วิเคราะห์ผลงาน วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ในศึก เนชั่นส์ ลีก 2025 แม้รอดตกชั้นแต่ยังมีจุดอ่อนชัดเจน ทั้งเกมรับไม่เหนียว, เสิร์ฟไม่ตัดเกม, บอลหัวเสาไร้ความเฉียบขาด ก่อนลุย ซีวีลีก และ ชิงแชมป์โลก ปลายปีนี้
เชื่อว่าแฟนกีฬาชาวไทย ต่างลุ้นระทึกไปตามๆกัน ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 14 กรกฎาคม 68 ที่ผ่านมา ในแมตช์ที่ทัพวอลเลย์บอลหญิงไทย พ่ายแคนาดาไป 2-3 เซต
ความพ่ายแพ้ดังกล่าว ในเกมสุดท้ายของสัปดาห์ที่ 3 หรือนัดสุดท้ายรอบเก็บคะแนนของศึกเนชั่นส์ลีก 2025 มันทำให้ทัพลูกยางสาวไทย ได้ 1 แต้มอันล้ำค่า จนขยับหนีอันดับสุดท้ายได้สำเร็จ พร้อมกับรอดพ้นจากการตกชั้นอย่างหวุดหวิด ส่งผลให้ VNL ปีหน้า ยังมีทีมไทยแลนด์ ร่วมดวลเพลงตบในศึกเนชั่นส์ลีกด้วย
โดยเรามีสถิติชนะ 1 แพ้ 11 นัดเท่ากับเกาหลีใต้ แต่ไทยมี 6 คะแนน ขณะที่ทัพตบสาวจากแดนโสมมี 5 คะแนน จึงตกชั้นจากเนชั่นส์ลีก
แม้แฟนลูกยางส่วนใหญ่ จะยินดีปรีดา กับภารกิจรอดพ้นจากการตกชั้นในหนนี้สำเร็จ แต่หากมองให้ลึกลงไป ถึงผลงาน 12 แมตช์ในศึกเนชั่นส์ลีกหนนี้ ก็จะพบว่าทีมตบสาวแดนสยาม มีผลงานไม่โสภาสถาพรเท่าใดนัก
ตลอด 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เราเอาชนะคู่แข่งได้เพียง 1 แมตช์เท่านั้น ในเกมที่คว้าชัยเหนือฝรั่งเศส 3-1 เซต ในสัปดาห์แรกที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนอีก 11 เกมคือความปราชัย
มี 3 แมตช์ที่เราพ่ายแพ้แบบมีแต้ม นั่นก็คือนัดพ่ายญี่ปุ่น 2-3 เซต ในสัปดาห์ที่ 2 ณ เขตปกครองพิเศษฮ่องกง, แพ้บัลแกเรีย 2-3 เซต ในสัปดาห์ที่ 2 ที่ฮ่องกงเช่นกัน และล่าสุดนัดสุดท้ายของสัปดาห์ที่ 3 ที่พ่ายแคนาดา 2-3 เซตที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จนได้ 1 แต้มอันล้ำค่า จนรอดจากการตกชั้นแบบหืดจับ
จากผลงานดังกล่าว ส่งผลให้แฟนลูกยางบ้านเราต่างวิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ทั้งๆที่ทีมชุดนี้ ถูกตั้งความหวังไว้สูง เนื่องจากเพิ่งได้ “โค้ชอ๊อต” เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร ผู้ปลุกปั้นทัพลูกยางสาวไทยจากทีมระดับอาเซียน ให้ก้าวขึ้นมาเป็นทีมระดับเอเชียและระดับโลกเมื่อครั้งอดีต หวนกลับมาคุมทัพอีกครั้ง
ทว่าเมื่อลงทำศึก VNL หนนี้ ผลงานไม่ดีดั่งที่ควรจะเป็น จนเกือบตกชั้น เล่นเอาสาวกลูกยางบ้านเราต่างต้องลุ้นเหนื่อยไปตามๆกัน
ในโอกาสนี้ ทีมงาน SIAMSPORT จะชำแหละผลงานโดยรวมของทัพตบลูกยางสตรีสยาม ในศึกเนชั่นส์ลีก 2025 มาให้กับแฟนกีฬาทุกท่านได้รับชมกัน
1. เกมรับไม่เหนียวแน่น
ในหลายๆแมตช์ของ VNL ครานี้ เห็นได้ชัดว่าเกมรับที่เคยเป็นจุดเด่นของทีมไทยในยุค 7 เซียน ไม่เหนียวแน่นเหมือนดังเดิม โดยเฉพาะการรับลูกเสิร์ฟ ที่รับบอลแรกแล้วไม่เข้าเซตเตอร์โซน ส่งผลให้ตัวเซต(พรพรรณ เกิดปราชญ์ และ ณัฐณิชา ใจแสน) ต้องเคลื่อนที่ไปเล่นบอล 2 นอกเซตเตอร์โซน และทำได้แค่ยกสูงไปที่หัวเสาทั้งสองฝั่งเท่านั้น ทำให้บล็อกคู่แข่งจับทางได้ง่าย
นอกจากนี้ ยังมีหลายช็อตที่เรารับบอลแรกไม่ได้ จนทำให้คู่แข่งเสิร์ฟเอซอยู่หลายหน
2. ลูกเสิร์ฟตัดเกมรุกคู่แข่งไม่ได้
เมื่อทีมไทยได้เป็นฝ่ายเสิร์ฟ ก็จะพบว่าไม่สามารถเสิร์ฟตัดเกมรุกคู่แข่งได้ คู่แข่งรับบอลแรกเข้าเซตเตอร์โซนได้สบาย ก่อนจะเล่นเกมรุกอันเฉียบขาดโต้กลับมา ซึ่งการเล่นกับทีมระดับโลก เราต้องมีทีเด็ดจากการเสิร์ฟมากกว่านี้ อาจไม่ถึงขั้นเสิร์ฟเอซ แต่ต้องเสิร์ฟยังไงก็ได้ ให้คู่แข่งรับบอลแรกไม่เข้าเซตเตอร์โซน
3. บอลหัวเสาไม่เฉียบขาด
เชื่อว่าแฟนวอลเลย์บอลคงมีความเห็นคล้ายๆกันกับประเด็นนี้ ที่บอลหัวเสาของเราไม่ว่า ไม่เฉียบขาดในการขึ้นตีดั่งที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะช็อตแก้ไขที่มักตีติดบล็อกจนเสียแต้มเป็นประจำ
หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเพราะสรีระนักกีฬาเราไม่สูง จึงตีผ่านบล็อกที่สูงใหญ่ของหลายๆชาติยาก ทว่าทีมอย่างญี่ปุ่น ก็มีสรีระรูปร่างที่ใกล้เคียงกับทีมไทย โดยเฉพาะ มายุ อิชิคาวะ บอลหัวเสากัปตันทีมของญี่ปุ่น ที่มีส่วนสูงเพียง 174 เซนติเมตร(สูงน้อยกว่านักกีฬาไทยหลายๆคน) แต่ก็ยังเป็นตัวหลักในการทำแต้มทัพตบสาวซามูไร ซึ่งเธอมีวิธีในการตีเรียกแต้มที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการตีทัชเอาต์ หรือตีฉีกหนีบล็อกให้ลงในแดนคู่แข่ง
ทั้งนี้ อาจะเป็นเพราะว่าผู้เล่นตัวหลักในตำแหน่งบอลหัวเสาของทีมตบสาวไทยอย่าง “บุ่มบิ๋ม” ชัชชุอร โมกศรี มีสภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ด้วย แถม “มด” วิภาวี ศรีทอง ก็มีอาการบาดเจ็บยาวมาตั้งแต่เล่นให้กับสโมสรฮุนได ฮิลล์สเตรท ในลีกเกาหลีใต้ จนไม่ติดทีมชุดนี้ ขณะที่ “เพียว” อัจฉราพร คงยศ ยังอยู่ในช่วงฟอร์มที่ดร็อปลงไป ส่วน “เฟิร์น” วริศรา สีทาเลิศ กับ “ยูฟ่า” ดลพร สินโพธิ์ ยังอ่อนประสบการณ์ในเกมนานาชาติมากเกินไป และยังคงต้องการชั่วโมงบินมากกว่านี้
เชื่อว่าทั้งหมดทั้งมวล “โค้ชอ๊อต” เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร คงทราบถึงข้อบกพร่องเป็นอย่างดี และต้องรีบหาทางแก้ไข ก่อนที่จะดวลเพลงตบในอีก 2 รายการสำคัญต่อจากนี้ นั่นก็คือศึกซีวีลีก 2025 และรายการชิงแชมป์โลก 2025 ที่บ้านเราเป็นเจ้าภาพ