แดร์ ไกเซอร์ ผู้ยิ่งใหญ่ "จักรพรรดิลูกหนังผู้จากไป"

รอบสองสามปีที่ผ่านมาการจากไปของตำนานระดับแชมป์ฟุตบอลโลก เหมือนใบไม้ร่วง....ที่ละใบ ในเวลาไล่เลี่ยกัน

จากดีเอโก้ มาราโดน่า

เปเล่ 

เซอร์ บ๊อบบี้ ชาร์ลตัน

มาริโอ ซัลกาโล่

ตำนานแชมป์โลกผู้จากไปอีกมากมายในห้วงเวลาสองสามปีที่ผ่านมาจนถึง 

ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ คือคนล่าสุด

เรื่องราวของ เบคเคนบาวเออร์ เป็นเรื่องที่ควรค่าแก่การจดจำและศึกษาอย่างยิ่ง

เด็กหนุ่มจากบาวาเรีย

The boy from Bavaria....เกิดเมื่อ 11 ก.ย.1945 ที่ กิซิง ชานเมืองมิวนิค ในครอบครัวชนชั้นแรงงาน ลูกคนที่สองของบ้าน คุณพ่อคือ ฟรานส์ เบคเคนบาวเออร์ ซีเนียร์ เป็นพนักงานในไปรษณีย์ท้องถิ่น นั่นคือช่วงหลังสงครามโลกครั้งสองที่เยอรมันถูกแบ่งเป็น ตะวันตกและออก เมื่อแพ้สงคราม...

มีเรื่องราวในแบบขำๆ ช่วงเริ่มเป็นนักเตะฝึกหัดของ 1860 มิวนิค ทีมโปรดของ เบคเคนบาวเออร์  โดยคุณพ่อไม่สนับสนุนการเล่นฟุตบอล ถึงขั้นแซะ ฟริทส์ วอลเตอร์ กัปตันชุดแชมป์โลกสมัยแรกของเยอรมนี เป็นไอดอลของ เบคเคนบาวเออร์

คุณพ่อ ; "วอลเตอร์ จะทำอะไรเมื่อแก่เกินที่จะเล่นบอล หาเงินยังไง"

เบคเคนบาวเออร์ ; "ก็เอาเงินที่เก็บตอนสมัยเล่นบอลมาใช้ไงพ่อ"

คุณพ่อ ; "เชอะ...พวกนักบอลไม่ฉลาดในการเก็บตังค์ เชื่อสิ"

ถ้าเชื่อพ่อ....เบคเคนบาวเออร์ อาจไม่ยิ่งใหญ่จนเป็นแดร์ ไกเซอร์ ในทุกวันนี้

เขาฝึกบอลกับ 1860 มิวนิค แต่ร่วมทีมเยาวชนบาเยิร์น มิวนิค ซึ่งตอนนั้นอยู่ลีกาสอง เขาเริ่มเล่นศูนย์หน้า, ก่อนเป็นปีกซ้าย และมิดฟิลด์ ติดทีมครั้งแรกอายุ 18 ปี ก่อนมีส่วนช่วยพาทีมเลื่อนชั้นขึ้นบุนเดสลีกา จากนั้น "เสือใต้" เริ่มต้นความยิ่งใหญ่นับจากนั้นเป็นต้นมา

ซีซั่น 1968-69 เขาคือกัปตันทีมพาทีมคว้าถาดบุนเดสลีกา ซึ่งเป็นครั้งสองในประวัติศาสตร์สโมสร และเริ่มต้นนับหนึ่งในความยิ่งใหญ่เคียงข้างบาเยิร์น มิวนิค และทีมชาติเยอรมนี (ต.ต.) นั่นเอง

กัปตันเยอรมนีและยุคทองของเขา

ยุค 70 คือจุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ทั้ง เบคเคนบาวเออร์ , บาเยิร์น และทีมชาติเยอรมนี 

บาเยิร์น คว้าแชมป์บุนเดสลีกาสามซีซั่นติด 1972-73-74 

ติดทีมชาติเยอรมนี ปี 1965 เล่นทีมชาติเยอรมนีในบอลโลก 1966

ก่อนแพ้อังกฤษนัดชิงชนะเลิศ ในเกมที่สนุก ตื่นเต้น นัดหนึ่งของการชิงบอลโลก 

มีดรามาลูกยิงของ เซอร์ เจฟฟ์ เฮิร์สท์ เช็ดคานตกลงบนเส้น บวกกับแผนของโค้ชสองคน เซอร์ อัล์ฟ แรมซีย์ กับ เฮลมุน เชิน ที่ต่างวางหมากเหมือนกัน

เซอร์ อัล์ฟ วางหมากให้ เซอร์ บ๊อบบี้ ชาร์ลตัน ประกบ เบคเคนบาวเออร์

เชิน ก็วางหมากให้ เบคเคนบาวเออร์ ประกบ เซอร์ บ๊อบบี้

เรียกว่าแทกติกทันกันสองฝั่ง หวังหยุดคีย์แมนสองทีม....

แม้สุดท้ายอังกฤษชนะ 4-2 จากประตูที่ตกลงบนเส้น ซึ่งตอนนั้นกติกาไม่ชัดยกประโยชน์ให้จำเลย จนฟีฟา ต้องกำหนดลูกเข้าประตูนั้นต้องเข้าไปทั้งใบ ส่วนหนึ่งส่วนใดติดบนเส้นประตูไม่ได้ จนมามี โกลไลน์ เทคโนโลยี ในที่สุด

สองปีต่อมา เบคเคนบาวเออร์ และเพื่อนเอาคืนอังกฤษ ในบอลโลกที่เม็กซิโก มีภาพการใส่เฝือกเพราะไหล่หลุดแต่ยังเล่นได้ ที่เป็นเอกลักษณ์ภาพจำของแฟนบอลทั่วโลก

จากบอลโลก 1966 ไม่มีอะไรหยุดยั้ง เบคเคนบาวเออร์ กับความสำเร็จได้อีกแล้ว

แชมป์ยูโร 1972 แชมป์บอลโลก 1974 ในฐานะกัปตันทีมชาติ ระดับสโมสรนอกจากถาดบุนเดสลีกาแล้วยังเป็นเจ้ายุโรป 3 สมัย 1974-75-76

ยุคทองทั้งบาเยิร์น มิวนิค และทีมชาติ มี เบคเคนบาวเออร์, เซปป์ ไมเออร์ นายประตูมือกาว และดาวยิง แกรด์ มุลเลอร์ ที่ล่วงลับไปก่อนหน้านี้หลายปี 

รางวัลส่วนตัวก็นักเตะยอดเยี่ยมยุโรป "บัลลงดอร์" 2สมัย 

จากนั้นถึงเวลาไปร่วมกันสร้างลีกอาชีพในอเมริกา กับนิวยอร์ค คอสมอส ในลีกอเมริกาเหนือ North American Soccer League (NASL) แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการทำให้คนอเมริกันติดตามฟุตบอล ก่อนกลับมาร่วมทีมฮัมบูร์ก แชมป์บุนเดสลีกา 1982  ก่อนแขวนสตั๊ดปีต่อมา

เบคเคนบาวเออร์ เล่นบุนเดสลีกา 424 นัด โดย396 นัดกับเสือใต้ และ 28 นัดกับสิงห์เหนือ 

ทีมเชฟผู้ออกแบบ  5-3-2

จากความล้มเหลวของทีมชาติเยอรมนี (ต.ต.)ในยูโร 1984 ที่ฝรั่งเศสคว้าแชมป์ ยุค มิเชล พลาตินี และสามทหารเสือ อแล็ง ชีแรส, ฌอง ติกานา และ ลูอิส เฟร์นานเดส (เชื้อสเปน)  ทีมอินทรีเหล็กตกรอบแรกเมื่อแพ้สเปน 0-1 ใครอ่านซอคเกอร์ รายสัปดาห์คงจำได้ในยุคไม่มีอินเตอร์เน็ต มาเซดา โขกประตูชัยให้สเปน 

เมื่อล้มเหลว จุปป์ แดรวัลล์ โค้ชใหญ่ต้องลาออก เดเอฟเบ ประกาศแต่งตั้ง ฟร้านซ์ เบคเคนบาวเออร์ คุมทีมแทน แต่ตอนนั้นเขาไม่มีไลเซนส์ ในการเป็นโค้ช (ที่เยอรมนี มีอบรมหลักสูตรโค้ชก่อนฟีฟ่าและยูฟ่า) ตามหลักการทำงานในบอลเยอรมนี เขาจึงได้ชื่อว่า "ทีมเชฟ"  หาใช่ "บุนเดสเทรนเนอร์" ไม่ 

เขาใช้เวลาทำทีมสองปีคัดเลือกบอลโลกไปเม็กซิโก 1986 พาทีมรวมดาวกระจายได้ชิงชนะเลิศกับอาร์เจนติน่าของ ดีเอโก้ มาราโดน่า ซึ่งนั่นคือช่วงที่ทุกเริ่มเห็นฝีมือของ เบคเคนบาวเออร์ ในรูปแบบ 5-3-2 เมื่อรับ และ 3-5-2 เมื่อรุก 

นักเตะชุดนั้นมีทั้งเก๋า และสด

สายเก๋าอายุ 30+ คาร์ลไฮนส์ รุมเมนิกเก้, ดีเตอร์ เฮอเนส, โทนี ชูมัคเกอร์ (ประตู), เฟลิกส์ มากัธ, เคลาส์ อัลลอฟ 

สายสด โลธาร์ มัทเธอุส, แบร์โธลด์, รูดี โฟลเลอร์....

ทีมเล่นระบบ 5-3-2 มีสวีปเปอร์ 

ประตู ; โทนี ชูมัคเกอร์

3 เซนเตอร์ ; มีตัวชนหรือสตอปเปอร์ สองคน คาร์ลไฮนส์ ฟอร์สเตอร์ กับ ฮันส์ ปีเตอร์ บรีเกล ส่วนสวีปเปอร์ คือ ดีทมาร์ จาคอปส์ 

2 วิงแบ๊ก ; ซ้าย อันเดรียส เบรห์เม ขวา โทมัส แบร์โธลด์

3 มิดฟิลด์ ; โลธาร์ มัทเธอุส, นอร์เบิร์ต เอเดอร์ ทางซ้าย และตัวรุก เฟลิกส์ มากัธ

2 หน้าคู่; คาร์ลไฮนส์ รุมเมนิเก้ (กัปตันทีม) และ เคลาส์ อัลลอฟ

เยอรมนีโดนทีเด็ดทีม มาราโดน่า นำก่อน 2-0 โฮเซ หลุยส์ บราวน์ สวีปเปอร์ ขึ้นโหม่ง ครึ่งแรก ส่วนต้นครึ่งหลัง ฮอร์เก้ บัลดาโน่ (ดาวยิงเรอัล มาดริด) ยิง แต่การแก้เกมของ เบคเคนบาวเออร์ มีทีเด็ด เอาคืนสองลูกรวดจากการปล่อย รูดี้ โฟลเลอร์ ที่กำลังสด และตัวมากประสบการณ์โหม่งเก่งอย่าง ดีเตอร์ เฮอร์เนส (อายุ33 ปี) 

สองคนนี้ลงมาเกมพลิก (หากใครดูถ่ายทอดสดบอลโลกปีนั้นคงจำกันได้)

ลูกตั้งเตะและลูกกลางอากาศคือทีเด็ดของเยอรมนี ที่ เฮอร์เนส ลงมาแล้วป่วนเกมรับอาร์เจนติน่า ก่อนไล่ตีเสมอ 2-2 โดย รุมเมนิกเก้ และ โฟลเลอร์ จากลูกเตะมุมซีนคล้ายๆกันเลย 

ถ้าเล่นแบบยื้อๆ น่าจะมีลุ้นถึงจุดโทษ แต่เยอรมนี ได้ใจเปิดฉากบุกแหลกหวังทุบฟ้าขาวให้ดิ้น นั่นจึงเข้าทางเท้าของทีมคุณหมอ คาร์ลอส บิลาร์โด้ ที่ตลบหลังจากการสวนกลับ มาราโดน่า จ่ายให้ ฮอร์เก เบอร์รูชาก้า หลุดเดี่ยวเข้าไป....ปิดกล่อง 3-2 น.84

ความพ่ายแพ้ครั้งนั้น...มันคือความก้าวหน้าของทีม สองปีต่อมาในฟุตบอลยูโร 1988 ที่เยอรมนีเป็นเจ้าภาพ เบคเคนบาวเออร์ สร้างทีมขึ้นมาใหม่ โดยมีแกนนำชุดเดิมหลงเหลือกลุ่มพวกสายสด

มัทเธอุส, เบรห์เมห์, แบร์โธลด์ , โฟลเลอร์, ได้ เจอร์เก้น คลินส์มันน์ มาเติม, โบโด อิล์กเนอร์ ประตูดาวโรจน์ของ โคโลญจน์ โทมัส เฮสเลอร์...."ยอดคนแสนคม" หรือคนโตตัวเล็กขวัญใจผม เพราะผมเชียร์โคโลญจน์ และกลุ่มนักเตะโคโลญจน์ ติดทีมชาติกันหลายคน

แม้ไม่ได้ชิงเพราะเจอทีเด็ด 3 ทหารเสือดัชท์ รุด กุลลิท, แฟร้งค์ ไรจ์การ์ด, มาร์โก ฟาน บาสเท่น เขี่ยพ้นเส้นทาง แต่บอลโลก 2 ปีต่อมาที่อิตาลี ทีมของเบคเคนบาวเออร์ สมบูรณ์แบบยิ่งนัก

เต็งแชมป์ตั้งแต่ยังไม่แข่ง....

ประตู ; โบโด อิล์กเนอร์

3 เซนเตอร์ ; เคลาส์ เอาเกนเทเลอร์ คือสวีปเปอร์ 2 ตัวชน เจอร์เก้น โคห์เลอร์ และ กีโด บุควัลด์

2 วิงแบ๊ก ; โทมัส แบร์โธลด์ (ขวา) อันเดรียส เบรห์เม (ซ้าย)

3 กองกลาง ; โลธาร์ มัทเธอุส (กัปตันทีม), โทมัส เฮสเลอร์, ปิแอร์ ลิททบาร์สกี้

2 หน้าคู่ ; รูดี้ โฟลเลอร์ , เจอร์เก้น คลินส์มันน์

สำรองที่ใช้ ; สเตฟาน รอยเตอร์ แทน แบร์โธลด์

ที่ไม่ใช้ ในชุดนั้น แอนดี้ โมลเลอร์, คาร์ลไฮนส์ รีดเล่, อูเว บายน์, โอลาฟ โธน....

นัดที่เล่นแล้วหลุดฟอร์มคือนัดที่เสมออังกฤษ 1-1 รอบรองชนะเลิศ ก่อนยิงจุดโทษชนะ เกมนั้นอังกฤษของ เซอร์ บ็อบบี้ ร็อบสัน ผู้ล่วงลับเล่นจนเยอรมนี เหนื่อยเลย

ทีมสิงโตคำรามเล่นระบบเดียวกัน 5-3-2 

ปีเตอร์ ชิลตัน (ประตู)

กองหลังจาก วิงแบ๊กซ้าย สจ๊วร์ต เพียร์ซ,  ตัวชน เดส วอล์คเกอร์ - เทอร์รี บุทเชอร์- และ สวีปเปอร์ มาร์ค ไรท์ - วิงแบ๊กขวา พอล ปาร์เกอร์

กองกลาง ; เดวิด แพล็ท, พอล แกสคอยน์, คริส วอลเดิล

กองหน้า ; แกรี ลินิเกอร์ และ ปีเตอร์ เบียร์ดสลีย์ 

เบรห์เม่ ยิงนำ 1-0 ครึ่งหลังก่อน ลินิเกอร์ ตีเสมอ 1-1 น.80 ต่อเวลาเสมอกัน พอดวลจุดโทษตัดสินเยอรมนี ชนะ4-3 โดย เพียร์ซและ วอดเดิล ยิงไม่เข้า

ถึงนัดชิงชนะเลิศ.... มาราโดน่า ก็หยุดไม่อยู่ แม้ มาราโดนา จะกล่าวหาฟีฟ่า ว่าเป็นใจให้เยอรมนี แชมป์โลก แต่โดยเนื้อแท้แล้ว เยอรมนี ชุดนั้นแกร่งกว่ามาก ต่อให้ชนะในเกมเพราะจุดโทษประตูเดียวของ เบรห์เม่ แต่ฟ้าขาวก็เล่นบอลตุกติกและไม่คิดเน้นบุกรอสวนกลับ ซึ่งเยอรมนี ไม่พลาดให้เหมือนปี 1986 อีกแล้ว...

เบคเคนบาวเออร์ จึงได้ชื่อว่าเป็น นักเตะและโค้ช คนที่สองที่ได้แชมป์บอลโลกต่อจาก มาริโอ ซากัลโล.....ของบราซิล 

เกียรติยศ มากมาย....ก่ายกอง

เยอะเยอะเลย....กูเกิลดูครับ  ผมเลือกเฉพาะสำคัญๆ

  • ต้นแบบ ”ลิเบอโร“ ยุค60
  • แชมป์ยูโร 1972,ฟุตบอลโลก1974, 1990 (ทีมเชฟ) 
  • มนุษย์คนที่สองที่คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกทั้งนักเตะและโค้ช
  • บัลลงดอร์ 2 และมากมายถาดแชมป์+เจ้ายุโรป 3 สมัยติด
  • ออกแบบแทกติก 5-3-2 คว้าแชมป์ฟุตบอลโลก1990
  • ประธานจัดฟุตบอลโลก2006 
  • ประธานสโมสรบาเยิร์น มิวนิค

อีกมากมายในคุณงามความดี ของผู้วายชนม์

มีการยกย่องสรรเสริญมากมายแต่ที่เจ๋งเป้งที่สุด

ในความคิดของผมคือ

ฟร้านซ์ เบคเคนบาวเออร์ ไม่จำเป็นต้องมีโปร ไลเซนส์ หรือผ่านการอบรมโค้ชใดๆ

เพราะ เขานั่นหละคือตำรา ที่โค้ชทั่วโลกต้องศึกษา

RIP Der Kaiser "จักรพรรดิลูกหนังผู้จากไป"

JACKIE


ที่มาของภาพ : Gettyimages
BY : JACKIE
อดิสรณ์ พึ่งยา
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport