ถึงเวลาของทีมละตินแล้วหรือยัง

ฟุตบอลโลกของผมขับเคลื่อนด้วยละตินอเมริกา..

ในวัยเด็กที่ได้รู้จักมันเป็นครั้งแรก บราซิลมาพร้อมกับหนึ่งในประโยคคลาสสิกที่สุดของฟุตบอลโลก

"ถ้าบราซิลตกรอบ ก็เหมือนกับฟุตบอลโลกจบลงแล้ว"

ประโยคนี้ถ้าถูกนำมาพูดในวันนี้คงเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ แต่ในยุคทศวรรษ 1980 ที่ผมเติบโตมา ชื่อบราซิลนั้นเปี่ยมด้วยมนต์ขลัง โลดแล่นบนความเชื่อมั่นและศรัทธาของผู้คน คำพูดประโยคนี้มันจึงแทบจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ

ใครๆ ก็อยากดูบราซิล พอบราซิลตกรอบแล้วก็แทบจะหมดอารมณ์ดูต่อ แม้ในความเป็นจริงแล้วทัวร์นาเม้นต์ก็ยังดำเนินต่อไปของมัน

ฟุตบอลโลกเกมแรกที่ผมได้ดูก็ยังเป็นบราซิล มันคือเกมรอบ 8 ทีมสุดท้ายกับฝรั่งเศสในปี 1986 ซึ่งเป็นหนึ่งในเกมที่ดีที่สุดตลอดกาล

ฝรั่งเศสอาจจะมีสี่ทหารเสือ มิเชล พลาตินี่ ฌอง ติกาน่า อแล็ง ชิแรส และ หลุยส์ แฟร์กน็องเดซ ที่เพียงฉายาก็ชวนให้หลงใหล แต่ค่ำคืนนั้นผมรู้ตัวว่าเชียร์บราซิลเพราะพ่อบอกว่า นี่แหละทีมที่เก่งที่สุดในโลก

กระนั้นเมื่อเวลาผ่านไป ได้รับรู้เรื่องราวต่างๆ มากขึ้น ผมกลับเลือกเชียร์ทีมร่วมทวีปอเมริกาใต้ของบราซิลอย่างอุรุกวัย

มันก็แปลกดีเหมือนกันนะครับ เกมแรกของผมคือบราซิล ฟุตบอลโลกแรกของผมคือแชมป์ของ ดีเอโก้ มาราโดน่า และอาร์เจนติน่า แต่ผมกลับเลือกเชียร์อุรุกวัยที่ทัวร์นาเม้นต์นั้นโดนเดนมาร์กโขยกละเอียด 1-6 ในรอบแรกและถูกทีมฟ้าขาวส่งกลับบ้านเร็วตั้งแต่รอบสอง

มันอาจจะเป็นความเห็นใจส่วนหนึ่ง ทีมอะไรกันแพ้ตั้งหก-หนึ่ง แต่เหตุผลที่ผมเชียร์อุรุกวัยคือฉายาอันองอาจและงามสง่าของ เอ็นโซ่ ฟรานเชสโกลี่ รวมทั้งการเป็นแชมป์โลกสองสมัย

รู้ตัวอีกที.. ผมก็เป็นกองเชียร์ของพวกเขามาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว

กระนั้นเมื่อถึงฟุตบอลโลกคราใด ผมก็มักจะเอาใจช่วยยักษ์ใหญ่ทั้งสามแห่งละตินอยู่เสมอนั่นล่ะครับ เชียร์อุรุกวัยแต่ก็ส่งเสริมทั้งบราซิลและอาร์เจนติน่าด้วย

มันเป็นความชอบส่วนตัว ถ้าฟุตบอลโลกก็ต้องละตินอเมริกา อะไรทำนองนั้น เหมือนเราเลือกข้างแล้วว่าเราจะเทใจไปทางนี้

เพราะฟุตบอลโลกนั้นแม้จะมีแชมป์โลกกันไปแล้ว 8 ทีม แต่มันอยู่ในกรอบของทวีปแค่สองทวีปเท่านั้น

อเมริกาใต้ กับ ยุโรป

แค่สองทวีปนี้เท่านั้น ทวีปอื่นไม่เกี่ยว..

บราซิล อุรุกวัย อาร์เจนติน่า แห่งอเมริกาใต้หรือละตินอเมริกา

อิตาลี เยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน แห่งยุโรป

การขับเคี่ยวระหว่างละตินอเมริกากับยุโรปคือหนึ่งในความสนุกของฟุตบอลโลกสำหรับผม

นอกจากเชียร์ทีมแล้ว ยังเชียร์ทวีป และการต่อสู้กันระหว่าง ละติน กับ ยุโรป ในช่วงที่ผมเติบโตมากับเกมลูกหนังนั้นเข้มข้นเหลือกำลังและถึงใจสมกับที่ติดตามลุ้นจริงๆ

มันเป็นอย่างนั้นมาจนกระทั่งจุดพลิกผันในปี 2006 ที่เป็นจุดเริ่มต้นของทิศทางที่เป็นมาตลอดทศวรรษครึ่งหลังสุด นั่นคือยุโรปกินรวบและกินเรียบ

ผมคิดถึงการต่อสู้ระหว่างละตินกับยุโรป มันเคยสนุกอย่างเหลือเชื่อ เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม

ลองเปรียบเทียบมันเป็นเกมฟุตบอลสักเกมก็ได้ครับ แล้วเราจะพบว่านี่แหละคู่ต่อสู้ที่สมศักดิ์ศรีและสู้กันถึงพริกถึงขิงที่สุดแล้ว

1930 อุรุกวัย.. ละติน 1-0

1934 อิตาลี.. ยุโรป 1-1

1938 อิตาลี.. ยุโรป 2-1

1950 อุรุกวัย.. ละติน 2-2

1954 เยอรมันตะวันตก.. ยุโรป 3-2

1958 บราซิล.. ละติน 3-3

1962 บราซิล.. ละติน 4-3

1966 อังกฤษ.. ยุโรป 4-4

1970 บราซิล.. ละติน 5-4

1974 เยอรมันตะวันตก.. ยุโรป 5-5

1978 อาร์เจนติน่า.. ละติน 6-5

1982 อิตาลี.. ยุโรป 6-6

1986 อาร์เจนติน่า.. ละติน 7-6

1990 เยอรมันตะวันตก.. ยุโรป 7-7

1994 บราซิล.. ละติน 8-7

1998 ฝรั่งเศส.. ยุโรป 8-8

2002 บราซิล.. ละติน 9-8

2006 อิตาลี.. ยุโรป 9-9

2010 สเปน.. ยุโรป 10-9..

นับจากครั้งแรกที่อุรุกวัยเมื่อปี 1930 จนถึงที่เยอรมันปี 2006 รวมแล้ว 18 สมัยกินเวลา 76 ปี ไม่เคยมีทวีปไหนผูกขาดได้แชมป์โลกเกินสองสมัยติดต่อกันเลย มากที่สุดคือทำได้ 2 ครั้งติดและมันเกิดขึ้นเพียงแค่ 2 หนเท่านั้นคือ ยุโรป 1934 กับ 1938 (อิตาลี) และอเมริกาใต้ 1958 กับ 1962 (บราซิล)

นั่นหมายความว่าหลังจากที่ 7 สมัยแรกมีการป้องกันแชมป์เกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง (รวมแล้ว 4 สมัย) ฟุตบอลโลกอีก 12 สมัยต่อมานับตั้งแต่ปี 1962 ถึงปี 2006 ไม่เคยมีทวีปไหนป้องกันแชมป์ได้เลย

ผลัดกันได้แชมป์แบบเอ็งที-ข้าทีมาถึง 44 ปี

ไม่เพียงเท่านั้นนะครับ ถ้าเราจะดูให้ลึกลงไปอีกถึงคู่ชิงแต่ละสมัย มันก็ยังเป็นการต่อสู้ที่น่าเหลือเชื่อขึ้นไปอีก

1930 อุรุกวัย ชิง อาร์เจนติน่า.. ละติน ชิง ละติน

1934 อิตาลี ชิง เชโกสโลวาเกีย.. ยุโรป ชิง ยุโรป

1938 อิตาลี ชิง ฮังการี.. ยุโรป ชิง ยุโรป

1950 อุรุกวัย ชิง บราซิล (รอบแบ่งกลุ่มนัดสุดท้าย เปรียบเหมือนนัดชิง).. ละติน ชิง ละติน

1954 เยอรมันตะวันตก ชิง ฮังการี.. ยุโรป ชิง ยุโรป

1958 บราซิล ชิง สวีเดน.. ละติน ชิง ยุโรป

1962 บราซิล ชิง เชโกสโลวาเกีย.. ละติน ชิง ยุโรป

1966 อังกฤษ ชิง เยอรมันตะวันตก.. ยุโรป ชิง ยุโรป

1970 บราซิล ชิง อิตาลี.. ละติน ชิง ยุโรป

1974 เยอรมันตะวันตก ชิง ฮอลแลนด์.. ยุโรป ชิง ยุโรป

1978 อาร์เจนติน่า ชิง ฮอลแลนด์.. ละติน ชิง ยุโรป

1982 อิตาลี ชิง เยอรมันตะวันตก.. .. ยุโรป ชิง ยุโรป

1986 อาร์เจนติน่า ชิง เยอรมันตะวันตก.. ละติน ชิง ยุโรป

1990 เยอรมันตะวันตก ชิง อาร์เจนติน่า.. ยุโรป ชิง ละติน

1994 บราซิล ชิง อิตาลี.. ละติน ชิง ยุโรป

1998 ฝรั่งเศส ชิง บราซิล.. ยุโรป ชิง ละติน

2002 บราซิล ชิง เยอรมัน.. ละติน ชิง ยุโรป

ห้าสมัยแรกจากปี 1930 ถึงปี 1954 คู่ชิงยังมาจากทวีปเดียวกัน แต่หลังจากนั้นอีก 12 สมัยมีคู่ชิงจากทวีปเดียวกันเกิดขึ้นแค่ 3 ครั้งเท่านั้นในปี 1966, 1974 และ 1982

แล้วจากปี 1986 เป็นต้นมา ยุโรป กับ ละติน ก็เข้าชิงกัน 5 ครั้งต่อเนื่อง และยังผลัดกันคว้าแชมป์แบบเอ็งที-ข้าที เหมือนเดิม

ผมเติบโตมาในยุคที่ละตินกับยุโรปฟาดฟันกันมาอย่างนี้ในฟุตบอลโลก ดื่มด่ำกับพลังอันแรงกล้าแห่งศักดิ์ศรีระหว่างทวีป จึงคงไม่แปลกที่ผมจะรู้สึกผิดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้นมาตลอดในช่วงหลัง

ละตินอเมริกาไม่เคยถูกถลุงหมดสภาพอย่างนี้

ฟุตบอลโลกปี 2006 ที่ผมมองว่าเป็นจุดพลิกผันสู่ปัจจุบันเพราะมันคือฟุตบอลโลกที่ตัวแทนจากอเมริกาใต้ถูกตัดตอนเหี้ยนไม่มีโผล่เข้าไปถึงรอบรองชนะเลิศเลยแม้แต่ทีมเดียว

บราซิลแพ้ฝรั่งเศสตกรอบ 8 ทีมสุดท้าย อาร์เจนติน่าแพ้จุดโทษเยอรมันในรอบเดียวกัน เอกวาดอร์ตกรอบสอง ปารากวัยตกรอบแรก อุรุกวัยหนักกว่ากระทั่งรอบคัดเลือกยังไม่ผ่าน

ก่อนหน้านี้ก็เคยมีฟุตบอลโลกที่ยุโรปเหมาพื้นที่ในรอบตัดเชือกนะครับอย่างปี 1982 ที่ อิตาลี เยอรมันตะวันตก โปแลนด์ และ ฝรั่งเศส ทะลุเข้าไปปะทะกันเอง หรือปี 1966 ที่มี อังกฤษ เยอรมันตะวันตก โปรตุเกส และ สหภาพโซเวียต รวมทั้งปี 1934 ที่มี อิตาลี ออสเตรีย เยอรมัน และ เชโกสโลวาเกีย

แต่ทุกครั้งไม่เคยตามมาด้วยการผูกขาดแชมป์ของยุโรป หลังปี 1934 อิตาลีอาจจะป้องกันแชมป์ได้ในปี 1938 แต่ครั้งถัดไปคือปี 1950 ละตินก็เอาคืนด้วยการแย่งแชมป์กันเองระหว่างอุรุกวัยกับบราซิล

ขณะที่ปี 1966 กับ 1982 ที่ยุโรปเข้าตัดเชือกได้ทั้ง 4 โควต้านั้นมันติดตามมาด้วยแชมป์โลกอันยิ่งใหญ่ของฝั่งละติน ทั้ง บราซิล 1970 และอาร์เจนติน่า 1986

แต่ไม่ใช่กับด๊อยท์ชลันด์ 2006..

เพราะฟุตบอลโลกครั้งนั้นไม่เพียงตัวแทนจากยุโรปเขี่ยละตินร่วงหมดเกลี้ยงตั้งแต่ก่อนถึงรอบรองชนะเลิศเท่านั้น หากมันยังติดตามมาด้วยการก้าวสู่ตำแหน่งแชมป์โลก 4 สมัยติดต่อกันของฝั่งยุโรปอีกด้วย

อิตาลี 2006.. รอบรองฯ อิตาลี เยอรมัน ฝรั่งเศส โปรตุเกส

สเปน 2010.. รอบรองฯ สเปน ฮอลแลนด์ เยอรมัน อุรุกวัย

เยอรมัน 2014.. รอบรองฯ เยอรมัน อาร์เจนติน่า ฮอลแลนด์ บราซิล

ฝรั่งเศส 2018.. รอบรองฯ ฝรั่งเศส โครเอเชีย เบลเยียม อังกฤษ

สามในสี่ครั้งนั้น.. เป็นการเข้าชิงกันเอง

สองในสี่ครั้งที่ว่า.. คือการกวาดทั้งสี่พื้นที่ในรอบตัดเชือก

ยุโรปมาทิ้งละตินขาดลอยก็ในช่วงสิบกว่าปีหลังมานี้เอง เป็นการทิ้งแบบฉีกกันขาดวิ่น ทิ้งกันอย่างไม่เห็นฝุ่น

จะว่าเป็นความอับอายของฝั่งละตินก็คงไม่ผิด ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาพวกเขาไม่เคยตกต่ำขนาดนี้

กับฟุตบอลโลก 2022 บราซิลเป็นเต็งหนึ่ง อาร์เจนติน่าเป็นเต็งสอง..

สองทีมนี้ก็เป็นตัวเต็งลำดับต้นๆ อย่างนี้อยู่เสมอนั่นแหละ หลายครั้งก็เต็งหนึ่ง บางครั้งก็เต็งสองบ้าง เต็งสามบ้าง แต่ไม่เคยหลุดจากความไว้วางใจ

สี่สมัยแล้วนะครับที่ละตินทำให้ผู้คนที่รักพวกเขาต้องผิดหวัง

ผมรู้ดีว่าฝั่งยุโรปก็มีกองเชียร์อยู่มากและหลายทีมก็มีศักยภาพสูงลิบ แต่กับฟุตบอลโลกคราวนี้ ผมอยากเห็นการรอคอยของละตินสิ้นสุดลงเสียที มันจะเป็นไปได้ไหมนะ..

ตังกุย


ที่มาของภาพ : getty images
BY : ตังกุย
ณัฐพล ดำรงโรจน์วัฒนา
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport