มาครบฉายาคนกีฬา!ประมุขบอลไทย"ไม่อาย ไม่ออก",เทพบิวติดโผด้วย

สมาคมนักข่าวช่างภาพกีฬาแห่งประเทศไทย หยิกแกมหยอก ตั้งฉายาคนกีฬาไทยประจำปี 2565 โดย ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการกกท. ได้ฉายา "ผู้ว่าฝ่าลิขสิทธิ์" ส่วนคุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ไอโอซีเมมเบอร์หญิงแกร่ง ได้ฉายา "ไอโอซี ซี้ย้ำปึ้ก" ขณะที่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง นายกลูกหนังไทย ได้ฉายา "ไม่อาย ไม่ออก" ด้าน "บิว" ภูริพล บุญสอน ที่แจ้งเกิดในปี 2022 ได้ฉายา "เร็ว แรง ไม่เกรงใจสถิติ" ส่วน "เทนนิส" พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ได้ฉายา "ทรงไม่แพ้ แชมป์อย่างบ่อย" ส่วน นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้จัดทีมฟุตบอลชาติไทย ได้ฉายา "ก็แป้งไง จะใครล่ะ"

ถือเป็นธรรมเนียมของวงการกีฬา เมื่อสิ้นสุดปีจะมีการตั้ง "ฉายาคนกีฬา" ในแต่ละปี สมาคมนักข่าวช่างภาพกีฬาแห่งประเทศไทย ได้ปฏิบัติสืบกันมาตลอด โดยตั้ง "ฉายา" ให้กับบุคลากรทางการกีฬา ทั้งนักกีฬา,โค้ช, ผู้บริหารมีทั้งการเอาผลงานที่โดดเด่น และความล้มเหลว หรือบุคลิก คาแร็คเตอร์ส่วนตัวเอามาเป็นฉายาของแต่ละคนเพื่อเป็นการ ล้อเลียน หยิกแกมหยอก สำหรับ "ฉายา คนกีฬา ปี 2565" ใครที่โดดเด่นบ้าง มีดังนี้

เริ่มต้นกันด้วย ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการกกท. ฉายา "ผู้ว่าฝ่าลิขสิทธิ์" "บิ๊กก้อง" ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย แม้จะเป็นหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนสมาคมกีฬาในประเทศไทย ให้มีผลงานประจักษ์ ในการส่งเสริมและพัฒนานักกีฬาไทยในด้านต่างๆ แต่ในเรื่องที่ไม่ถนัดอย่างเรื่องลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ แม้จะได้รับโจทย์ได้ไม่กี่วันจากรัฐบาล ในการประสานซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกมาให้คนไทยได้ดู แม้จะมีปัญหาปัจจัยหลายด้านรุมเร้าถาถมเข้ามา แต่ก็สามารถปิดดีลในการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกมาให้คนไทยได้ชม 

และแม้จะมีปัญหาเรื่องไม่เข้าใจกันบ้างจาก กสทช.ที่มีข่าวจะขอเอาเงิน 600 ล้านบาทคืนก็ตาม และยังประสานดีลดึงลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน 2022 มาให้คนไทยได้ชม ในแมตซ์ที่สอง หลังไม่มีภาคเอกชนให้ความสนใจจนเป็นดราม่าในโชเซียลจนแฟนบอลถล่มสมาคมฟุตบอล และรัฐบาล หลังผ่านไป 1 นัด แฟนบอลชาวไทยม่าได้ชมทางฟรีทีวี ต้องไปดิ้นรนหาชมทางช่องทางธรรมชาติแทน

ส่วน คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ฉายา "ไอโอซี ซี้ย้ำปึ้ก" คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซีเมมเบอร์), รองประธานสหพันธ์แบดมินตันโลก และนายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นผู้กว้างขวางมากบารมีของวงการกีฬาในระดับโลก และเป็นผู้ประสานงานได้ทุกเรื่อง และได้รับเชิญเป็นแขกวีไอพีเข้าร่วมงานระดับโลกมากมาย แถมยังสามารถดึงกีฬาแบดมินตันเวิลด์ ทัวร์ ไฟนัลส์ 2022 ที่จีนไม่พร้อมจัด มาจัดที่เมืองไทยแทน และจัดได้อย่างยอดเยี่ยมแม้จะเตรียมการเพียงไม่กี่วัน นอกจากนี้ยังเป็นผู้ประสานสิบทิศในแวดวงกีฬาในหลายๆสหพันธ์ ล่าสุดมีส่วนช่วยประสานงานการเจรจากับจันนี อินฟันตีโน ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า เรื่องลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ที่เมืองไทยอีกด้วย

ด้าน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง  ได้ฉายา  "ไม่อาย ไม่ออก" พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ พูดถึงผลงานของทีมช้างศึกในยุคนี้ถือว่าย่ำแย่และตกต่ำอย่างมาก ทุกชุดต่างพ่ายแพ้เวียดนามเรียบตั้งแต่ชุดเยาวชนไปยันชุดใหญ่ ผลงานในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกก็น่าผิดหวัง, ในศึกฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน "คิงสคัพ" ครั้งล่าสุด ก็แพ้มาเลเซีย ชวดเข้ารอบชิงชนะเลิศ, ผลงานของทีมชาติ U-23 ปี ก็ย่ำแย่ไม่แพ้กัน ถึงขนาดแพ้ให้กับ สปป.ลาว ที่ไม่ว่าชุดไหนทีมไทยก็ไม่เคยเป็นรอง แม้จะเป็นแค่เกมอุ่นเครื่องแต่ก็ทำให้แฟนบอลเกิดความเสื่อมศรัทธาอย่างมาก 

จนกระทั่งเกิดกระแสแฟนบอลในโลกโซเชียลต่างพากันไล่ให้ "บิ๊กอ๊อด" ลาออกจากตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลฯ แต่ "บิ๊กอ๊อด" ก็ไม่รู้สึกร้อนหนาวแต่ประการใด ยังนิ่งและไม่ออกมาเคลื่อนไหวหรือให้สัมภาษณ์ และก็ไม่แสดงความรับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น ต่างจากสมัยแรกที่เคยพูดอย่างเต็มปากเต็มคำว่า "ใครไม่อายผมอาย" แต่ยุคนี้กลับไม่มีความอายในความคิดของ "บิ๊กอ๊อด" แต่อย่างใด สรุปง่าย ๆ ไม่อาย และไม่ออก

ด้าน พลเอกเดชา เหมกระศรี ได้รับฉายา "หมึกติดเทอร์โบ" จากการที่ "เสธ.หมึก" พลเอกเดชา นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ เป็นคนที่คิดไวทำไว โครงการหรือนโยบายการบริหารจัดการภายในสมาคมกีฬาจักรยานฯ จึงมีอะไรใหม่ๆ ออกมาเสมอ อย่างในช่วงที่มีโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนัก ก็จัดกิจกรรม "ปั่นในบ้านต้านโควิด" ล่าสุดก็จัดกิจกรรมหนูน้อยขาไถ ชิงแชมป์ประเทศไทย จนได้รับความนิยมอย่างสูง เรียกว่าเป็นนายกสมาคมกีฬาที่คิดปุ๊บทำปั๊บจนกลายเป็นสมาคมที่นำหน้าคนอื่นอยู่ตลอด


ขณะที่ "บิว" ภูริพล บุญสอน ได้ฉายาว่า "เร็ว แรง ไม่เกรงใจสถิติ" หลังจาก "บิว"ภูริพล บุญสอน จากเด็กโนเนมไม่มีใครรู้จักอายุน้อยเพียงแค่ 16 ปีจากสมุทรปราการ แต่กลับสร้างชื่อทำลายสถิติประเทศไทย และสถิติกีฬาแห่งชาติ ในการแข่งขันวิ่ง 100 เมตร และ 200 เมตร ทำลายสถิติเดิมของเหรียญชัย สีหวงษ์ ในรอบหลายปี ในกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 47 "ศรีสะเกษเกมส์ ก่อนจะทำผลงานในระดับชาติครั้งแรกสร้างผลงานกระหึ่มในศึกซีเกมส์ ในการทำลายสถิติเหรียญทอง วิ่ง 200 เมตรชาย พร้อมทำลายสถิติซีเกมส์ ที่ถูกจารึกไว้ตั้งแต่ ซีเกมส์ 1999 ที่ประเทศบรูไน โดยทุบสถิติได้ตั้งแต่ในรอบคัดเลือก และทุบสถิติตัวเองอีกครั้งในรอบชิงชนะเลิศด้วยเวลา 20.41 วินาที และ 20.37 วินาที ตามลำดับ ก่อนจะคว้าเหรียญเหรียญทอง วิ่ง 4 คูณ 100 เมตรชาย 

และในการแข่งขันวิ่ง 100 เมตรชาย ในการแข่งขันกรีฑาเยาวชนชิงแชมป์โลก 2022 "เทพบิว" ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ในฐานะผู้ที่ทำเวลาได้ดีที่สุดจากรอบรองชนะเลิศด้วยสถิติ 10.09 วินาที ก่อนในรอบชิงชนะเลิศจะวิ่งจบอันดับที่ 4 ของโลกในรุ่นเยาวชน จากนั้นยังสร้างชื่ออีกครั้งในกรีฑาเยาวชนชิงแชมป์โลก 2022 อายุไม่เกิน 20 ปี ที่โคลอมเบีย แม้ว่าจะไม่มีเหรียญติดมือ แต่สถิติในการแข่งขัน รอบรองชนะเลิศ ที่"บิว"ทำไว้ 10.09 วินาที สามารถเป็นสถิติที่เร็วที่สุดของโลก ในบรรดานักกีฬาชายที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ทั่วโลก และคว้าอันดับ 4 ก่อนจะไปสร้างชื่อในกรีฑายุวชนชิงชนะเลิศแห่งเอเชียครั้งที่ 4 หรือ เอเชียนแอธเลติกแชมเปี้ยนชิพ 2022 ที่คูเวต

นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้จัดทีมฟุตบอลชาติไทย ฉายา "ก็แป้งไง จะใครล่ะ" เมื่อเอ่ยชื่อ "มาดามแป้ง" ต้องคิดถึงฟุตบอล ทั้งสโมสรการท่าเรือ และทีมชาติไทย ในยามที่สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ไร้ผู้จัดการทีมชาติ ก็ได้ "มาดามแป้ง" สวมบทนารีขี่ม้าขาวกระโดดเข้ามารับผิดชอบ ทั้งทีมชาติชุดใหญ่ และยู-23 ปี ต้องยอมรับว่าไม่มีใครทำได้เช่นนี้แม้กระทั่งผู้ชายอกสามศอก รวมไปถึงการปลุกใจนักเตะด้วยการควักเงินสาวนตัวมาอัดฉีดเป็นรางวัลในการคว้าชัยชนะ ล่าสุดก็ ประกาศอัดฉีดทีมชาติชุดใหญ่ 5 ล้านบาท หากทะลุเข้ารอบตัดเชือกศึกฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน (เอเอฟเอฟ) ได้สำเร็จ

ด้าน "เทนนิส" พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ฉายา "ทรงไม่แพ้ แชมป์อย่างบ่อย" โดย "เทนนิส" พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ เจ้าของแชมป์โอลิมปิกเกมส์ 2020 ทำผลงานโดดเด่นในการแข่งขันในปีนี้ คว้าแชมป์ เทควันโด เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ ไฟนัลส์ ไป 5 แชมป์ ในปี 2022 และเป็นแชมป์ ที่ 45 ของเทนนิส พร้อมทั้งยังครองเบอร์ 1 ในรุ่น 49 กิโลกรัม โดยในปี 2022 "เทนนิส" แพ้เพียงครั้งเดียว ให้กับ ดาเนียลา เปาโล ซูซา จากเม็กซิโก ในศึกชิงแชมป์โลก ที่เม็กซิโก ทำได้เพียงเหรียญทองแดงกลับมา 

ทว่า "เทนนิส" มาล้างแค้นสำเร็จในรอบรองชนะเลิศในศึกเวิลด์กรังปรีซ์ ไฟนอล ที่ซาอุดิอาระเบีย ที่เป็นรายการสุดท้ายของปี ก่อนจะคว้าเหรียญทองกลับมาให้คนไทยได้ชื่นชม พร้อมกับรางวัลนักกีฬายอดเยี่ยมหญิงแห่งปี 2022 "Female Athlete of the year 2022" เป็นครั้งที่ 2 ต่อจากปี 2019 จากสหพันธ์เทควันโดโลกอีกด้วย

ส่วน "ต๋อง ศิษย์ฉ่อย" วัฒนา ภู่โอบอ้อม ฉายา "เทอร์นาโดอ่อนแรง" โดย "ต๋อง ศิษย์ฉ่อย"วัฒนา ภู่โอบอ้อม นักสนุกเกอร์จอมเก๋า วัย 52 ปี อดีตมือ 3 ของโลก สร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองซีเกมส์ ครั้งที่ 31 จากประเภทบุคคลชาย 15 แดง ซึ่งเป็นเหรียญทองซีเกมส์เหรียญแรกในชีวิตของ "ต๋อง ศิษย์ฉ่อย" หลังจากสร้างประวัติศาสตร์ในการคว้าเหรียญทองในซีเกมส์ กลับมาสร้างกระแสให้วงการสนุกเกอร์ของ"เทอร์นาโด"กลับมาผงาดอีกครั้งในแวดวงสอยคิวไทย 

แต่ในการเลือกตั้งนายกสมาคมบิลเลียดแห่งประเทศไทยครั้งล่าสุดในปีนี้ "ต๋อง" ให้การสนับสนุน "เอสวัน" ไชยพงศ์ กรวสุรมย์ ผู้จัดการบิลเลียดทีมชาติไทย ลงเลือกตั้งนายกสมาคมแข่งกับ "บิ๊กฮง"สุนทร จารุมนต์ นายกสมาคมคนเก่า ก่อนที่"เอสวัน"ที่ "ต๋อง"ให้การสนับสนุนจะแพ้การเลือกตั้งไป


"ก้อง" สมเกียรติ จันทรา นักแข่งโมโต 2 ฉายา "บิดก้องโลก" โดย "ก้อง" สมเกียรติ จันทรา  ผลผลิตของโครงการ "ฮอนด้า เรซ ทู เดอะ ดรีม" ปัจจุบันสังกัด อิเดมิสึ ฮอนด้า ทีม เอเซีย เริ่มเข้ามาอยู่ในใจแฟนกีฬาชาวไทยมากขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก "โมโตจีพี"  เป็นปีที่ 4 สร้างผลงานจับต้องได้ ฤดูกาล 2022 "ก้อง" สามารถขึ้นไปสู่ระดับท็อปของ โมโตทู ปลดล็อกคว้าชัยชนะครั้งแรกของตนเองใน "เวิลด์ กรังด์ปรีซ์" ตั้งแต่สนาม 2 ที่ มันดาลิกา ประเทศอินโดนีเซีย สร้างปรากฏการณ์เป็นนักบิด "อาเซียน" ที่ขึ้นไปสู่ระดับ "เวิลด์คลาส" จนถูกจับตามองไปทั่วโลก หลังจากขึ้นไปยืนโพเดี้ยมสูงสุด ที่ อินโดนีเซีย 

ไม่เท่านั้นสนามที่ เทอร์มาส เดอ ริโอ ฮอนโด้ ประเทศอาร์เจนตินา "ก้อง" ยังคว้าอันดับ 2 จากการไล่บดชิงอันดับหนึ่งกับ เชเลสติโน วิเอ็ตติ เต็งแชมป์โลกขณะนั้นอย่างสุดมันส์ หลังจากนั้น ก้อง พลาดไปหลายสนาม กว่าจะกลับขึ้นมายื่นโพเดี้ยมอีกครั้งในอันดับ 3 ที่ เลอ มองส์ สนามระดับตำนานในฝรั่งเศส ทำให้นักบิดไทยเก็บ 3 โพเดียมจาก 7 สนามแรก ซึ่งถือเป็นผลงานที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับนักบิดที่มาจาก "อาเซียน" มาถึงสนาม ที่ เรดบูล ริง ประเทศออสเตรีย "ก้อง" ก็คว้าโพเดี้ยมที่ 4 ด้วยการคว้า อันดับ2 มาครอง จากนั้น "ก้อง" จบเลขตัวเดียวแทบทุกสนาม เมื่อจบฤดูกาล 2022 สามารถครองอันดับ 10 ของโลกซึ่งถือเป็นสถิติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับนักแข่งจากอาเซียน

ขณะที่ วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ได้รับฉายา "ตบสาวขวัญใจมหาชน" ทั้งนี้เมื่อพูดถึงกีฬาวอลเลย์บอลสาว ทีมชาติไทยแล้ว แฟนกีฬาทั่วประเทศต้องตอบรับเป็นเสียงเดียวกันว่า"สุดยอด" แถมยังเป็น "ป็อบปูล่า ฟีเวอร์" จน FIVB สหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ มักจะหยิบยกรูป และลีลาท่าทางของนักตบสาวไทยแต่ละคน โดยเฉพาะ "ท่าแดนซ์" เอามาขึ้นหน้าปก เพจต่างๆ รวมทั้งการเสนอเรื่องราวของทีมตบสาวไทยจนเป็นที่อิจฉาไปทั่ว ที่ฮอตสุดก็อินสตาแกรม ทีมนักตบสาวไทยร้อนเป็นไฟ มีหนุ่มๆทั่วโลกเข้าไปส่องเป็นอันดับต้นๆของโลก 

ที่สำคัญปี 2565 ถือเป็นปีทองของ "สายเลือดใหม่" แต่กลับสร้างผลงานในปี 2565 ได้น่าประทับใจ เริ่มจากคว้าอันดับ 8 เนชั่นส์ลีก ด้วยการสร้างประวัติศาสตร์เข้ารอบไฟนอลส์ ต่อด้วยคว้าอันดับ 3 เอวีซี คัพ ก่อนจะมาคว้าแชมป์ในศึก อาเซียน กรังด์ปรีซ์ ขณะที่รายการชิงแชมป์โลก2022 ทีมลูกยางสาวไทยก็ทำผลงารนได้อย่างยอดเยี่ยมด้วยการคว้าอันดับ 13 เรียกว่าฟอร์มดี มีลุ้นไปโอลิมปิก2024 ที่ฝรั่งเศสค่อนข้างสูง ปัจจุบันรั้งอันดับ15 ของโลก และเป็นเบอร์ 3 เอเชีย

ส่วน "โปรจีน" อาฒยา ฐิติกุล ฉายา "ดาวรุ่งพุ่งไม่หยุด" โดย "โปรจีน" อาฒยา ฐิติกุล หลังจากทำผลงานดีกวาดรางวัลในเลดี้ส์ ยูโรเปี้ยนทัวร์ เมื่อปีที่แล้ว โปรจีนได้รับการจับตามองว่าจะสร้างผลงานยอดเยี่ยมในการเข้าร่วมแอลพีจีเอทัวร์เต็มตัวในปีนี้ และสาวน้อยมหัศจรรย์วัย 19 ปี จาก จ.ราชบุรี ไม่ทำให้ผิดหวัง คว้าแชมป์แอลพีจีเอทัวร์ได้ถึง 2 รายการ พร้อมคว้ารางวัลนักกอล์ฟหน้าใหม่ยอดเยี่ยมแห่งปี "รุกกี้ ออฟ เดอะ เยียร์" รวมถึงก้าวขึ้นไปเป็นมือ 1 ของโลกได้ 2 สัปดาห์ ก่อนปิดฤดูกาลในอันดับ 3 ของโลก และเป็นหนึ่งในนักกอล์ฟที่สื่อคาดหวังว่าจะร้อนแรงที่สุดในปีหน้า

ด้าน "โปรหมาย" ประหยัด มากแสง ฉายา “ลุงซู่ซ่าล่าเงินเยน” โดย"โปรหมาย" ประหยัด มากแสง โปรมือเก๋าของไทยวัย 56 ปี ปักหลักเล่นอยู่ในเจแปน ซีเนียร์ ทัวร์ มาตั้งแต่ปี 2016 และคว้าแชมป์ได้อย่างต่อเนื่องระหว่างปี 2016-2019 ก่อนที่การแข่งขันจะหยุดชะงักลงเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อกลับมาแข่งขันอีกครั้งในปีนี้ โปรหมายโชว์ฟอร์มได้อย่างร้อนแรง คว้าถึง 6 แชมป์ติดต่อกัน ทำให้คว้าแชมป์เจแปน ซีเนียร์ ทัวร์ ไปแล้ว 21 รายการ และคว้ารางวัลเงินรางวัลสะสมสูงสุดของทัวร์เป็นหนที่ 4 อีกด้วย

ปิดท้ายที่ "บาส" เดชาพล พัววรานุเคราะห์ กับ "ปอป้อ" ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย ฉายา “ตบคู่จบไม่สุด” โดย "บาส" เดชาพล พัววรานุเคราะห์ กับ "ปอป้อ" ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย แบดมินตันคู่ผสมมือ 1 ของไทย ในรอบปี 2565 นับเป็นอีกปีที่น่าประทับใจสำหรับนักแบดมินตันคู่ผสมมือ 1 ของไทย เมื่อสามารถคว้าแชมป์ได้ถึง 3 รายการ และรองแชมป์อีก 3 รายการ แต่เมื่อเทียบกับปีที่แล้วอาจจะไม่ร้อนแรงเท่า โดยมาปีนี้ บาสและปอป้อพลาดท่าตกรอบสามศึกแบดมินตันชิงแชมป์โลกที่ตัวเองเป็นแชมป์เก่า รวมถึงพ่ายให้คู่ปรับสำคัญจากจีน เจิ้ง ซีเว่ย และหวง หย่าเฉียง ในรายการเวิลด์ ทัวร์ ไฟนอลส์ ที่ตัวเองเป็นแชมป์เก่าเช่นกัน ซึ่งผลงานในปีนี้ทำให้บาสและปอป้อหล่นจากมือ 1 โลกไปปิดฤดูกาลเป็นคู่มือ 2 ของโลกในประเภทคู่ผสมในปีนี้




ที่มาของภาพ : -
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport