ธนาคารไทยเครดิตประสบความสำเร็จจากโครงการตังค์โต Know-how คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ผู้นำระดับประเทศด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน” โดยกระทรวงมหาดไทย
ธนาคารฯ ได้รับรางวัลประเภทองค์กรธุรกิจเอกชน (Private Sector) โดยมีผลงานดีเด่นด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจนจาก โครงการตังค์โต Know-how ซึ่งเน้นเสริมสร้างทักษะและวินัยทางการเงิน ส่งเสริมการพัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิตคนไทยให้พึ่งตนเอง การได้รับคัดเลือกฯ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศ สร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาการดำเนินงานของธนาคารฯ “Everyone Matters ทุกคนคือคนสำคัญ” ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของธนาคารฯ ในการทำงานร่วมกับภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ
ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยของกระทรวงมหาดไทย เพื่อเข้ารับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 “ผู้นำระดับประเทศด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน ประจำปี 2566 ประเภทองค์กรธุรกิจเอกชน (Private Sector) จาก โครงการตังค์โต Know-how ซึ่งสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นต่อชุมชนและคุณภาพชีวิตของสมาชิกชุมชน ทั้งยังขับเคลื่อนโครงการฯ โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชนและสังคม และปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ดำเนินงานอย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นกลไกนำไปสู่ความยั่งยืน โดย นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เข้ารับรางวัลจากนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ณ กระทรวงมหาดไทย
นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ธนาคารฯ มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม (Environment) ใส่ใจรับผิดชอบต่อสังคม (Social) และยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล (Governance) อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมุ่งปลูกจิตสำนึกให้ผู้บริหารและพนักงานทุกคนมีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างจริงจัง พร้อมสนับสนุนให้มีส่วนร่วมในโครงการและกิจกรรมเพื่อสังคมมาโดยตลอด เพื่อช่วยเหลือสังคมและผู้ด้อยโอกาส การได้รับคัดเลือกฯ เป็นอีกก้าวหนึ่งของความสำเร็จของธนาคารฯ และสร้างความภาคภูมิใจให้แก่พนักงานทุกคน อีกทั้งยังเป็นกำลังใจและแรงผลักดันให้เรามุ่งมั่นในการทำงาน และสร้างสรรค์โครงการเพื่อสังคมต่อไปในอนาคต”
นายรอยย์ ออกุสตินัส กุนารา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) เสริมว่า “ธนาคารฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญของทักษะทางการเงินจึงได้ริเริ่มโครงการตังค์โต Know-how ในปี 2560 เพื่อให้ความรู้และเสริมสร้างวินัยทางการเงินแก่ประชาชน ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต โดยจัดให้มีการฝึกอบรมในระบบห้องเรียนที่สาขาสินเชื่อเพื่อรายย่อย ธนาคารไทยเครดิต 267 สาขา ทั่วประเทศ สอนโดยวิทยากรซึ่งเป็นผู้จัดการสาขาที่มีความรู้และประสบการณ์ และผ่านการอบรมหลักสูตร “วิทยากรมืออาชีพ” นอกจากนี้ยังจัดให้มีการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้และสร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย”
โครงการตังค์โต Know-how มี 4 หลักสูตร แต่ละหลักสูตรออกแบบพิเศษเพื่อให้เหมาะกับผู้เรียน ได้แก่ 1) หลักสูตรบริหารการเงินเพื่อธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย 2) หลักสูตรบริหารการเงินส่วนบุคคลสำหรับพนักงานบริษัท 3) หลักสูตรตังค์โตเดอะติวเตอร์สำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา และ 4) หลักสูตรบริหารการเงินเพื่อความมั่นคงในอนาคตสำหรับเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา โครงการตังค์โต Know-how ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมาก มีผู้เข้าร่วมฝึกอบรมกว่า 170,000 คน
“ในปี 2566 ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย มีผู้เข้าร่วมอบรมผ่านช่องทางสาขาสินเชื่อเพื่อรายย่อยของธนาคารฯ และผ่านการอบรมจากวิทยากรส่วนกลางที่ลงพื้นที่อบรมทั่วประเทศ กว่า 58,000 คน อีกทั้งโครงการตังค์โต Know-how ยังได้รับคะแนนการวัดความพึงพอใจและการแนะนำบอกต่อ Net Promoter Score (NPS) อยู่ในระดับ “ดีเยี่ยม” ที่ 81% ซึ่งดีกว่าที่เราคาดไว้ ถือเป็นความภูมิใจอย่างยิ่ง” นายรอยย์ กุนารา กล่าว
นอกจากนี้ ธนาคารฯ ยังจัดให้มีโครงการฝึกอบรมพิเศษเน้นให้ความรู้ด้านการเงินและด้านวิชาชีพ สำหรับเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย และสมาชิกชุมชนในจังหวัดต่างๆ ผ่านโครงการเพื่อสังคมของมูลนิธิไทยเครดิต เพื่อเสริมสร้างวินัยทางการเงิน เสริมอาชีพ สร้างรายได้ และช่วยลดปัญหาความยากจน
“เราขยายกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการฯ และเพิ่มช่องทางการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้เพื่อศึกษาและพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ เพราะสำหรับธนาคารไทยเครดิต “Everyone Matters ทุกคนคือคนสำคัญ””
ในปี 2567 ธนาคารฯ ยังมุ่งมั่นสานต่อภารกิจสร้างทักษะการวางแผนการเงินที่ดีให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งเป็นฟันเฟืองช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ทั้งยังพัฒนาโครงการตังค์โต Know-how อย่างต่อเนื่อง ถอดบทเรียนโครงการฯ เพื่อนำมาปรับปรุงคุณภาพของเนื้อหาหลักสูตรให้ทันสมัยทันต่อเหตุการณ์ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิต ประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“เราขอสัญญาว่าจะเดินหน้าโครงการและกิจกรรมเพื่อสังคมต่อไป และขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสร้างผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการใส่ใจในสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล และยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด เพื่อนำพาไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” นายรอยย์ กล่าว