ว่าด้วยลิขสิทธิ์​บอลโลก !

เรียบร้อยโรงเรียนอะไรดีครับ...เมื่อเราได้ดูบอลโลกฟรี 64 แมตช์ เรียบร้อยแล้ว

ในฐานะแฟนกีฬาก็แฮปปี้ แต่ในฐานะคนเป็นสื่อก็ตะขิดตะขวงใจอยู่บ้างกับ "หลักการ"ที่ไม่เคยมีในประเทศไทยของเรา

ข่าวนี้ออกมาช่วงบ่ายแก่ๆ มันคือข่าวแจกที่สื่อทุกฉบับได้ข้อความมาเหมือนๆกัน

ด่วน! กกท. บรรลุข้อตกลงซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 กับสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ครบทั้ง 64 แมตช์ เรียบร้อยแล้วที่ราคา 33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 1,400 ล้านบาท) โดยต้องขอบคุณ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีที่ประสานงานภาคเอกชนจนสำเร็จดังกล่าว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการเซ็นสัญญากับฟีฟ่า และดำเนินการเรื่องการเตรียมการถ่ายทอดสด

ก่อนหน้านั้นสักสองสามชั่วโมงมีข่าวลือสะพัดตามโซเชียล ที่ผมได้อ่านเพราะมันเด้งขึ้นมาหน้าฟีดผมคือเฟสบุ้ก คุณไพทูร ชุติมากรกุล นายกสมาคมนักข่าวช่างภาพกีฬาแห่งประเทศไทย ที่ระบุยืนยันเม็ดเงินที่ลงขันกันพร้อมบอกว่า ได้ดูบอลโลกแน่นอน 

ระดับนายกบิ๊กเหม็นที่สื่อสายกีฬารู้จักกันดี...การันตี ก็พอเชื่อได้ละครับ เพราะแกระดับประเทศ แกไปดูบอลโลกมาหลายต่อหลายครั้ง รู้จักกับบุคคลระดับโลกจากฝ่ายจัดหลายคนหนึ่งในนั้นชื่อ ฟร้านส์ เบคเคนบาวเออร์

ผมก็เชื่อแกครับ...จริงๆ ไลน์หาแกก็ได้ แต่ก็นั่นแหละ ผมไม่จำเป็นต้องมาโพสต์ว่ารู้แล้วนะ เรารู้แล้ว ด้วยเพราะ บิ๊กเหม็น แกก็มีสมาชิกอะไรเยอะแยะไปหมด คงกระจายข่าวกันไปทั่วนั่นแหละ

โอเค...เมื่อบทสรุปว่าได้ดูฟรี เสียงตอบรับก็บวก ความรู้สึกชื่นมื่น เราได้ดูบอลโลกฟรีๆ นัดเปิดสนามจนถึงนัดชิงชนะเลิศ

อย่างไรก็ตาม....ผมมองว่าบ้านเราชอบหลงทิศหลงทางในหลายๆเรื่อง อย่างเรื่อง "ซื้อลิขสิทธิ์" ดูบอลโลก มันควรเป็นหน้าที่ใครหรือใครต้องมารับผิดชอบ

ใช่รัฐบาล หรือหน่วยอย่างกกท. ที่มารับหน้าเสื่อแล้วโดนวิจารณ์กันไปต่างๆนาน เพราะคนวิจารณ์ ก็อาจไม่รู้เรื่องเชิงลึกว่า กกท. เขาทำอะไร ขั้นตอนไหน หรือที่ปล่อยข่าวมามันคือ "เกม" ที่ท้ายสุดแล้วมี อัศวิน ขี่อิปสวิช และสตุตการ์ท รับบทฮีโร มาทำให้ดีลนี้เกิดขึ้น

จริงๆแล้ว มันใช้หรือครับที่ รัฐบาล และหน่วยงานอย่าง กกท. คือกลุ่มคนที่ต้องดีลลิขสิทธิ์นี้ 

ผมไม่ตอบ...แต่ขอเขียนเปรียบเทียบให้อ่านระหว่างการซื้อลิขสิทธิ์บอลโลกดั้งเดิมของเราตั้งแต่ปี 1986 และของเมืองนอกอย่าง อังกฤษและ เยอรมัน เขาดีลลิขสิทธิ์นี้อย่างไร และราคาเท่าไหร่

ผมเชื่อว่าอ่านจบแล้ว...ทุกท่านจะมีคำตอบทันทีว่า "ใครกันที่ต้องซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก" มาถ่ายทอดสดในบ้านเรา

เดิมสมัยผมอยู่ ม.5 ดูสดนัดเปิดสนาม อิตาลี แชมป์เก่า เสมอบัลแกเรีย แบบจืดชืด จากนั้น...มีนายทหารใหญ่ชื่อ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ไฟเขียวถ่ายทอดสดตั้งแต่รอบน้อคเอาต์ ไปจนนัดชิงชนะเลิศ ดูกันทาง

ททบ5 พอบอลโลกปี 1990 โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ หรือ ทีวีพูล ก็ซื้อมาให้ดูกันถึงบ้าน  จนถึงยุคบอลโลก 2002 ถ้าผมจำไม่ผิดนะครับที่มีบริษัทเอกชนคือ ทศภาค จำกัด ปาดหน้า "ทีวีพูล" ซึ่ง ณ จุดนั้นมีการวิจารณ์กันว่า ทศภาค ทำให้คนไทยดูบอลแพง จำได้ ช่อง 7 หนึ่งในฐานะโต้โผ ทีวีพูล ไม่ร่วมสังฆกรรมถ่ายทอดสดบอลโลก  แต่ไม่ใช่ปัญหาของทศภาค ที่มีคีย์แมนอย่างคุณ วรวุฒิ โรจนพานิช และคอลัมนิสต์รุ่นเก๋าจากสื่อยักษ์ใหญ่หลายท่านในบริษัทนั้น

โอเค....มาตัดตอนที่เมื่อ  RS มารับหน้าเสื่อซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก 2014 กลับเจอปัญหาไม่ควรปล่อย "จอดำ" ตามกฏ  must have ของกสช หรือกสทช ในเวลาต่อมา  

กฏ Must Have นี้ได้ออกมาปี 2012 หรือ พ.ศ. 2555  กฎดังกล่าวมีขึ้นเเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการโทรทัศน์ที่มีคุณภาพอย่างเป็นธรรม และเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป 

ทั้งบอลโลก, ซีเกมส์, เอเชียนเกมส์, อาเซียน พาราเกมส์, เอเชียน พาราเกมส์, พาราลิมปิก, โอลิมปิก  เหล่านี้ต้องดูฟรีห้ามจอทั้ง แบบบอกรับสมาชิก, ดาวเทียม, ก้างปลา อะไรต่างๆ 

จังหวะที่  RS ซื้อลิขสิทธิ์นี้ก่อนมีกฏ มัส แฮฟ ออกมา พวกเขาฟ้องศาลชนะคดี กสทช ต้องจ่ายเงิน 400 ล้านกว่าบาท กรณีห้ามจอดำ และไม่ต้องถ่ายทอดสดทุกนัด

เงิบกันไป....

คราวนี้ไปดูว่าที่อังกฤษกับเยอรมัน เขามีปัญหาแบบบ้านเรามั้ย

ที่อังกฤษนั้นมี "ฟรีทีวี" 2 ช่อง หุ้นกันซื้อลิขสิทธิ์บอลโลกมาถ่ายทอดสด นั่นคือ  BBC และ itv (หรือช่อง 3 อังกฤษ) คล้ายๆกับ ทีวีพูล เมื่อก่อน แต่ของเราสี่ช่องหลักนั่นเอง

ที่สำคัญ บีบีซี กับ ไอทีวี ที่อังกฤษ เป็นพันธมิตรมาตั้งแต่บอลโลก 1966 หุ้นซื้อกันมายาวนาน สลับกันถ่ายคนละวันจนครบทุกแมตช์ โดยนัดชิงชนะเลิศถ่ายพร้อมกันเลยสองช่อง

ไม่มีปัญหาอะไร

ที่สำคัญ 2 ช่องนี้ซื้อลิขสิทธิ์บอลโลกเที่ยวหนึ่ง 2 ครั้งเลย นั่นหมายความว่า สองช่องนี้ซื้อปี 2018,2022  ควบกันเลย ซื้อมานานแล้วว่ากันแบบนั้น ถ้าดูจากค่าลิขสิทธิ์ที่จ่ายไปคาดว่าน่าจะประมาณ £ 350 ล้าน ประมาณ14,700 ล้านบาทครับ ตัวเลขนี้ไม่นิ่งนะครับ เพราะประเมินจากบอลโลก 2010-2014 ที่ทั้งบีบีซี และไอทีวี หุ้นกันซื้อที่ £220 ล้าน (11,000 ล้านบาท) พอสองครั้งหลังสุดยังไงก็เพิ่มด้วยสัดส่วนนี้ 

อ้อ…ลิขสิทธิ์ ที่ซื้อนั้นคลอบคลุม 4 แพลทฟอร์ม

ทีวี, วิทยุ, โทรศัพท์, อินเตอร์เนต

มี talk sport ซื้อแค่3 แพลทฟอร์ม  วิทยุ, โทรศัพท์ และเนต 

ส่วนค่าลิขสิทธิ์ของเราใครว่าแพง... เราซื้อถูกกว่าอังกฤษ 10 เท่าเอง 5555

บอลโลกสำหรับประเทศพัฒนาแล้วอย่างอังกฤษมันต้องออกจอ  Free to air หรือฟรีทีวีเท่านั้น ทีวีบอกรับสมาชิกอย่าง สกายสปอร์ต ไม่เข้ามายุ่ง ยกเว้น...ถ้าฟรีทีวี ไม่สามารถซื้อลิขสิทธิ์ได้ นั่นแหละที่ เปย์ทีวี จะเข้ามายื่นมือแทน ซึ่งมันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนครับ

ถามว่า บีบีซี และไอทีวี เอาเงินมาจากไหน

โฆษณาสิครับ...

แผนการตลาดของสองช่องนั้นชัดเจนเพราะรู้ว่าซื้อบอลโลก 2 ครั้งแบบระยะยาว การวางแผนงานง่าย ไม่ต้องมาลุกลี้ลุกลนซื้อก่อนแข่ง 10 วัน อีกทั้ง  BBC นั้นได้รับงบประมาณผ่านกฏหมายจากรัฐบาลอังกฤษมาช้านาน เป็นงบประมาณ ที่เกี่ยวกับค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ติดตั้งดูทีวีของพลเมืองสหราชอาณาจักร หรือ  "ใบอนุญาตทีวี" หรือ TV License ที่อังกฤษ (free tv) ประชาชนต้องจ่ายเงินปีละ £159 ประมาณ6,700 บาท ในการมีทีวีติดอยู่ที่บ้าน 

รายได้ส่วนนี้ไม่น้อยเลยนะครับ ปีละ 20,000 ล้าน (ต่ำสุด)  ที่  BBC ได้รับจากรัฐบาลผ่านกฏหมาย (สามปีข้างหน้ามีการแก้กฏหมาย อาจไม่ได้เงินส่วนนี้แล้ว)

กึ่งทีวีรัฐบาลเหมือนกันสำหรับบีบีซี แต่พวกเขาไม่เคย "อวย" รัฐบาลหรือปิดหูปิดตาประชาชนนะครับ เพราะเงินมาจากประชาชนผ่านมุมกฏหมายทีวี เท่านั้นเอง 

โอเค...จุดนั้นถือว่าเป็นหน้าที่ของ บีบีซี รวมทั้งทีวีเอกชนอย่าง ไอทีวี ที่เป็นฟรีทีวี แล้วลงทุนร่วมกันเพื่อซื้อลิขสิทธิ์บอลโลกมาให้คนยูเค ดูฟรีๆ ทุกนัด

ส่วนที่เยอรมันมีสองช่องนะครับที่ถ่ายสดบอลโลกนั่นคือ ARD และ ZDF เป็นฟรีทีวีที่ซื้อถ่ายทอดสดบอลโลกปี 2018-2022 มาก่อนแล้วด้วยวงเงินใกล้เคียงกับที่อังกฤษครับ 14,00 ล้านบาททั้งสองครั้ง 

ARD  มีรายได้ส่วนหนึ่งคล้ายๆกับ BBC นั่นคือค่าใบอนุญาตทีวี TV License จากประชาชนทุกครัวเรือนที่มีทีวีประจำบ้าน ต้องเสียค่าใบอนุญาต ตามกฏหมาย เดือนละ 18.36 ยูโร ตกปีละ 220 ยูโร คิดเป็นเงินไทยก็ 8,000 บาท ZDF ก็คล้ายๆกันมีงบประมาณแบ่งจากค่าใบอนุญาตทีวี เพียงแต่ ช่องนี้เป็นช่องที่ไม่เน้นทำกำไร ผมว่าคล้ายๆ  NBT บ้านเราอะไรประมาณนั้น 

ผมจำไม่ได้ว่าช่องไหน  ARD หรือ  ZDF  (มีในหนังสือ คลอปป์ยอดคนยอดกุนซือ) ที่ทำให้ เจอร์เก้น คลอปป์ ดังระเบิดเถิดเทิงในบอลโลก 2006 ทั้งที่ยังเป็นโค้ชทีมขนาดเล็กอย่างไมนส์ แต่กลับพูดเรื่องแทกติกฟุตบอลที่ยากๆให้คนเยอรมันเข้าใจได้ง่ายทั้งประเทศ

อ้อ....มีตัวเลขจากบีบีซี รายงานว่า ฟีฟา รับเงินค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกทั้งปี 2018-2022 รวมแล้ว $6.5 พันล้านหรือประมาณ 240,000 ล้านบาท 

เอาแค่สองชาติที่ไปบอลโลกแล้วดำเนินการเรื่องลิขสิทธิ์บอลโลกเป็นตัวอย่าง...

คำถามที่ว่าใคร....ใครกันควรซื้อลิขสิทธิ์บอลโลกมาถ่ายทอดสดให้ชมกันฟรีๆ (หรือไม่ฟรี) ถึงบ้าน

มันควรเป็นหน้าที่ใคร

อ่านบทความของผมแล้ว...มันมีคำตอบครับ


ที่มาของภาพ : getty images
BY : JACKIE
อดิสรณ์ พึ่งยา
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport