาทำทีมและเขายึดมั่นกับระบบนั้น และความสำเร็จในยุโรปก็ตามมาอย่างที่เห็น"

ภายในเวลา 4 ปีนับตั้งแต่ถูกเร้ดสตาร์เขี่ยตกรอบยูโรเปี้ยน คัพ ลิเวอร์พูลก็คว้าแชมป์ยุโรปได้เป็นสมัยแรกที่กรุงโรม และเดินหน้ากวาดแชมป์เพิ่มอีก 3 ครั้งรวมเป็น 4 สมัยภายในเวลา 8 ฤดูกาล..

คารวะ อาแจ๊กซ์ อัมสเตอร์ดัม และ เร้ดสตาร์ เบลเกรด คุณทำให้โลกของเรากว้างขึ้นอีกมาก..

หมายเหตุ: บางส่วนจากหนังสือ "กำเนิดหงส์" เล่ม 4 ครับ (ปัจจุบันวางแผงถึงเล่ม 13 แล้ว เป็นเรื่องราวสองฤดูกาลเข้มข้น 1999/2000 และ 2000/01 ที่ลิเวอร์พูลคว้าทริปเปิลแชมป์บอลถ้วย ความทรงจำล้นหลามทีเดียวล่ะครับ)

ตังกุย


ที่มาของภาพ : getty images
BY : ตังกุย
ณัฐพล ดำรงโรจน์วัฒนา
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport