ฟีฟ่าขีดเส้นตาย! ไทยต้องปิดดีลลิขสิทธิ์บอลโลกให้ทัน-ยันขายแพ็คเดียว64แมตช์

ฟีฟ่า วางเดดไลน์ 18 พ.ย.65 ไทยต้องปิดดีลซื้อลิขสิทธิ์ ฟุตบอลโลก 2022 และวันที่ 19 พ.ย. ต้องชำระเงินให้เรียบร้อย ขณะที่ท่าทีของฟีฟ่า ล่าสุด ยังไม่ยอมลดราคาให้เหลือ 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ชี้ถ้าไทย จะซื้อในราคาที่ถูกกว่า 38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต้องซื้อเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ส่วน “ฟีฟ่า” ยืนกราน ไม่ยอมขายแพคเก็จย่อย ซื้อตั้งแต่รอบ 2 หรือรอบ 16 ทีมสุดท้ายให้ บังคับให้ซื้อฟูลแพคเก็จ 64 แมตช์เท่านั้น ส่วนการใช้เงินกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ 600 ล้านบาท เพื่อนำไปสมทบค่าลิขสิทธิ์ ผู้ว่าการกกท. เผยต้องนำหารือภายในบอร์ดกองทุนฯก่อน

ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ออกมาเปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ว่า ตอนนี้ กกท. ก็ยังรอคำตอบจากทางสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ผ่านทางเอเยนต์ ที่ประสานงานกันมา อยู่ ซึ่งกกท. ได้ส่งอีเมล์ ขอลดราคาไปอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา เพราะเห็นว่าราคาที่ฟีฟ่าเสนอมา ยังแพงเกินไป แต่ล่าสุดถึงวันที่ 13 พ.ย. 2565 ผ่านไปแล้ว 3 วัน ทางเอเยนต์ฟีฟ่ายังไม่ได้มีการตอบรับกลับมาแต่อย่างใด ซึ่งหากยังไม่มีการตอบรับกลับมา วันที่ 14 พ.ย.นี้  ก็จะทำหนังสือส่งเข้าไปอีกรอบ เพราะเวลากระชั้นเข้ามามากแล้ว 

ผู้ว่าการกกท.เผยอีกว่า ส่วนข่าวจะมีการใช้เงินจากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ 600 ล้านบาท เพื่อนำไปสมทบค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครั้งนี้ ในเรื่องนี้ จำเป็นต้องชะลอเอาไว้ก่อน ต้องหารือกันภายในบอร์ดกองทุนฯ และรอดูท่าทีของฟีฟ่า อีกครั้งด้วย ว่าจะขายค่าลิขสิทธิ์เท่าไหร่ ขณะเดียวกัน นอกจากเอกชน 5 รายที่ กกท. ได้ประสานงานเพื่อให้ช่วยสนับสนุนถ่ายทอดสดแล้ว ตอนนี้ กกท. ก็ยังเดินหน้าหาสปอนเซอร์เพิ่มอีกอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่ใช่แค่เพียงค่าลิขสิทธิ์ ที่ต้องจ่าย หากได้ถ่ายทอด ยังมีค่าภาษี การตั้งศูนย์ถ่ายทอดสด ค่ารับสัญญาณดาวเทียม ค่าเช่าเวลาสถานี เพิ่มมาอีกด้วย  

ทั้งนี้มีรายงานข่าวแจ้งว่า แนวทางที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำเสนอว่า จะเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการประชุมวันอังคารที่ 15 พ.ย.65 เพื่อขอยืมเงินจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติมาสมทบในการไปซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ก่อน แล้วนำเงินจากภาคเอกชนที่หามาได้หลังจากนี้มาคืนให้กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาตินั้น เป็นเพียงแนวคิดก่อนหน้านี้ ซึ่ง "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติไม่เห็นด้วย ดังนั้นในการประชุม ครม. วันที่ 15 พ.ย.65 จะไม่มีการนำเรื่องนี้เสนอต่อที่ประชุม ครม. 

นอกจากนี้ในวันจันทร์ที่ 14 พ.ย.65  สำนักอัยการสูงสุดจะเรียกฝ่ายกฎหมายของ กกท. ไปพูดคุยทำความเข้าใจเรื่องข้อกฎหมายทุกประเด็น ขณะเดียวกัน ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. ต้องไปเซ็นเอ็มโอยู กับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ในงบประมาณที่ได้รับอนุมัติช่วยมาส่วนหนึ่ง 600 ล้านบาท 

รายงานข่าวแจ้งต่อไปอีกว่า เวลานี้มีเงิน 600 ล้านบาทจาก กสทช. และ 400 ล้านบาทจาก 3 บริษัทเอกชนสนับสนุนเพิ่มเติมให้ได้แก่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน), บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ส่วนอีก 2 บริษัทได้แก่ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จํากัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) นั้น ทาง กกท. ส่งหนังสือขอรับการสนับสนุนเข้าไปเมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา และติดวันเสาร์-อาทิตย์ จึงยังไม่มีการตอบกลับมา

ด้านท่าทีฟีฟ่าล่าสุด คือ ไม่ยอมลดราคาให้เหลือ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยบอกว่า ถ้าไทยจะซื้อในราคาที่ถูกกว่า 38 ล้านเหรียญสหรัฐ ต้องซื้อเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เวลานี้ฟีฟ่า ยืนกรานว่า ไม่ยอมขายแพคเก็จย่อยคือ ซื้อตั้งแต่รอบ 2 หรือรอบ 16 ทีมสุดท้าย แต่บังคับให้เราซื้อฟูล แพคเก็จ 64 แมตช์เท่านั้น ส่วนกระบวนการขั้นตอนการซื้อ ฟีฟ่าได้ขีดเส้นตายไว้คือ ภายในวันที่ 18 พ.ย.นี้ ต้องปิดดีลกับฟีฟ่าให้สำเร็จ จากนั้นในวันที่ 19 พ.ย.65 ก่อนเตะนัดแรกฟุตบอลโลก 2022 จะต้องโอนเงินทั้งหมดไปให้ฟีฟ่า พร้อมภาษี 15 เปอร์เซ็นต์ โดยตอนนี้มี 2 ทางเลือกในเวลานี้ คือ 1. ยอมซื้อในราคา 1,600 ล้านบาท หรือ 2.ไม่ซื้อเลย


ที่มาของภาพ : -
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport