ภาคประชาชนยื่นฟ้องกสทช.-กกท.ปมถ่ายบอลโลกเอื้อประโยชน์กลุ่มทุน

ภาคประชาชนยื่นฟ้องกสทช.-กกท.ปมถ่ายบอลโลกเอื้อประโยชน์กลุ่มทุน
ภาคประชาชน ในฐานะผู้บริโภคยื่นฟ้อง "กสทช.-กกท" ปมลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย ระบุเป็นการเอื้อประโยชน์นายทุนบางกลุ่มให้ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายบอลโลก 2022 เพียงเจ้าเดียว และสร้างภาระให้ประชาชนเกินควร

นายนภดล วงษ์วิหค ตัวแทนประชาชน มอบอำนาจให้นายนพรัตน์ พลสิงห์ และน.ส.กุลธิดา เกิดแก่นแก้ว ทนายความจากสำนักงานกฎหมาย สเตโต้ พับบลิคลอว์ เฟิร์ม ยื่นฟ้องผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (ผู้ว่ากกท.) การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยขอให้ศาลปกครองกลางพิจารณาพิพากษาเร่งด่วน กำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครอง เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา และขอให้ศาลมีคำขอและมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวโดยเร่งด่วน เพื่อลดการผลักภาระให้กับประชาชนตามหลักการ "มัสต์แฮฟ" และ "มัสต์แครี่" ที่ระบุไว้ชัดเจนแล้ว

ทั้งนี้ กกท. ในฐานะผู้ซื้อและได้รับลิขสิทธิ์การแพร่เสียงแพร่ภาพการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 (รอบสุดท้าย) มาจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) มูลค่า 1,300 ล้านบาท โดยเงินจำนวนครึ่งหนึ่ง 600 ล้านบาท มาจากกองทุนวิจัยและพัฒนาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทปส.) ส่วนที่เหลือได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนต่างๆ โดย บริษัท ทรู ดิจิตอล กรุ๊ป จำกัด คือหนึ่งในบริษัทที่สนับสนุนเงิน 300 ล้านบาท 

โดยตามที่คณะกรรมการบริหารกองทุนเสนอตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 ซึ่งจัดสรรเงินจากกองทุนดังกล่าวให้แก่ กกท. นำไปซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 (รอบสุดท้าย) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนสามารถรับชมรายการดังกล่าวได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้ และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป ไม่เลือกปฏิบัติ

ทั้งนี้ กกท. มีหน้าที่และพันธกิจในการส่งเสริมการกีฬา ตามมาตรา 8 (1) แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 แต่หน้าที่อันเกี่ยวกับข้อเท็จจริงกรณีนี้ เกิดขึ้นจากการให้ความร่วมมือตามข้อตกลง แม้ว่าการกำกับดูแลการแพร่เสียงแพร่ภาพการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 (รอบสุดท้าย) จะเป็นหน้าที่โดยตรงของ กสทช. ทว่ากกท.มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการแพร่เสียงแพร่ภาพการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก เช่นเดียวกันกับ กสทช. เนื่องจาก กกท. ได้รับรองในบันทึกความร่วมมือดังกล่าวว่า การแพร่เสียงแพร่ภาพการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 (รอบสุดท้าย) ซึ่งจะต้องครอบคลุมการออกอากาศผ่านกิจการการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ทุกประเภทที่อยู่ในการกำกับดูแลของ กสทช. ดังนั้น กสทช. จึงมีหน้าที่ในการร่วมกันกำกับการแพร่เสียงแพร่ภาพการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ให้เป็นไปตามประกาศกฎ “มัสต์แฮฟ” และ “มัสต์แครี่” ซึ่งที่ผ่านมา ยังมีประชาชนที่มีกล่อง IPTV (Internet Protocol Television) จำนวนมาไม่สามารถชมฟุตบอลโลกผ่านฟรีทีวีได้ตามประกาศกฎที่กสทช.กำหนด


ที่มาของภาพ : gettyimages
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport
X