ลูกศิษย์ ความฝัน และ Welcome home.. โค้ชเช

ลูกศิษย์ ความฝัน และ Welcome home.. โค้ชเช
ครั้งหนึ่ง โค้ชเช - ชัชชัย เช - เคยให้สัมภาษณ์กับรายการ รู้ยัง ทางช่อง true ปลูกปัญญาถึงการทำงานของตัวเองที่เมืองไทย

การเดินทางมาทำงานที่เมืองไทยตั้งแต่ปี 2002 อยู่ประเทศไทยมา 22 ปีแล้ว แน่นอนว่าระยะเวลานานขนาดนั้นเพียงพอต่อการทำให้ชาวต่างชาติสักคนเข้าใจวัฒนธรรมไทยและใกล้ชิดผูกพันกับคนไทย

โค้ชเชเองก็เช่นกัน

ภารกิจที่ได้รับมอบหมายนั้นไม่ใช่เล็ก ๆ การสร้างและผลักดันนักกีฬาเทควันโด้ของไทยให้ก้าวไปสู่ระดับโลกคืองานใหญ่มหาศาลเมื่อคำนึงถึงสภาพแวดล้อมต่าง ๆ รอบตัว ณ วันนั้น

หากโค้ชเชก็ทำงานนี้อย่างมุ่งมั่นตั้งใจ ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ทั้งหมดของตนออกมาให้กับลูกศิษย์ อบรมสอนสั่งนักกีฬาของเขาด้วยความรัก ความจริงจัง

โดยที่ไม่ต้องพร่ำพูด โค้ชเชสอนนักกีฬาของเขาให้รู้ถึงคุณค่าของความมุมานะผ่านความทุ่มเท สอนให้ลูกศิษย์ของเขาเข้าใจความหมายของความอดทนผ่านการอุทิศตน

พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ เคยให้สัมภาษณ์หลังจากคว้าเหรียญทองโอลิมปิกโตเกียวเกมส์เมื่อ 3 ปีก่อนเอาไว้ว่า "โค้ชบอกว่าน้ำตาที่เสียไปตอนซ้อมก็เพื่อวันนี้"

มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ เหงื่อทุกหยาด น้ำตาทุกหยด ได้รับการตอบแทนอย่างล้ำค่า ด้วยความภาคภูมิใจแห่งชีวิตที่ไม่มีใครขโมยเอาไปได้

ใช่แล้วล่ะครับ กว่าจะมีวันนี้ได้ของแต่ละคน ไม่ใช่ง่าย ๆ เลย

กว่าจะมีวันนี้ได้ของ เยาวภา บุรพลชัย ก็ไม่ใช่ง่าย ๆ กว่าจะมีวันนี้ได้ของ บุตรี เผือดผ่อง ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

กว่าจะมีวันนี้ได้ของ ชนาธิป ซ้อนขำ เทวินทร์ หาญปราบ และนักกีฬาทุก ๆ คน.. ล้วนไม่ใช่เรื่องง่าย

3 เหรียญโอลิมปิกของพาณิภัคก็เช่นเดียวกัน

การซ้อมที่โหดที่สุด หยาดเหงื่อที่โซมกาย เหนื่อยแสนเหนื่อย เจ็บแสนเจ็บ ท้อจนแทบจะอยากเลิกเล่น ระบายออกมาเป็นน้ำตาที่พรั่งพรู

แล้วก็ปาดน้ำตานั้นทิ้งไปเสีย หายใจลึก ตั้งหลักตั้งกำลังใจแล้วลุกขึ้นสู้ต่อ เพื่อความรับผิดชอบยิ่งใหญ่ในการเป็นตัวแทนของประเทศชาติ

เบื้องหน้ารอยยิ้มและเสียงหัวเราะสดใสเหล่านั้น ใครจะรู้ว่าพวกเขาและเธอต้องผ่านความยากลำบากหนักหนาสาหัสเพียงใด

ท่าเตะตวัดหลังที่เป็นไม้ตายของพาณิภัค ด้วยเหลี่ยมมุมและองศาที่คู่ต่อสู้แทบจะจินตนาการไปไม่ถึงว่าจะมีใครทำได้ เทนนิสทำมันได้ด้วยที่มาที่ไปซึ่งฟังแล้วสะอึก

"เป็นท่าที่ฝึกมาหลายปีกว่าจะใช้ได้จริง ที่ท่านี้เป็นท่าพิฆาตของหนูเพราะหนูได้องศาที่ดีกว่าคนอื่น เพราะเอ็นไขว้หลังขาดและสะโพกหลวม มันกลายเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้เราทำท่านี้ได้ไม่ยากเหมือนคนอื่น"

ท่าไม้ตายทำคะแนนของเธอ.. เกิดขึ้นจากเอ็นไขว้หลังขาดและสะโพกหลวมอันเป็นผลมาจากการฝึกซ้อมอย่างหนัก จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี จากปีเป็นหลายปี

นี่คือสิ่งที่เธอต้องแลกมา เธอต้องเสียสละขนาดไหนกันนะ ทั้งเวลา ทั้งร่างกาย กว่าจะมาถึงจุดนี้ที่เป็นที่รักของทุก ๆ คน เป็นแรงบันดาลใจของเด็ก ๆ

เทนนิสบอกว่าขณะลงไปแข่ง เธอคิดถึงความยากลำบากทั้งปวงกว่าจะมาถึงวันนี้ คิดถึงการซ้อมเป็นพัน ๆ ครั้ง คิดถึงการต้องซ้อมกับนักเทควันโด้ชาย

ในความอดทนเหล่านั้น โค้ชเชย่อมเป็นคนที่เข้าใจดีที่สุด เพราะทุกอย่างล้วนอยู่ในสายตาของเขา

บางครั้งเขาคงจะสงสารลูกศิษย์อยู่ในใจ แต่ด้วยความรับผิดชอบและเป้าหมายที่วางเอาไว้ เขาจำเป็นต้องเคี่ยวเข็ญ เพื่อให้พวกเขาและเธอผ่านอุปสรรคความกดดันใหญ่หลวงเหล่านั้นไปให้ได้

เห็นศิษย์ร้องไห้อยู่ตรงหน้า โค้ชเองก็อาจร่ำไห้อยู่ภายใน มีความรู้สึกอีกมากมายที่ต้องข่มกลั้นไว้ไม่อาจแสดงมันออกมาได้

ผมคิดว่าเบื้องหลังความสำเร็จที่เกิดจากความพยายามอย่างยากลำบากเหล่านั้น โค้ชเชกับนักกีฬาของเขาที่ฝ่าฟันมันมาด้วยกันล้วนเข้าใจดี มันมีความหมายกับพวกเขา ค่อย ๆ ก่อร่างขึ้นมาเป็นสายใยที่มองไม่เห็น

เดือนแล้วเดือนเล่า ปีแล้วปีเล่า รุ่นแล้วรุ่นเล่า จากความสะเปะสะปะในวันแรกสู่วัฒนธรรมแห่งความแน่วแน่ มีทัศนคติแห่งการเป็นผู้ชนะ จริงจังต่อภารกิจ อุทิศตนต่อหน้าที่ โค้ชเชกับลูกศิษย์ของเขาหักร้างถางพงสร้างมันมาด้วยกัน

จาก 1 ปี.. เป็น 5 ปี.. 10 ปี.. 16 ปี.. 22 ปี.. รู้ตัวอีกทีก็เป็นความผูกพัน ฟั่นเกลียวเหนียวแน่น รู้สึกต่อกันเหมือนเป็นคนในครอบครัวไปแล้ว

โค้ชเชรักศิษย์ของเขาเหมือนลูก นักกีฬารักโค้ชเชเหมือนพ่อ พ่อผู้เคี่ยวเข็ญให้ลูกได้ดี มีแต่ความปรารถนาดีให้

อันที่จริงเราคงไม่ต้องบรรยายอะไรมากเลยในเรื่องนี้ สิ่งที่พาณิภัคทำให้คนทั้งโลกได้เห็นในวันที่เธอคว้าเหรียญทอง ปารีส 2024 บอกทุกสิ่งทุกอย่างหมดแล้ว

วิ่งมาหาและกระโดดกอดพ่อคนที่สองของเธอแน่น หลั่งน้ำตา พาร่วมเดินขอบคุณกองเชียร์ด้วยกัน

ก้มลงกราบที่เท้า..

ลุกขึ้นปาดน้ำตาแห่งความปีติอีกรอบ แล้วยัดธงชาติใส่มือให้โค้ชเชได้วิ่งรอบสนามก่อนเธอ

เทนนิสวิ่งเหยาะ ๆ ตามโค้ชเช ยิ้มกว้างพร้อมชี้นิ้วย้ำ ๆ ไปที่โค้ช ให้ความสนใจทั้งหมดของผู้ชมในสนามไปอยู่ที่ผู้มีพระคุณอีกคนแห่งชีวิตของเธอ

เพราะเธอย่อมรู้ดีว่าการวิ่งถือธงไตรรงค์คราวนี้สำหรับโค้ชเชแล้วแตกต่างจาก 3 ปีก่อนที่โตเกียว

คราวนั้นโค้ชเชยังรับใช้ทีมชาติไทยในฐานะคนเกาหลี แต่คราวนี้เขาได้วิ่งถือธงชาติไทยสร้างความยินดีให้คนไทย.. ในฐานะคนไทยที่ชื่อ ชัชชัย เช

เป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ ด้วยอ้อมแขนที่โอบกอด ด้วยรอยยิ้มที่ฉีกกว้าง ด้วยความรักจากพวกเราทุกคน

ผมคิดว่าความรู้สึกของเราที่มีต่อโค้ชเชไม่ได้เปลี่ยนไปเลย เรายังคงรักเขาและต้อนรับเขาอย่างเต็มใจ มีความสุขที่เขารักเมืองไทยและอยากเป็นคนไทย

ในวันที่โค้ชเชได้สัญชาติไทย เราต่างยินดีไปกับเขา ดีใจที่ได้เห็นเขาสมความปรารถนา

บทสัมภาษณ์ในรายการ รู้ยัง ของโค้ชเชเมื่อปีที่แล้วยิ่งทำให้เรารู้ว่าความรักและผูกพันที่เขามีต่อเมืองไทยและลูกศิษย์ของเขานั้นหยั่งรากลึกเพียงใด

"หลังจากปี 2008 หลายชาติก็ติดต่อผมมาครับ ก็สัก 3-4 ชาติครับที่ติดต่อมา ปี 2012 จัดที่อังกฤษ ที่ลอนดอน ก็มีคนติดต่อผ่านอีเมลมาเรื่องทำสัญญา เรื่องเงินเดือนต่าง ๆ

"เงินเดือนสูงกว่าหลายเท่าครับ ถ้าวันนั้นไปเป็นโค้ชให้ชาติอื่น เงินเดือนหรือสวัสดิการ ก็ทุกอย่างครับ ทุกอย่าง ดีกว่าประเทศไทยเยอะ

"ผมก็เคยคิดครับ เคยคุยกับภรรยา ผมมีลูกชายคนนึงอายุประมาณ 5-6 ปี ถ้าผมไปเป็นโค้ชที่อังกฤษ ลูกเราก็สามารถเรียนที่อังกฤษได้อีก

"แต่ว่า วันหนึ่งผมซ้อมกับนักกีฬา ผมก็ดูหน้าตานักกีฬา เห็นสายตานักกีฬาแล้ว ผมก็รู้สึกว่าไม่ไหวครับ

"ถ้าผมไปทำให้ประเทศอื่น ผมก็ต้องนั่งตรงข้ามแล้วก็พยายามสู้กับนักกีฬาไทย พวกเขาก็เหมือนลูกชายลูกสาว เพราะฉะนั้นถ้าผมต้องไปโค้ชให้ชาติอื่น ถ้าผมต้องสู้กับลูกชายลูกสาว.. ผมก็เปลี่ยนใจและก็อยากอยู่ต่อที่ไทย

"ผมก็พูดหลายครั้งแล้วครับ ทำไมทุกวันนี้โค้ชเชยังอยู่ที่ไทย.. ก็เพราะว่าลูกศิษย์ครับ

"เงินก็สำคัญครับ แต่ว่าตอนนั้นผมไม่ได้คิดเรื่องเงิน ผมดูลูกศิษย์ แล้วก็แค่ความฝันตัวเอง เป้าหมายตัวเอง

"ผมรู้สึกว่ายังไม่ถึงเป้าหมายของผมเองด้วยครับ ก็ปี 2004 ได้เหรียญทองแดง ปี 2008 ได้เหรียญเงิน ผมก็ต้องไปต่อเพราะผมอยากได้เหรียญทองให้ประเทศไทย"

พิธีกรของรายการคือคุณอุ๋ย บุดด้าเบลส (ผมติดตามคุณอุ๋ยทำหน้าที่พิธีกรหลายครั้งแล้วอยากชื่นชมว่าคุณอุ๋ยทำหน้าที่ได้ดีมากครับ สุภาพ มีมารยาท ให้เกียรติอีกฝ่าย และถามต่อยอดจากคำตอบของผู้ถูกสัมภาษณ์ได้ดี) ถามโค้ชเชต่อว่าตอนนี้ได้เหรียญทองแล้ว ถึงเป้าหมายแล้ว โค้ชจะไปหาความท้าทายที่ประเทศอื่น ๆ ที่ต้องการตัวโค้ชไหม

โค้ชเชตอบคำแรกอย่างรวดเร็วว่า "ไม่ครับ"

"จริง ๆ ผมก็ไปถึงเป้าหมาย ความฝันที่อยากได้เหรียญทอง ตอนนี้ก็ทำได้แล้ว แต่ว่าผมก็อยู่ไทยมา 20 ปีแล้ว ที่นี่ก็เหมือนบ้านหลังที่สอง ที่นี่มีเพื่อนคนไทย มีเพื่อนคนเกาหลี ผมมีสังคมที่นี่ มีทุกอย่างที่นี่

"ตอนนี้ผมก็ไม่ใช่อายุน้อย ๆ ด้วยครับ ก็ต้องเตรียมอนาคตเพื่อเกษียณด้วย ผมไปถึงเป้าหมายแล้วแต่ถ้ามีโอกาสและยังเป็นที่ต้องการ ผมก็ช่วยได้ครับ ผมเต็มที่กับประเทศไทย

"คนไทยทุกคนก็ให้กำลังใจโค้ชเช เดินไปไหนก็มีคนเข้ามาทักเข้ามาขอบคุณที่ทำให้คนไทยมีความสุข คำนี้ทำให้ผมมีความสุขที่สุดครับ ผมจะทำหน้าที่เต็มที่เพื่อให้คนไทยมีความสุขต่อไป

"ผมอยู่ที่ไทยมีความสุข ครอบครัวเราก็มีความสุข ผมอยากอยู่เมืองไทยไปนาน ๆ ผมอยากได้สัญชาติไทยจริง ๆ ปี 2020 ผมก็อยากเป็นคนไทยที่พาทีมไทยไปได้เหรียญทองกลับมา"

ปี 2021 โค้ชเชพาเราไปสู่เหรียญทองโอลิมปิกได้สำเร็จ เขาอยากเป็นคนไทยแต่ในเวลานั้นยังทำไม่ได้ แม้ในใจของเราทุกคนจะยอมรับเขาไปเรียบร้อยแล้ว

..ปี 2024 โค้ชเชพาเราไปสู่เหรียญทองโอลิมปิกได้อีกครั้ง และคราวนี้ เขาคือคนไทยเต็มตัว

ระยะเวลา 2 ทศวรรษนั้นมากเกินพอสำหรับความรู้สึกผูกพันเหมือนครอบครัว รู้สึกกับเมืองไทยเหมือนเป็นบ้าน รู้สึกกับลูกศิษย์เหมือนเป็นลูก

ช่วงเช้าที่ผ่านมา โค้ชเชและลูกศิษย์ผู้เป็นเหมือนลูก ๆ ของเขาเพิ่งเดินทางกลับมาถึงเมืองไทย

Welcome home.. ยินดีต้อนรับกลับบ้านครับโค้ช


ที่มาของภาพ : Siamsport
BY : ตังกุย
ณัฐพล ดำรงโรจน์วัฒนา
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport
X