5 หน่วยงาน ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับ "เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์กำลังขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ (Small Modular Reactor; SMRs)" นวัตกรรมที่ย่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ให้มีขนาดเล็กลง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ร่วมกับ 5 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและความพร้อมในบทบาทที่แตกต่างกัน ประเทศไทยพร้อมแค่ไหนเกี่ยวกับ "เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์กำลังขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ (Small Modular Reactor; SMRs)" นวัตกรรมที่ย่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ให้มีขนาดเล็กลง
รศ.ดร. พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ เลขาธิการ ปส. เปิดเผยว่า จากที่ช่วงนี้เริ่มมีกระแสข่าวกระทรวงพลังงานคาดว่าจะเริ่มกระบวนการศึกษาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็กหรือ SMRs ซึ่งกระบวนการศึกษาและตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวต้องใช้เวลานานกว่า 10 ปี ปส. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์และรังสี จึงจัดเสวนาในหัวข้อ "มองต่างมุม SMRs for net Zero" ร่วมกับ 5 หน่วยงาน เพื่อให้ความรู้ แลกเปลี่ยนมุมมอง ทัศนะ บทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ SMRs อาทิ แนวทางการกำกับดูแลความปลอดภัย การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน การวิจัยและพัฒนา รวมถึงภาพรวมของประเทศในอนาคต ภายใต้งาน "อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND" ณ ห้องประชุม 208 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
การเสวนานี้มี ดร.เอกรินทร์ วาสนาส่ง เป็นผู้ดำเนินรายการ และผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย
1. รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
2. รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
3. นายศิริวัฒน์ เจ็ดสี ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
4. รศ.ดร. สมบูรณ์ รัศมี ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5. นางสุชิน อุดมสมพร สมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย
และในวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 ยังมีการให้ความรู้ "SMRs Technology for the future" ซึ่ง SMRs เป็นเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กที่สามารถผลิตกำลังกระแสไฟฟ้าที่ต่ำกว่า 300 MWe มีลักษณะเป็นโมดูลที่ทำการผลิตและประกอบเบ็ดเสร็จจากโรงงานผู้ผลิต และในปัจจุบันมีการมีพัฒนาเทคโนโลยี SMRs มากมายหลายแบบ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีมากที่ผู้เข้าร่วมจะได้รับความรู้เรื่องดังกล่าวจากผู้เชี่ยวชาญจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) และผู้แทนจากประเทศชั้นนำด้านเทคโนโลยี อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา สาธารณรัฐเกาหลี เดนมาร์ก ฝรั่งเศส สาธารณรัฐประชาชนจีน และรัสเซีย
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจเข้าร่วมฟังเสวนาและการให้ความรู้ดังกล่าว สามารถรับชมผ่าน Facebook live: Atoms4Peace สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
นอกจากนี้ ปส. ร่วมจัดนิทรรศการในโซน F โดยมุ่งเน้นให้ความรู้เกี่ยวกับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์กำลังขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ (Small Modular Reactor; SMRs) รวมทั้งแนวทางการกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ของ ปส. และนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ตั้งแต่วันที่ 22 – 28 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00 – 20.00 น. ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์