คณะกรรมการซอฟต์เพาเวอร์มวยไทย ลงพื้นที่เกาะสมุย เยี่ยมชมค่ายมวย 3 แห่งชื่อดัง พร้อมมอบใบรับรองมาตรฐานค่ายที่ผ่านเกณฑ์ ยก “Punchit Gym” เป็นต้นแบบการบริหารที่ประสบความสำเร็จ ดึงชาวต่างชาติร่วมฝึกวันละกว่า 100 คนโดยมีเป้าหมายผลักดัน "มวยไทย" สู่เวทีโลก ผ่านการพัฒนาในเชิงกีฬา การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมต่อยอดสู่โอกาสใหม่สำหรับนักโทษที่ผ่านการฝึกฝนมวยไทย
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2568 คณะกรรมการซอฟต์เพาเวอร์มวยไทย นำโดย ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ และกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์แห่งชาติ พร้อมด้วย นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬา และประธานมูลนิธิรวมพลคนสมุย, นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา, นางโปรดปราน สมานมิตร รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย, นายณัฐพล อันตรเสน ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย และนายไพฑูร ชุติมากรกุล นายกสมาคมนักข่าวช่างภาพกีฬาแห่งประเทศไทย พร้อมคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่เยี่ยมชมและตรวจมาตรฐานค่ายมวยไทยบนเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามนโยบายส่งเสริมมวยไทยเป็นซอฟต์เพาเวอร์ของรัฐบาล
การตรวจเยี่ยมครั้งนี้มีค่ายมวยเข้าร่วมทั้งหมด 3 แห่ง ได้แก่ ค่าย Punchit,ค่าย Superpro Samui และค่ายมวยยอดยุทธ ซึ่งเป็นค่ายมวยที่ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติ และมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่มวยไทยสู่เวทีโลก
ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ เปิดเผยว่า "เรามาอยู่ที่เกาะสมุยเป็นเวลา 2 วัน โดยในวันนี้ได้ตรวจเยี่ยมค่ายมวย Punchit ซึ่งเป็นค่ายมวยที่น่าชื่นชมมาก มีชาวต่างชาติเข้ามาเรียนวันละ 120–150 คน พร้อมที่พักรองรับมากกว่า 80 ห้อง ซึ่งเต็มตลอดเวลา ค่ายมีทั้งคลาสเดี่ยวและคลาสรวม โดยคลาสรวมมีค่าเรียนชั่วโมงละ 1,000 บาท ถือเป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จและสามารถเป็นต้นแบบให้ค่ายอื่น ๆ ได้ คณะกรรมการได้มอบใบประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐานให้แก่ค่ายมวยที่ผ่านเกณฑ์ เพื่อยืนยันถึงคุณภาพและการดำเนินงานที่ตอบโจทย์ซอฟต์เพาเวอร์ของชาติ ทั้งในด้านกีฬา การท่องเที่ยว และวัฒนธรรม"
นอกจากนี้ ผศ.พิมล ยังกล่าวถึงกิจกรรมในวันที่ 19 กรกฎาคม 2568 ว่า "เราจะมีการแข่งขันชกมวย "สมุยซุปเปอร์ไฟต์" ซึ่งน่าสนใจมาก เพราะเป็นการชกของนักมวยจากทัณฑสถาน ที่ผ่านการฝึกฝนมวยไทยภายใต้โครงการนี้ เราเชื่อว่าหากเขาได้รับทักษะที่เพียงพอ เมื่อพ้นโทษออกมา ก็สามารถประกอบอาชีพและเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ การให้โอกาสและเสริมสร้างทักษะให้เขาเหล่านี้ จึงเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของเราภายใต้แนวคิดซอฟต์เพาเวอร์"
"ไม่ว่าเขาจะอยู่ในทัณฑสถานมานานแค่ไหน เมื่อเขาออกมา ถ้าไม่มีทักษะติดตัว ก็มีโอกาสกลับไปทำสิ่งที่ไม่ดีอีก แต่หากมีอาชีพ มีทักษะติดตัว ก็สามารถเปลี่ยนชีวิตได้ และนั่นคือสิ่งที่เราต้องการจะมอบให้"
สุดท้าย ผศ.พิมล ยังกล่าวปิดท้ายว่า "หลังจากวันนี้เราได้ลงพื้นที่ครบ 3 ค่าย ซึ่งค่ายสุดท้ายของเป็น ยอดยุทธ อดีตนักมวยไทย เปิดมาแล้วกว่า 10 ปี มีชาวต่างชาติมาเรียนวันละ 50-60 คน ส่วนในด้านของเชิงพานิชย์ก็ดี มีนักลูกค้าเก่าบ้าง ใหม่บ้าง มารายบินกลับไปแล้วก็กลับฝึกต่อก็มี โดยส่วนใหญ่ก็เพื่อมาฝึกวิทยายุทธและออกกำลังกาย ซึ่งมากกว่าการฝึกเพื่อไปชกจริง ก็ถือว่าเป็นส่งเสริมมวยไทยที่ดีมากๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าสองค่ายที่เราไปดูก่อนหน้านี้เป็นของต่างชาติและมีทุนที่หนากว่า มีการขยับขยายมากมาย ไม่ว่าจะเป็น MMA สระว่ายน้ำ ฟิตเนส มีห้องพักต่างๆนาๆ มันเป็นสเกลที่ใหญ่กว่า ก็ต้องว่ากันไปตามความสามารถที่จะลงทุน"
"ส่วนทางคณะกรรมการซอฟเพาเวอร์มวยไทย หลังจากที่สัมผัสแล้ว อันหนึ่งที่เราจะกลับไปคิดก็คือหนึ่งเลย ก็คือการฝึกการให้ความรู้กับเจ้าของค่ายต่างๆ และการอบรมทางด้านเชิงพานิชย์ให้กับค่าย ให้มีห้องพัก มีร้านอาหาร ให้ครบวงจร หรือมีคาเฟ่ที่เป็นรายได้เสริมให้กับทางค่าย ส่วนสิ่งที่สองเราจะต้องไปดูในเรื่องของแหล่งเงินทุน ซึ่งเป็นธุรกิจทางด้าน SME เราจะช่วยยังไงได้ให้เขาเข้าถึงแหล่งเงินทุน ติดต่อตามธนาคารของรัฐมีเงินทุนให้กู้ยืม เพื่อให้เขาขยับขยายใหญ่ขึ้น เราก็ต้องกลับไปพิจารณากัน แต่แน่นอนสิ่งที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้ ก็ต้องมีความรู้ ทักษะ เพื่อขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น คิดว่าทั้งสองอย่างนี้เราจะต้องกลับไปพิจารณากันครับ"
การลงพื้นที่ครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการผลักดัน "มวยไทย" ให้เป็นซอฟต์เพาเวอร์ที่สร้างมูลค่าในระดับนานาชาติ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และอัตลักษณ์ความเป็นไทยอย่างยั่งยืน