สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายประเทศมีการปิดประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเดินทางระหว่างกัน แต่ในปัจจุบันสถานการณ์เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น รัฐบาลไทยในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค 2022 มีการเตรียมพร้อมต่อการเปิดประเทศ เพื่อต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการเดินทาง โดยพัฒนาการคมนาคมที่เชื่อมโยงกันแบบไร้รอยต่อ ทั้งทางทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศให้ครอบคลุม ทันสมัย สะดวก ปลอดภัย ได้แก่
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายประเทศมีการปิดประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเดินทางระหว่างกัน แต่ในปัจจุบันสถานการณ์เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น รัฐบาลไทยในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค 2022 มีการเตรียมพร้อมต่อการเปิดประเทศ เพื่อต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการเดินทาง โดยพัฒนาการคมนาคมที่เชื่อมโยงกันแบบไร้รอยต่อ ทั้งทางทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศให้ครอบคลุม ทันสมัย สะดวก ปลอดภัย ได้แก่
ทางบก รัฐบาลได้เร่งพัฒนา “โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา” หรือทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข M6 แนวเส้นทางโครงการฯระยะทางรวมประมาณ 196 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก (ถนนกาญจนาภิเษก) อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และไปสิ้นสุดที่บริเวณทางเลี่ยงเมืองจังหวัดนครราชสีมาด้านตะวันตก อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
ทางราง รัฐบาลเร่งพัฒนาขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของประเทศ ตามนโยบายเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมอย่างเป็นระบบ เพื่อยกระดับการเดินทางให้สะดวกรวดเร็ว และแก้ปัญหาการจราจรที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อลดต้นทุนการขนส่งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
โครงข่ายรถไฟทางไกลรองรับการขนส่งจากถนนสู่ระบบราง และจากทางเดี่ยวสู่ทางคู่ ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 7 เส้นทาง ระยะทาง 985 กิโลเมตร มีความคืบหน้าเป็นอย่างดี ประกอบด้วย
เส้นทางที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว จำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่
1) ช่วงชุมทางฉะเชิงเทรา - ชุมทางคลองสิบเก้า - ชุมทางแก่งคอย ระยะทาง 106 กิโลเมตร เปิดให้บริการแล้วเมื่อปี 2562
2) ช่วงชุมทางถนนจิระ - ขอนแก่น ระยะทาง 187 กิโลเมตร เปิดให้บริการแล้วเมื่อปี 2563 และอีก 5 เส้นทางที่คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2565 นี้
ทั้งนี้ 5 เส้นทาง ที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างและเตรียมเปิดให้บริการได้แก่
1) ช่วงลพบุรี - ปากน้ำโพ ระยะทาง 145 กิโลเมตร
2) ช่วงมาบกะเบา - ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 135 กิโลเมตร
3) ช่วงนครปฐม - หัวหิน ระยะทาง 169 กิโลเมตร
4) ช่วงหัวหิน - ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทางรวม 76 กิโลเมตร
5) ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทางรวม 167 กิโลเมตร
เมื่อดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว จะสามารถเพิ่มความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย ในการเดินทาง รวมถึงการขนส่งสินค้า อีกทั้งยังเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมพื้นฐานด้านอื่น ๆ ของประเทศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ตามนโยบายรัฐบาล ถือเป็นการยกระดับการเดินทางที่สำคัญเพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งระบบราง ลดต้นทุนการขนส่งระบบโลจิสต์ติก เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ลดระยะเวลาในการเดินทางได้อย่างชัดเจน
ทางน้ำ มีโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและวัตถุดิบเหลวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นการเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือเพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
ทางอากาศ มีการขยายและปรับปรุงสนามบินทั่วประเทศให้ทันสมัยขึ้น ทั้งสนามบินหลักและสนามบินภูมิภาค “สนามบินเบตง” นอกจากนี้ ระบบการให้บริการการบินของไทยได้ดำเนินการผ่านมาตรฐานการบินเต็มรูปแบบตามหลักสากลขององค์การการบินระหว่างประเทศ (ICAO)
นอกจากนี้ ไทยและสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค ยังได้รับความสะดวกจากบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค หรือ บัตร ABTC ที่ผู้ถือบัตรฯ สามารถใช้ควบคู่กับหนังสือเดินทาง เพื่อเดินทางเข้าดินแดนของสมาชิกเอเปคที่เข้าร่วมโครงการนี้ในการติดต่อธุรกิจระยะสั้นได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าอีก ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางติดต่อระหว่างนักธุรกิจของสมาชิกเอเปค การเข้าเมืองสะดวกรวดเร็วขึ้น โดยผู้ถือบัตรฯ จะได้รับอนุญาตให้เข้าช่องทางพิเศษสำหรับสมาชิกเอเปค (APEC Lane)