กกท.ต่อรองเอเยนต์ฟีฟ่าหวังลดราคาลิขสิทธิ์บอลโลกเหลือ1พันล้าน

ผู้ว่าการกกท.เผยยังเจรจากับเอเยนต์ฟีฟ่า เพื่อขอพิจารณาลดราคาอีกรอบ หวังลดราคาเหลือ 1 พันล้านบาท หลังได้รับอนุมัติเงินค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 จากบอร์ดกทสช.จำนวน 600 ล้านบาท ระบุยังประสานภาคเอกชนร่วมลงขันต่อเนื่อง เพื่อให้ได้เม็ดเงินที่ยังขาดอยู่ ด้านรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. แจงงบที่บอร์ดกสทช.อนุมัติไม่เต็มจำนวน 1,600 ล้านบาท เพราะหวั่นเกิดกองทุนฯเกิดปัญหาสภาพคล่อง ชี้ 600 ล้านบาทเป็นจำนวนที่น่าจะเหมาะสม เพราะจะถือเป็นเม็ดเงินจำนวนครึ่งหนึ่งของค่าลิขสิทธิ์ หาก กกท.สามารถต่อรองขอลดราคาได้ถูกลงอีก เล็งถอดบอลโลกออกจาก 1 ใน 7 ชนิดกีฬาที่คนไทยต้องได้ดูฟรี หรือปรับให้มีความยืดหยุ่นให้เข้ากับบริบทสังคม เพื่อเปิดช่องให้เอกทุนเข้ามาลงทุนมากขึ้น และไม่เกิดปัญหาในลักษณะเช่นนี้อีก

ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เปิดเผยว่า หลังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติอนุมัติเงินสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ให้ (กกท.) เพื่อนำไปซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ในกรอบวงเงิน 600 ล้านบาท จากจำนวนเต็ม 1,600 ล้านบาทนั้น ได้มีการเรียกประชุมทีมงานอย่างเร่งด่วนเมื่อช่วงค่ำวันที่ 9 พ.ย.65 เพื่อหาทางออกในการซื้อลิขสิทธิ์ให้ทันก่อนฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้ายนัดแรกจะเปิดฉากขึ้น  

ผู้ว่าการกกท. เผยอีกว่า ก่อนหน้านี้ทาง กกท.ได้ทำหนังสือส่งถึงสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) และทางอินฟรอนท์ บริษัทที่เป็นตัวแทนของฟีฟ่าในการเจรจาลิขสิทธิ์ เพื่อให้ช่วยพิจารณาลดราคาที่เคยเสนอมา 36 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1,326.24 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ  วันที่ 10 พ.ย.65) ลงอีก โดยทางฟีฟ่ามีหนังสือตอบกลับมาว่าเข้าใจและอยากให้ประเทศไทยได้รับชมฟุตบอลโลก 2022 ด้วย โดย ให้ทาง กกท.ติดต่อกับอินฟรอนท์ต่อไป ซึ่งตอนนี้ได้ส่งจดหมายไปแล้วว่า กกท. ได้รับเงินสนับสนุนจาก กสทช. 600 ล้านบาท และให้ช่วยพิจารณาค่าลิขสิทธิ์ใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ผู้ว่าการกกท. เผยอีกว่า ส่วนกระแสข่าวที่บอกว่ามีเอกชนเข้ามาร่วมแล้วนั้น ยังไม่ทราบว่าบริษัทที่สนใจจะให้เท่าไหร่บ้าง ต้องรอดูความชัดเจนกันต่อไปก่อน ขณะที่เงื่อนไขที่คุยกับเอกชน ถึงสิ่งที่จะได้รับการตอบแทน จะเป็นเรื่องของสิทธิประโยชน์ต่างๆ การประชาสัมพันธ์หน่วยงานนั้นๆ ผ่านช่องทางที่เราได้สิทธิมา ขณะที่เรื่องของการลดหย่อนภาษีจะต้องไปดูที่ข้อกฎหมายอีกครั้งหนึ่ง และต้องนำไปพูดคุยกับกระทรวงการคลังก่อน ซึ่งตอนนี้การคุยกับเอกชน ต้องหาจำนวนเงินมาให้ได้มากที่สุด เพราะเงินที่ กสทช. อนุมัติให้มามันน้อยกว่าที่คาดเอาไว้มาก  และต้องเร่งทำงานหนักกันต่อไป

ดร.ก้องศักด ยังเผยถึงไทม์ไลน์ด้วยว่า ตอนนี้คือ รอทางอินฟรอนท์เคาะราคามาอีกรอบ แล้วก็ไปพูดคุยกับเอกชน หาเงินให้ได้ครบตามจำนวน และทำข้อตกลงสัญญาต่างๆ ส่งให้อัยการสูงสุดตีความจึงนำไปเซ็นสัญญาได้ และคนไทยก็จะได้ดูฟุตบอลโลก รอบสุดท้ายกัน ซึ่งก็ต้องทำงานอย่างหนัก เพราะเหลือเวลาไม่มาก เนื่องจากเดดไลน์ของฟีฟ่าที่กำหนดไว้ในการซื้อลิขสิทธิ์คือ ก่อนเริ่มทัวร์นาเมนต์

ด้านนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยถึงสาเหตุที่ กสทช. อนุมัติเงินเพียง 600ล้านบาท จากคำขอ 1,600 ล้านบาท ของกกท. ว่า อันดับแรกคือทาง ดร.ก้องศักด ไม่สามารถชี้แจงในเรื่องรายละเอียดที่ถามไปว่า ค่าใช้จ่ายแบ่งเป็นภาคพื้นดินเท่าไหร่, ระบบแซทเทิลไลท์เท่าไหร่, เคเบิลเท่าไหร่ บอกแค่ราคารวมมาอย่างเดียว จากนั้นได้ถามต่อว่า สามารถทำอะไรได้บ้าง ก็ได้รับคำตอบว่า กำลังเจรจาลดราคาอยู่จากราคาเดิมยังไม่รวมภาษี และค่าแลกเปลี่ยนเงินตรา ที่ 36 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้เหลือ 28 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,031.52 ล้านบาท) แต่ยังรอคำตอบอยู่ ซึ่งทางบอร์ด กสทช.พิจารณากันว่า ในข้อกฎหมายไม่มีปัญหา สามารถนำเงินมาใช้ได้ ก็ทำแบบเมื่อตอนโอลิมปิกเกมส์คือออกกันคนละครึ่ง กสทช.ครึ่งหนึ่ง กกท.ไปหาเองอีกครึ่งหนึ่ง และมองในแง่ดีว่าถ้าต่อเหลือ 28 ล้านเหรียญสหรัฐได้ บวกกับค่าภาษี และค่าแลกเปลี่ยนเงินตรา ครึ่งหนึ่งจะอยู่ที่ราวๆ 600 ล้านบาท จึงได้อนุมัติเงินจำนวนนั้น ไปให้ กกท. ไปดำเนินการต่อ

รักษาการเลขาธิการ กสทช. เผยอีกว่า  ทาง กกท. รู้ว่ามีหน่วยงานเอกชนที่พร้อมจะเข้ามาช่วยเหลืออยู่ เพียงแต่ก่อนหน้านี้อาจจะรอดูท่าทีของ กสทช. ว่าจะช่วยสนับสนุนเท่าไหร่บ้าง ถ้าไม่ได้ช่วยเลยอาจจะต้องลงทุนเยอะก็ไม่น่าลงทุนแต่ตอนนี้มีเงินมาแล้วส่วนหนึ่ง เอกชนก็น่าจะพร้อมเข้ามาช่วยลงทุนได้ ซึ่งเงินที่เหลือถ้าหาได้ก็ดี แต่ถ้าหาไม่ได้ก็ซื้อเท่าที่ได้ อย่างมาเลเซียเองจ่ายแค่ 261 ล้านบาท ดูแค่ไม่กี่นัดก็ทำได้เช่นกัน

"การที่เราให้นอกจากต้องดูกฎหมายว่าไม่มีปัญหาแล้ว ก็ต้องดูจำนวนเงินที่มีอยู่ด้วย เพราะถ้านำเงินมาใช้จนหมดก็อาจจะทำให้กองทุนฯ ลำบากได้เช่นกัน ดังนั้นจำนวนเงินที่ให้ก็ต้องดูสภาพคล่องของ กสทช. ด้วย" นายไตรรัตน์กล่าว

นายไตรรัตน์ เผยถึงการปรับแก้กฎ "มัสต์แฮฟ" (Must Have) 7 มหกรรมกีฬาที่คนไทยต้องดูฟรี ประกอบด้วยซีเกมส์, อาเซียนพาราเกมส์, เอเชียนเกมส์, เอเชียนพาราเกมส์, โอลิมปิกเกมส์, พาราลิมปิกเกมส์ และฟุตบอลโลก รวมถึง"มัสต์ แครี่" (Must Carry) ที่ระบุว่า ต้องดำเนินการให้ทุกแพลตฟอร์มให้คนไทยได้ชมแบบฟรีๆว่า จะมีการปรับปรุงแน่นอน

ตอนที่คณะกรรมการชุดเก่าออกกฎนี้มา รูปแบบ แพลตฟอร์ม ยังไม่เยอะเท่าปัจจุบัน ตอนนั้นแค่ต้องการให้คนไทยได้รับชมกีฬาดีๆ จึงตั้งเป็นมัสต์แฮฟ และอยากให้เข้าถึงทุกคนดูได้ทุกแพลตฟอร์ม จึงเป็นมัสต์แครี่ แต่ตอนนี้ทำให้ลำบากต่อการทำธุรกิจ ทางบอร์ด กสทช. ก็ตั้งใจจะปรับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะมองว่าไม่ใช่หน้าที่ กสทช. ที่ต้องมาออกเงินทุกๆ 4 ปีแบบนี้ แต่เมื่อกฎที่สร้างไว้เป็นปัญหา ก็ต้องปรับแก้ไข

"ปกติ กสทช. กำกับดูแลผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และตลาด ซึ่งกีฬา 6 ชนิดเป็นสินค้าทั่วไป แต่ฟุตบอลโลกเป็นสินค้าเฉพาะ การมีภาครัฐเข้าไปแบบนี้มันทำให้ราคาตลาดปั่นป่วน เอกชนเองติดข้อกฎหมายก็ไม่สามารถลงทุนได้ ทำให้ไม่มีคนซื้อลิขสิทธิ์" นายไตรรัตน์กล่าว

นายไตรรัตน์ กล่าวในตอนท้ายว่า เท่าที่คุยมาคือ กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ สามารถใช้เงินได้ต่อเมื่อมีนักกีฬาไทยไปแข่งขัน ดังนั้น 6 ประเภทหลัก (ซีเกมส์, อาเซียนพาราเกมส์, เอเชียนเกมส์, เอเชียนพาราเกมส์, โอลิมปิกเกมส์และพาราลิมปิกเกมส์) มีนักกีฬาไทยไปแข่งแน่นอน ส่วนฟุตบอลโลกตอนนี้ ยังไม่มีทีมชาติไทยไปแข่งขันก็ยกเลิกไปก่อนในอนาคตถ้ามีก็ค่อยนำกลับเข้ามาได้ หรือจะออกเป็นข้อยกเว้นต่างๆ หรือยกเลิกมัสต์แครี่ ไม่ต้องถ่ายทุกแพลตฟอร์มก็ได้อยู่ที่การคุยกันตอนจะออกกฎใหม่ อย่างไรก็ตามต้องมีการทำประชาพิจารณ์ก่อน ดังนั้นสามารถรับฟังข้อเสนอจากประชาชนได้ ค่อยนำมาปรับแก้ไขกันต่อไป



ที่มาของภาพ : -
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport