วิเคราะห์นักเตะดาวรุ่ง ลิเวอร์พูล ทำไมถึงเจ็บง่าย ?

ปีสองปีมานี้ เราเห็นข่าวนักเตะดาวรุ่ง ลิเวอร์พูล หลายคนต่างบาดเจ็บกันเพียบเลยใช่ไหมครับ

ไล่ตั้งแต่ สเตฟาน บายเซติช, เคด กอร์ดอน, คอเนอร์ แบรดลี่ย์, เบน โด๊ค, คาลวิน แรมซี่ย์ หรือกระทั่ง เคอร์ติส โจนส์

พวกเขาเหล่านี้เป็นผู้เล่นอายุน้อยที่น่าจับตา แต่กลับต้องใช้เวลาเป็นเดือน ๆ กับการรักษาร่างกาย จนเกิดความกังวลต่ออนาคตบนทีมชุดใหญ่

อย่างไรก็ตาม คุณหมอราชปาล บราร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาการบาดเจ็บมองว่ามันเป็นเรื่องปกติ

เขาเขียนอธิบายลงบนเว็บไซต์ This is Anfield ถึงลักษณะของแต่ละคน

แต่ก่อนจะว่ากันแบบเฉพาะเจาะจงคนใดคนหนึ่ง ลองมาดูตรงประเด็นหลักกันก่อน

ข้อแรกสำคัญสุดว่า ผู้เล่นคนนั้น ๆ โดนใช้งานหนักไปหรือไม่?

เรื่องที่ถูกนำมาพิจารณาจะนับรวมจำนวนนาทีที่กระโดด, ระดับความเข้มข้นของการกระโดด (พิจารณาจากการกระโดดในเกมต่าง ๆ, ระดับของเกมนั้น ๆ, การกระโดดในการซ้อม ฯลฯ) 

ข้อสองคือเป็นอาการบาดเจ็บแบบไหน? เป็นอาการบาดเจ็บที่เกิดจากการโดนตัวกัน (contact)  หรือไม่มีการแตะเนื้อต้องตัวกันรึเปล่า ?

ถ้าเป็นกรณีแรกก็ต้องบอกว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของเกมฟุตบอล เพราะในเกมกีฬาที่ต้องมีการปะทะกันเยอะ ๆ มันมีโอกาสที่จะเกิดเรื่องแบบนั้นได้เป็นธรรมดา ส่วนถ้าเป็นอย่างหลังก็จะเป็นการสื่อถึงปัจจัยอื่น ๆ

ข้อสุดท้ายคือเป็นอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติกับนักเตะดาวรุ่งไหม ?

หมอราชปาล บอกว่านักเตะดาวรุ่งมีปัจจัยที่เป็นตัวแปรหลายอย่างต่างกันไป บางทีก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะกับพวกที่เป็นนักเตะดาวรุ่งเท่านั้นด้วย 

ดังนั้นอาการบาดเจ็บบางอย่างเลยจะเกิดขึ้นกับนักเตะเหล่านี้มากกว่าพวกที่มีอายุเยอะ เนื่องจากนักเตะที่มีอายุเยอะจะมีสภาพร่างกายที่พัฒนาและมีความทนทานสูงกว่า

เมื่อแจกแจงได้ 3 หัวข้อ จากนี้ก็มาวิเคราะห์นักเตะแต่ละคน

คนแรกคือ สเตฟาน บายเซติช

ดาวเตะสแปนิช วัย 19 ปีก้าวขึ้นจากทีมเยาวชนมาอยู่ทีมชุดใหญ่ในเวลาอันรวดเร็ว และลงเล่นหลายต่อหลายนัดต่อเนื่องแทบไม่ได้พัก

การกระโดดที่รุนแรงแบบนี้ถือว่าเข้าข่ายการใช้ร่างกายหนักไป (การซ้อมกับทีมชุดใหญ่ใช้พละกำลังสูงกว่า) 

ด้วยเหตุนี้ บายเซติช เลยมีอาการบาดเจ็บด้านกล้ามเนื้อส่วนที่ดึงเข้าสู่ร่างกายที่ยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่ เพราะมันอาจเป็นด้านกล้ามเนื้อหรือไม่ก็เป็นอาการที่เกี่ยวกับกระดูก 

เขาเคยบอกว่ามีอาการตึงอยู่บ้าง ซึ่งปกติแล้วเป็นอาการที่เข้าข่ายกับอาการบาดเจ็บด้านกระดูก

เป็นไปได้ที่จะเป็นอาการอักเสบบริเวณหัวหน่าว (หรือบางคนเรียกว่า โรคไส้เลื่อนนักกีฬา) จริง ๆ ไม่ใช่อาการที่แปลกอะไรกับคนที่เป็นนักกีฬาอายุน้อย

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญก็คือ บายเซติช เคยมีอาการบาดเจ็บที่คล้ายกับกรณีนี้มาแล้ว 

หากอาการบาดเจ็บที่ผ่านมาเป็นตัวบ่งชี้ที่น่าเชื่อถือมากสุดเกี่ยวกับอาการบาดเจ็บในอนาคต มันก็มีความเป็นไปได้ที่เรื่องนี้จะไม่ใช่ปัญหาด้านการทำงานหนักเกิน่ไป

หลังหายจากอาการบาดเจ็บตรงกล้ามเนื้อส่วนที่ดึงเข้าสู่ร่างกาย บายเซติช ก็ได้รับบาดเจ็บตรงน่อง และต้องพักตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

อาจจะดูน่ากังวลก็จริง แต่มันมีความเสี่ยงที่จะมีอาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อระดับเบา ๆ อยู่แล้ว เพราะเขาพักไปนาน และยังอยู่ในช่วงปรับตัวเข้ากับการใช้กำลังในการลงเล่น

ตอนนี้ ลิเวอร์พูล ค่อนข้างระมัดระวังกับการฟื้นฟู บายเซติช และมันก็ควรจะเป็นแบบนั้น เพราะอาการบาดเจ็บด้านกล้ามเนื้อคือเรื่องที่มีความอ่อนไหวมาก ๆ และมีโอกาสที่จะเจ็บซ้ำสูง

คนต่อมา เคด กอร์ดอน

กอร์ดอน เป็นอีกคนที่ใช้เวลาไม่นานในอะคาเดมี่ แล้วโปรโมตมาซ้อมกับทีมชุดใหญ่ที่มีความจริงจังมากขึ้นแทบทุกวัน ขณะเดียวกัน เขาก็เล่นทีมชุดเด็กควบคู่ไปด้วย

เด็กหนุ่มวัย 19 ปีมีอาการที่ถูกเรียกว่า "อาการบาดเจ็บตรงกระดูกเชิงกรานที่ซับซ้อนเกี่ยวข้องกับการเติบโตด้านร่างกายและการมีร่างกายที่เป็นผู้ใหญ่" ซึ่งอาจทำให้ต้องพักเกือบ 16 เดือน

เขาเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของสโมสรที่ใช้มาตรการรักษาแบบระมัดระวังเต็มที่ เพราะการดูแลนักเตะเยาวชนถือว่ามีความซับซ้อนมาก ๆ และการพัฒนาสรีระมันก็มีตัวแปรหลายอย่าง

ในตอนที่กลับมาได้นั้น กอร์ดอน มีอาการบาดเจ็บเล็กน้อย (ข้อเท้าบิด) แต่นั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติในโลกฟุตบอล

แล้วนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเขาก็มีชื่อติดทีม 6 นัด รวมถึงการได้เป็นตัวจริงนัดแรกในเกมกับ อูนิยง ในเกม ยูโรปา ลีก

เมื่อเทียบกับ บายเซติช ที่ลงเล่นในระดับทีมชุดใหญ่ไปบ้าง โดยรวมแล้วสถานการณ์ของ กอร์ดอน เข้าข่ายกรณีแบบทั่วไปมากกว่าที่นักเตะดาวรุ่งต้องเจอกับอาการบาดเจ็บในช่วงที่พัฒนาฝีเท้าและสรีระ

ต่อไปคือสองแบ็กขวา คอเนอร์ แบรดลี่ย์ กับ คัลวิน แรมซี่ย์

กรณีของ แบรดลี่ย์ ถือว่าชัดเจนที่สุด เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติกับนักฟุตบอดาวรุ่ง

การที่เขาลงเล่นหลายนาที (เป็นดาวรุ่งที่ลงเล่นมากที่สุดตอนไปอยู่กับ โบลตัน แบบยืมตัวในฤดูกาล 2022/23) นำไปสู่อาการบาดเจ็บที่เกิดจากการทำงานหนักเกินไป (อาการกระดูกสันหลังตึง) 

แรมซี่ย์ ก็คล้ายกับ แบรดลี่ย์ เขาลงเล่นเยอะมาก ๆ (ตอนไปอยู่กับ อเบอร์ดีน) และระหว่างที่ทำการรักษากับ ลิเวอร์พูล มีการตรวจพบอาการร้าวหลายจุดตรงกระดูกสันหลัง

อย่างที่ หมอราชปาล บอกไปก่อนหน้านี้ครับว่าอาการบาดเจ็บจากการทำงานหนักเกินไปเป็นสิ่งที่้เกิดขึ้นได้เป็นปกติกับคนที่เป็นนักเตะดาวรุ่ง เนื่องจากกระดูกสันหลังต้องแบกรับภาระ

ตอนกลับมาจากยืมตัว แรมซี่ย์ ก็มีอาการบาดเจ็บตรงหัวเข่า และเกิดอาการทรุดลงจนต้องพักถึงเดือนพฤศจิกายน

ถึงกระนั้น คุณหมอไม่มั่นใจว่าเดิมทีอาการบาดเจ็บตรงหัวเข่าของ แรมซี่ย์ เกิดจากการคอนแทคกันรึเปล่า 

แต่เมื่อนักเตะกลับมาจากการต้องพักยาว ๆ มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่พวกเขาจะได้รับบาดเจ็บในจุดที่ต่างออกไป

อีกอย่าง ไม่นานนี้ แรมซี่ย์ ต้องอดลงเล่นเพราะติดเชื้อโควิด-19 ด้วย ซึ่งส่งผลเสียต่อสภาพความฟิตและจังหวะการเล่นมากขึ้นไปอีก

หลังเขาโดนเรียกตัวกลับมาจาก เปรสตัน เขาจำเป็นต้องได้ลงเล่นอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะได้กลับมามีสภาพความฟิตเหมาะสำหรับการลงเล่น และลดความเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บไปด้วย

ตัวอย่างต่อมาคือ เบน โด๊ค

โด๊ค เซ็นสัญญากับ ลิเวอร์พูล เมื่้อปี 2022 และมีตัวเลขการลงเล่นเพิ่มมากขึ้นบนทีมยู-18 และ ยู-21 รวมถึงเกมระดับ ยูฟ่า ยูธ ลีก อีก

ก่อนเปิดฤดูกาล เขาซ้อมกับทีมชุดใหญ่สม่ำเสมอ จากนั้นก็ได้ลงเล่นช่วงปรี-ซีซั่น แล้วถูกส่งลงเล่นเกมทางการ 5 นัด

และจากการขึ้นมาเจอความเข้มข้นระดับนี้ โด๊ค ได้รับบาดเจ็บตรงกล้ามเนื้อจนต้องพักรักษาตัวราวหนึ่งเดือน หนำซ้ำเดือนต่อมาเขาก็ได้รับบาดเจ็บหมอนรองเข่าจนต้องผ่าตัด

ทั้งนี้ ตัวคุณหมอเองก็ไม่ฟันธงว่าอาการบาดเจ็บครั้งล่าสุดมันเกิดจากการปะทะ หรือจากการทำงานหนักไป แต่มีโอกาสสูงที่จะทำให้เขาต้องพักเพิ่ม

เมื่อกลับมาลงเล่นได้ โด๊ค ก็ต้องเจอกับความเสี่ยงแบบเดียวกับที่บอกไปก่อนหน้านี้ 

นั่นคือนักเตะที่ต้องพักไปเป็นเวลานานมีโอกาสสูงที่จะได้รับบาดเจ็บ

มาถึงคนสุดท้ายอย่าง เคอร์ติส โจนส์ ที่ไม่ค่อยเข้าข่ายเหมือนรุ่นน้องที่ว่ามาเท่าไหร่

ก่อนที่เขาจะได้รับบาดเจ็บตรงเท้าจนอดลงเล่นตอนช่วงครึ่งฤดูกาลแรกปีก่อนนั้น เขาลงเล่นให้ทีมชุดใหญ่อย่างต่อเนื่อง 

เมื่อต้องทำงานหนักมากไป เป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดอาการกล้ามเนื้อตึงได้ และบางที โจนส์ ก็อาจจะมีร่างกายที่รับมือกับเรื่องแบบนั้นได้ดีกว่าคนอื่น ๆ ที่ถูกพูดถึงก่อนหน้านี้

ข่าวที่ดีมาก ๆ คือกรณีของเขามีการจัดการกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ค่อนข้างดี และมีความรอบคอบอย่างมาก เพราะตอนนี้ โจนส์ กลับมามีสภาพร่างกายเต็มร้อย และเล่นได้ดีกว่าก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำ

ทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรน่ากังวล นั่นคือสิ่งที่ คุณหมอพยายามจะสื่อ

แน่นอนว่า ตอนนี้มีนักเตะหลายคนที่ทำงานหนักเกินไป แต่นี่คือส่วนหนึ่งฟุตบอลอาชีพ และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ เวลาที่นักเตะดาวรุ่งขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่

นอกจากนี้ ไม่มีอาการบาดเจ็บอันไหนเลยที่เป็นอาการบาดเจ็บที่แปลกสำหรับนักเตะดาวรุ่ง, สำหรับคนที่อยู่ในช่วงพัฒนา หรือคนที่เพิ่งกลับมาหลังจากพักไปนาน

การคอยกำหนดแนวทางพัฒนาให้นักเตะดาวรุ่งและค่อย ๆ ปรับให้พวกเขาเข้ากับทีมชุดใหญ่ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย 

มันไม่ได้ดูกันแค่เรื่องจำนวนนาทีลงเล่นหรือความเข้มข้นของเกม แต่มีปัจจัยที่ถือเป็นปัจจัยเฉพาะกับพวกเขาเท่านั้นด้วย

อย่างที่ เจอร์เก้น คล็อปป์ เคยกล่าวไว้ตอนพูดถึง บายเซติช ตอนช่วงปลายปีที่ผ่านมา

"เด็กหนุ่มเหล่านี้ยังอยู่ในช่วงเติบโต พวกเขาทุกคนมีปัจจัยต่างกันไป"

"เรามีนักเตะที่มีการเติบโตด้านกระดูกต่างกันไป, การเติบโตด้านร่างกายที่แตกต่างกัน แต่ทุกอย่างถือว่าโอเคดี ไม่มีปัญหาอะไรทั้งนั้น"

"บางคนอาจจะโตเร็วไปนิดหน่อย ดังนั้นเราเลยต้องหยุดทุกอย่างเอาไว้แล้วรอจนกว่ามันจะโอเคดี"

"เมื่อถึงตอนนั้น สโมสรลิเวอร์พูล ก็จะได้นักเตะชั้นยอดมาใช้งาน แต่เราไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาที่ตายตัวได้ และเราจะไม่ทำแบบนั้นด้วย เราก็แค่ต้องรออย่างอดทนเท่านั้น"

หวังว่าเรื่องนี้จะไม่ถูกนำไปใช้ตัดสินการทำงานของหน่วยแพทย์, ทีมกายภาพบำบัด และทีมพัฒนาศักยภาพของ ลิเวอร์พูล

แต่ละคนในหน่วยงานเหล่านี้ต่างได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคลากรชั้นยอดในวงการฟุตบอล ไม่ใช่เฉพาะใน พรีเมียร์ลีก

ไม่ว่ายังไงก็ตาม นี่คงจะช่วยทำให้แฟนบอลเข้าใจถึงพัฒนาการของนักเตะเยาวชนได้ดี รวมถึงรับรู้ถึงการกำหนดแนวทางให้กับคนที่ได้รับบาดเจ็บได้ละเอียดขึ้น

หมอราชปาล ว่าไว้แบบนั้น

HOSSALONSO



ที่มาของภาพ : getty image
BY : Hossalonso
ธีรศานต์ คงทอง
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport