เคบียู สปอร์ต โพล โดยศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ ม.เกษมบัณฑิต เผยผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างประชาชนแฟนกีฬาชาวไทยเรื่อง "ซีเกมส์ 2025 กับมิติการพัฒนาและความคาดหวัง" พบเสียงส่วนใหญ่ร้อยละ 46 เชื่อไทยจะกลับมาทวงคืนเจ้าเหรียญทอง มองมหกรรมนี้สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ
จากการที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ระหว่างวันที่ 9 -20 ธันวาคม 2568 นั้น เพื่อเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมและสะท้อนมุมมองของประชาชนในมิติที่เกี่ยวกับการจัดการแข่งขัน KBU SPORT POLL (เคบียู สปอร์ต โพล) โดยศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ร่วมกับสถาบันการจัดการกีฬา เพื่อองค์กรกีฬา (WISDOM) จึงสำรวจความคิดเห็นเรื่อง "ซีเกมส์ 2025 กับมิติการพัฒนาและความคาดหวัง"
สำหรับการสำรวจดังกล่าวดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 1-3 กรกฎาคม 2568 โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนทั่วไป จำนวน 1,157 คน โดยแบ่งเป็นเพศชายจำนวน 592 คน คิดเป็นร้อยละ 51.16 เพศหญิง จำนวน 486 คน คิดเป็นร้อยละ 42.00 และ LTBGTQIA+ จำนวน 79 คน คิดเป็นร้อยละ 6.82 ซึ่งผลการวิเคราะห์ในภาพรวมพบว่า
การรับทราบที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 43.80 ทราบ รองลงมา ร้อยละ 35.90 ไม่ทราบ และร้อยละ 20.30 พอจะทราบอยู่บ้าง
ความสนใจที่จะติดตามการแข่งขัน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.72 สนใจ รองลงมา ร้อยละ 35.81 ไม่แน่นอนแล้วแต่โอกาส และร้อยละ 11.47 ไม่สนใจ
ความคาดหวังที่มีต่อการพัฒนาและยกระดับการจัดการแข่งขัน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 31.51 ยกระดับและพัฒนาการจัดการแข่งขันสู่มาตรฐานสากล รองลงมา ร้อยละ 28.39 ยกระดับและเตรียมความพร้อมนักกีฬาทีมชาติสู่ความเป็นเลิศ, ร้อยละ 15.60 ยกระดับมาตรฐานความพร้อมของสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก, ร้อยละ 13.07 ยกระดับการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การจัดการแข่งขัน, ร้อยละ 9.48 ประชาชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าภาพและเจ้าบ้านที่ดี และอื่นๆร้อยละ 1.95
ความคาดหวังและประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ส่วนใหญ่ร้อยละ 28.75 สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ รองลงมา ร้อยละ 24.03 สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ, ร้อยละ 21.58 สร้างการรับรู้และเผยแพร่แหล่งท่องเที่ยวของประเทศ, ร้อยละ 14.63 สร้างแรงจูงใจและการตื่นตัวในการเล่นกีฬาและออกกำลังกายของประชาชน, ร้อยละ 9.71 สร้างการรับรู้ในประเพณีและวัฒนธรรมให้กับนักกีฬา/เจ้าหน้าที่ต่างชาติ และอื่นๆร้อยละ 1.30
โอกาสและความคาดหวังที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าเหรียญทอง ส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.38 มีโอกาสค่อนข้างมาก รองลงมา ร้อยละ 42.55 มีโอกาสมาก, ร้อยละ 7.06 มีโอกาสค่อนข้างน้อย, ร้อยละ 3.1 มีโอกาสน้อย และร้อยละ 0.83 ไม่มีโอกาสเลย
ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ในปลายปีนี้นั้นประชาชนหรือกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ต่างรับทราบและสนใจที่จะติดตามการแข่งขัน แต่ในทางกลับกันหากพิจารณาถึงกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ทราบในมิติที่เกี่ยวกับการจัดการแข่งขันก็พบว่ามีตัวเลขหรือเปอร์เซ็นต์ที่สูงอยู่พอสมควรเช่นกัน ซึ่งในมิตินี้อาจจะเนื่องจากความผันผวนหรือสภาวการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและสังคมโดยเฉพาะปัญหาปากท้องและอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตประจำวันจึงส่งผลให้กระแสที่มีต่อการจัดการแข่งขันไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรก็อาจจะเป็นได้
ผศ.ดร.รัฐพงศ์ เผยอีกว่า อย่างไรก็ตามในฐานะที่กีฬาซีเกมส์เป็นมหกรรมที่ยิ่งใหญ่ของชาวอาเชียน ประกอบกับในโอกาสที่ประเทศไทยจะได้แสดงศักยภาพให้ต่างชาติได้เห็นถึงความพร้อมในการจัดการแข่งขัน และเหนืออื่นใดคือการกลับมาทวงคืนความเป็นเจ้าเหรียญทองเพื่อสร้างความสุขให้กับชาวไทยอีวาระหนึ่ง ดังนั้นในเวลาที่เหลืออยู่คณะกรรมการจัดการแข่งขันคงจะต้องเร่งขับเคลื่อนการเตรียมความพร้อมในทุกมิติ และที่สำคัญคือการสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วยการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ผ่านช่องต่างๆให้มากกว่าที่เป็นอยู่