กกท.เรียกถกด่วนช่องโทรทัศน์เตรียมแผนถ่ายสดกรณีได้ลิขสิทธิ์บอลโลกช่วงท้าย

ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานเมื่อช่วงสายวันที่ 16 พ.ย.65 ว่า กระบวนการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ของประเทศไทย ยังไม่สำเร็จ แม้จะมีการพูดคุยเจรจากับบริษัท อินฟรอนท์ฯ เอเยนต์ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) หลายรอบแล้วก็ตาม ทว่าทางอินฟรอนท์ฯ ยังไม่ยอมลดราคา จาก 1,600 ล้านบาท ตามที่ฝ่ายไทยเสนอขอลดราคาเข้าไป ทำให้ยังปิดดีลไม่ได้ ซึ่งเหลือเวลาอีก 3 วันสุดท้ายที่จะชี้ชะตาว่า คนไทยตะได้ดูการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 หรือไม่ และอาจจะได้ดูไม่ครบ 64 แมตช์ เช่นดูตั้งแต่รอบที่ 2 หรือรอบ 16 ทีมสุดท้ายเป็นต้นไป ซึ่งเป็นรูปแบบที่ไทยได้เจรจากับอินฟรอนท์ไปหมดแล้ว แต่ยังโดนปฎิเสธ และยืนยันจะลดราคาขายให้ไทยแค่ 36 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,400 ล้านบาท ในขณะที่ไทย มีงบอยู่ในมือ 1,100 ล้านบาทเท่านั้น

รายงานข่าวแจ้งต่อไปว่า เรื่องเงินตอนนี้ กกท.มีอยู่ในมือประมาณ 1.1 พันล้าน จาก กสทช. 600 ล้านบาท และภาคเอกชนอีก 400-500 ล้านบาท ส่วนเงินเพิ่มเติมที่เหลือ ยังคงรอภาคเอกชนเพิ่มเติม หรือสุดท้ายหากไม่ได้จริงๆ ก็มีแผนที่จะยืมเงินจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติมาช่วยตรงส่วนนี้ไปก่อนแล้วซึ่งเมื่อได้จากภาคเอกชนเพิ่มเติมในภายหลัง อาจจะนำมาชดใช้คืนกองทุนฯ ซึ่งแนวทางดังกล่าวมีโอกาสเป็นไปได้แต่นั่นคือ หนทางสุดท้ายแล้วจริงๆ 

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ช่วงบ่ายวันที่ 16 พ.ย.65 ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. เชิญผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ มาประชุมเพื่อเตรียมแผนการถ่ายทอดสด แม้จะยังไม่ได้ลิขสิทธิ์แต่เนื่องจากเวลากระชั้นชิดเกินไปจึงต้องเตรียมแผนไว้ก่อน กรณีได้ลิขสิทธ์วันที่ 18 หรือ 19 หรืออาจจะ 20 พ.ย.นี้ จะได้ดำเนินการเรื่องการถ่ายทอดสดได้แบบทันที    “วรวุฒิ” แนะซื้อลิขสิทธิ์บอลโลกควรทำล่วงหน้า 4 ปี   "บิ๊กวอ" นายวรวุฒิ โรจนพานิช ผู้มีประสบการณ์สูงในการนำบริษัท ทศภาค จํากัด ได้รับลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2002 ที่เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพร่วมกัน และฟุตบอลโลก 2006 ที่ประเทศเยอรมนี โดยทศภาคเป็นเจ้าแรกที่นำฟุตบอลโลกมาถ่ายทอดสด 64 แมตช์ แบบไม่มีโฆษณาคั่น เปิดเผยว่า การเจรจาซื้อลิขสิทธิ์กับบริษัม อินฟรอนท์ฯ เมื่อตอนปี 2002 กับ 2006 ต้องเจรจากันแบบตรงๆ ไม่อ้อมค้อม แต่เจรจาแบบมีลูกล่อลูกชน จะเปรียบเทียบกับประเทศมาเลเซีย ทำไมเขาซื้อได้ในราคา 1.3-1.5 พันล้านบาท เพราะเขาทำในรูปแบบเปเปอร์ วิว คือดูแบบเสียเงิน แต่บริบทของไทยจัดแบบดูแบบเสียเงินกันไม่ได้อีก ซึ่งตนไม่เข้าใจเหมือนกัน แล้วที่สำคัญเราต้องมีทางเลือกสำรอง ที่เรามั่นใจว่า เรากล้าที่จะต่อรองกับเขาถึงคราวต่อไปไปเลย ถึงจะได้ราคาที่สมน้ำสมเนื้อ ประเทศที่ได้ไปฟาดแข้งฟุตบอลโลก ฟีฟ่าเขาก็ขายอีกราคาหนึ่ง ประเทศที่ไม่ได้ไปฟาดแข้งก็ขายอีกราคาหนึ่งด้วย 

 นายวรวุฒิ กล่าวต่อไปว่า เท่าที่รู้จากสื่อมวลชนเวลานี้เรามีอยู่กระเป๋าประมาณ 1,000 ล้านบาท ถ้าตัวเลขการเจรจากับอินฟรอนท์ฯ เป็นไปตามที่ข่าวออกมาคือ 1,600 ล้าน เท่ากับว่าเราขาดอยู่ 600 ล้าน แต่จะหาตอนนี้แค่ 600 ล้านไม่พออีกแน่ๆ ต้องหา 700 ล้านสำหรับค่าดึงสัญญาณ ผลิตสัญญาณ ค่าแอร์ไทม์ และค่าควบคุมสัญญาณให้อยู่ในราชอาณาจักรไทย รวมถึงค่าจิปาถะอื่นๆ ทั้งหมดไม่เกิน 100 ล้านบาท

 "ตอนนี้ฟีฟ่าเขามองบอลโลกเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำเงินทั้ง 5 ช่องทางได้แก่ ฟรีทีวี, เปเปอร์ วิว, ดาวเทียม, อินเตอร์เน็ต และมือถือ ทุกอย่างเป็นเงินเป็นทองหมด ผมอยากเสนอว่านี่เป็นบทเรียนที่เราผิดพลาด เราควรให้เอกชนเขาไปดำเนินการ แล้วรัฐเข้ามาสนับสนุน ร่วมมือกัน เพราะรัฐควบคุมองค์กรรัฐวิสาหกิจที่มีเงินมหาศาลได้ทั้งหมด คนละนิด คนละหน่อย มันก็เดินหน้าไปได้ แต่ถ้ารัฐเอาไปทำทั้งหมดก็ไม่ไหว หรือเอกชนเอาไปทำทั้งหมด เอกชนก็แบกรับความเสี่ยงที่จะขาดทุนอีก ดังนั้นต้องทำงานร่วมกันทั้งรัฐ และเอกชน และที่สำคัญคือ เราต้องเจรจาล่วงหน้า 4 ปียาวๆ ไปเลย ไม่ใช่มาเร่งทำกันในช่วงโค้งสุดท้าย ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ถ้าเรามีลิขสิทธิ์อยู่ในมือเร็วเท่าไหร่ เราก็นำไปทำธุรกิจ การค้าต่างๆ ได้เร็วเท่านั้น" นายวรวุฒิ กล่าว



ที่มาของภาพ : -
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport