เจาะประเด็นหลังเกมช้างศึกแพ้ยูเออี!!

ทีมชาติไทย ปิดฉาก ฟีฟ่า เดย์ มีนาคม 2023 ด้วยความพ่ายแพ้ทั้งสองนัด ทว่านั่นคือบทเรียนที่ทัพช้างศึกต้องเรียนรู้และกลับไปแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นในวันหน้า

โดยทีมงาน  'SIAMSPORT' ได้รวบรวมสิ่งที่น่าสนใจจากเกมปราชัยต่อสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาให้คุณได้อ่านกัน!!

[ 1 ] รูปแบบการเล่นยังน่าชื่นชม

ทีมชาติไทย ปรับผู้เล่นจากเกมแรกที่แพ้ต่อซีเรีย 1-3 อยู่ 2 จุด ด้วยการใช้ กัมพล ปฐมอรรฆย์กุล ลงมาเฝ้าเสาแทน ปฏิวัติ คำไหม ในตำแหน่งผู้รักษาประตู ขณะที่ ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์ ได้จับคู่กับ วีระเทพ ป้อมพันธุ์ ในแดนกลาง แทนที่ พีรดนย์ ฉ่ำรัศมี 

นอกนั้นอีก 9 คน คือผู้เล่นจากนัดที่แล้ว ฟูลแบ็กสองฝั่ง นิโคลัส มิคเคลสัน และ ธีราทร บุญมาทัน โดยมีเซนเตอร์ฮาล์ฟ กฤษดา กาแมน จับคู่กับ มานูเอล ทอม บีร์ห

แดนบน ชนาธิป สรงกระสินธุ์ รับบทเพลย์เมเกอร์สนับสนุน สุภโชค สารชาติ, ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา และ ศุภชัย ใจเด็ด ในฐานะศูนย์หน้าตัวเป้าเช่นเคย

ก่อนการแข่งขัน อเล็กซานเดร โพลกิ้ง เฮดโค้ชทัพช้างศึก ให้สัมภาษณ์ว่าจะยังให้ลูกทีมเดินหน้าเล่นเกมรุกตามเดิม แม้จะเป็นทีมเยือนก็ตาม และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อทีมชาติไทย บุกใส่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทันทีที่ออกสตาร์ต

นักเตะจากดินแดนขวานทองวิ่งบีบพื้นที่ ยูเออี ตั้งแต่โซนของคู่แข่ง และภาพที่ออกมาคือโอกาสในการเข้าทำของไทย ชัดเจนกว่าเหนือกว่าฝั่งตรงข้ามอีกแล้ว

สถิติหลังจบการแข่งขัน การครองบอลคู่คี่สูสี โดยที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เหนือกว่านิดๆ ตรงที่ 53 ต่อ 47 เปอร์เซ็นต์

ทว่าโอกาสในการยิงนั้นต่างกันถึง 3 เท่า เพราะว่าไทย มีจังหวะได้สับไกถึง 22 ครั้ง ขณะที่ ยูเออี มีแค่ 7 หน เท่านั้น

แม้ว่าจบ 90 นาที ความพ่ายแพ้จะตกเป็นของทีมช้างศึกอีกครั้ง แต่รูปแบบการเล่นที่พวกเขาแสดงให้เห็นในสนาม ถือว่าสอบผ่านและมีอนาคตที่สดใสรออยู่ ขอเพียงอย่าเพิ่งท้อถอย เชื่อมั่นในตัวเอง รับประกันเลยว่าในวันหน้า ทีมชาติไทย จะได้รับคำชื่นชมจากทั่วทุกสารทิศแน่

[ 2 ] ขาดความคมเช่นเคย

นัดแรกกับซีเรีย - ไทย มีโอกาสสับไก 25 ครั้ง ส่วนนัดที่สองกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จากสถิติที่ออกมา ทัพช้างศึกก็ยังเหนือกว่าแบบลิบลับที่ตัวเลข 22 ต่อ 7 ครั้ง

2 นัด รวมกัน ลูกทีมของ อเล็กซานเดร โพลกิ้ง มีโอกาสยิงทั้งหมด 47 หน แต่กลับได้มาเพียงประตูเดียวเท่านั้น  

ในเกมกับ ยูเออี โอกาสทั้ง 22 ครั้งที่ทีมช้างศึกได้สับไกใส่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีแค่ 6 หน ที่ตรงกรอบ ซึ่งเท่ากับว่ายิงทิ้งยิงขว้างไปเกือบ 4 เท่า ของจำนวนการเข้าทำ

จากสถิติที่ออกมา จึงยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าทีมชาติไทย มีปัญหาในพื้นที่สุดท้ายจริงๆ ยิ่งการขาดไปของ ธีรศิลป์ แดงดา ศูนย์หน้าหมายเลขหนึ่ง และปัจจุบันก็ยังไม่มีหัวหอกคนใหม่ที่สามารถก้าวมาแทนที่ได้

ศุภชัย ใจเด็ด ที่ถูกคาดหวังว่าจะมารับไม้ต่อจากดาวซัลโวสูงสุดตลอดกาลของศึก อาเซียน คัพ ก็ยังไม่สามารถปลดล็อกผลงานในระดับชาติได้เสียที 

ช็อตสำคัญในช่วงครึ่งแรกที่รับบอลจาก ชนาธิป สรงกระสินธุ์ แล้วหลุดเข้าไปในกรอบเขตโทษด้านซ้าย แต่จังหวะสุดท้ายกลับไม่เฉียบขาด จนพลาดทำให้ไทย ได้ประตูขึ้นนำคู่แข่ง คือหลักฐานว่าหัวหอกชาวปัตตานี ยังต้องพิสูจน์ตัวเองกับทีมชาติไทย อีกพอสมควร แม้จะทำผลงานในลีกได้ยอดเยี่ยมก็ตาม

ไม่นับอีกหลายต่อหลายหนที่สร้างสรรค์เกมได้อย่างดี มีมิติเข้าทำหลากหลาย แต่พื้นที่สุดท้ายยิงกันได้อย่างน่าผิดหวัง และเมื่อเผชิญหน้ากับคู่ต่อสู้ที่แรงกิ้งสูงกว่า ย่อมต้องถูกลงโทษเป็นธรรมดา

โอกาส 7 หน ของ ยูเออี ที่ยิงเข้ากรอบ 5 ครั้ง แต่พวกเขาแปรเปลี่ยนให้เป็น 2 ประตู ซึ่งนั่นคือ 'คุณภาพ' ในพื้นที่สุดท้าย ซึ่งมันคือความแตกต่างของทีมที่มีศักยภาพสูงกับทีมที่ยังต้องใช้เวลาในการพัฒนา

ดังนั้น 2 เกม ที่ได้ลับแข้งกับชาติที่มีอันดับ ฟีฟ่า สูงกว่าจึงเป็นบทเรียนที่ดีที่จะได้นำไปปรับใช้ในอนาคต แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่ที่ว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับวงการลูกหนังไทย จะจริงใจเพียงใดกับการพัฒนาเพื่ออนาคต

[ 3 ] เกมรับพลาดง่ายอีกแล้ว

แม้ว่า 2 ประตู ที่เสียไปให้ ยูเออี จะไม่ใช่ความผิดพลาดส่วนบุคคลที่โจ่งแจ้งเท่ากับนัดพบซีเรีย แต่ก็เป็นอีกครั้งที่แนวรับทีมชาติไทย แสดงให้เห็นถึงรอยโหว่ที่แก้เท่าไหร่ก็ยังแก้ไม่ตกเสียที

กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นั้นมีพวกเขาสามารถคุกคามที่แดนของทัพช้างศึกได้เพียง 12.4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งน้อยกว่าที่ไทย บุกอยู่ฝั่งเจ้าบ้านถึง 22.6 เปอร์เซ็นต์

แต่ด้วยตัวเลขแค่ 12.4 เปอร์เซ็นต์ และโอกาสยิงเพียง 7 ครั้ง - ยูเออี สามารถแปรเปลี่ยนเป็น 2 ประตู และเมื่อย้อนไปถึงเกมกับซีเรีย พวกเขาก็มีโอกาสสับไกแค่ 11 ครั้ง แต่ได้มาถึง 3 ประตู ซึ่งสถิติดังกล่าวชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเกมรับนั้นเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ไทย ต้องกลับไปแก้ไขเช่นกัน

หากเล่นกับชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือทีมที่มีแรงกิ้งใกล้เคียงกัน เชื่อว่าทัพช้างศึกน่าจะเอาอยู่ เหมือนใน อาเซียน คัพ 2022 ที่คว้าแชมป์ไปแบบไม่ยากเย็นนัก เพราะความเฉียบขาดของคู่แข่งยังห่างไกลกับระดับทวีป

แนวรับของไทย จึงไม่ได้เจอบททดสอบที่ที่จริง แต่การที่ได้เล่นกับซีเรีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นั้นคือตัวสะท้อนให้เห็นความจริงว่าเรายังต้องเรียนรู้อีกมากมาย เพราะถ้าคุณพลาดนิดเดียว นั่นหมายถึงเสียประตูได้ทันที

[ 4 ] เปลี่ยนตัวไวไปหน่อย

ในช่วงครึ่งแรกที่ยังเสมอกันอยู่ 0-0 รูปเกมของไทย ยังไหลลื่น โดยเฉพาะเกมรุกที่มีการเข้าทำได้หลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเจาะตรงกลางหรือครอสจากริมเส้น

ทว่าการเปลี่ยนเอา ศุภนันท์ บุรีรัตน์, ทศวรรษ ลิ้มวรรณเสถียร กับ ปรเทศย์ อาจวิไล ลงมาแทน นิโคลัส มิคเคลสัน, ฐิติพันธุ์ พ่วงจันทร์ และ ศุภชัย ใจเด็ด นั้นมีส่วนที่ทำให้การเล่นของทัพช้างศึกไม่เหมือนเดิม

ไม่ใช่ว่านักเตะที่ลงมาแทนนั้นด้อยกว่า แต่จริงๆ แล้วทีมชุดแรกที่กำลังทำผลงานได้ดี น่าจะได้เล่นต่อเนื่องอีกหน่อย เพราะครึ่งแรกก็เห็นๆ อยู่ว่ารูปเกมดูดีกว่า ยูเออี พอสมควร หากได้สู้กันอีกนิด น่าจะมีอะไรดีๆ ออกมาเชยชม

นอกจากนี้ ความเข้าใจเกมระหว่างตัวผู้เล่น ชุดที่หนึ่งกับชุดที่สองย่อมมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับทีมชาติ ซึ่งไม่ได้รวมตัวฝึกซ้อมกันเหมือนเล่นให้สโมสร ดังนั้นพอจังหวะจะโคนไม่เข้าที่ มันเลยทำให้เครื่องยนต์ของทัพช้างศึกสะดุดลงไปเล็กน้อย 

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า อเล็กซานเดร โพลกิ้ง คงจะมองถึงระยะยาว เลยต้องส่งนักเตะชุดสองลงมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เพราะถ้าตัวสำรองไม่ได้โอกาสลงเล่น พวกเขาก็ไม่มีเวทีที่จะพิสูจน์ตัวเอง หรือแม้แต่จะได้เรียนรู้จากการแข่งขันจริงในสนาม


ที่มาของภาพ : -
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport