15 เรื่องน่ารู้ ศึกลูกหนัง อาเซียน คัพ 2022!!

วันอังคารที่ 20 ธันวาคม การแข่งขัน อาเซียน คัพ 2022 ก็จะเริ่มห้ำหั่นกันอย่างเป็นทางการ ว่าแล้ว 'SIAMSPORT' จึงไปค้นและคว้าหาข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ มาให้คุณได้อ่านกันว่าทัวร์นาเมนต์นี้มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง!?

1. ที่มาของชื่อรายการ?

นี่คือทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันประกอบด้วย 11 ประเทศ ไล่ตั้งแต่ไทย, สิงคโปร์, เวียดนาม, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, เมียนมาร์, สปป.ลาว, กัมพูชา และ บรูไน 

ส่วนติมอร์-เลสเต้ นั้นเพิ่งแยกมาจากอินโดนีเซีย ในปี 2002 และเข้าร่วมแข่งขันหนแรกเมื่อปี 2004 

ทั้ง 11 ประเทศ อยู่ภายใต้สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งอาเซียน (ASEAN) โดยมีชื่อเต็มคือ ASEAN Football Federation Championship ดังนั้นจึงเรียกแบบย่ออย่างเป็นทางการว่า เอเอฟเอฟ แชมเปี้ยนชิพ (AFF Championship) 

ทว่าการที่มี 'ผู้สนับสนุน' เข้ามา ทำให้หลายๆ ครั้งจึงมีการเรียกตามชื่อสปอนเซอร์หลัก 

1996 - 2004 - ไทเกอร์ (เบียร์)

2007 - ไม่มีผู้สนับสนุน

2008 - 2020 - ซูซูกิ (ยานยนต์)

2022 - มิตซูบิชิ อีเล็คทริค (อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า)

ดังนั้นจึงเรียกทัวร์นาเมนต์นี้ได้ทั้ง เอเอฟเอฟ แชมเปี้ยนชิพ 2022 หรือ มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คัพ 2022 จึงจะเป็นทางการมากที่สุด แต่ก็ใช้ อาเซียน คัพ 2022 ได้เช่นกัน

2. เกือบจะมีออสเตรเลีย รวมอยู่ด้วย?

นับตั้งแต่ออสเตรเลีย เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือ เอเอฟซี (AFC) เมื่อปี 2007 พวกเขาก็มีสิทธิ์ที่จะลงแข่งขันทุกทัวร์นาเมนต์ในภูมิภาคนี้ 

แน่นอนว่าด้วยที่ตั้งของประเทศ ซึ่งอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้พวกเขาเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียน เมื่อปี 2013 และก็เกือบจะได้เข้ามาเป็นหนึ่งในทีมที่ได้โม่แข้ง อาเซียน คัพ เสียด้วย

เมื่อปี 2020 ออสเตรเลีย ได้ยื่นเรื่องถึง เอเอฟเอฟ เพื่อขอเข้าแข่งขัน อาเซียน คัพ ในปีนั้น แต่ถูกปฏิเสธไป เนื่องจากมาตรฐานของพวกเขาสูงกว่าชาติอื่นๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาของแต่ละประเทศภูมิภาคนี้

สุดท้าย ซอคเกอร์รูส์ ได้ร่วมแข่งขันในทุกรุ่นอายุและทุกรายการของทวีปเอเชีย ยกเว้นเพียงทีมชาติชุดใหญ่ ที่ 'อด' ลุยทัวร์นาเมนต์ อาเซียน คัพ เท่านั้น

3. กาหลีใต้ ร่วมถ่ายทอดสดด้วย?

อาเซียน คัพ 2022 อาจจะเป็นทัวร์นาเมนต์สำหรับคอฟุตบอลชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทว่าที่เกาหลีใต้ ก็ได้ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดรายการนี้ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยผู้ที่ซื้อลิขสิทธิ์ไปคือ โซล บอร์ดแคสติ้ง ซิสเต้ม หรือ เอสบีเอส (SBS)  หนึ่งในสถานีโทรทัศน์ชั้นนำของแดนกิมจิที่เป็นผู้ผลิตซีรี่ส์ดังอย่าง วากาบอนด์ (Vagabond), เดอะ คิง: อีเทอร์นอล โมนาร์ช (The King: Eternal Monarch), เดอะ เพนเฮาส์ 1-2 (The Penthouse 1-2) และอีกมากมาย

อย่างไรก็ตาม เอสบีเอส จะถ่ายทอดสดเฉพาะการแข่งขันที่มีอินโดนีเซีย, มาเลเซีย และเวียดนาม ลงสนามเท่านั้น

4. 'แชมป์' ผูกขาดเพียง 4 ชาติ?

อาเซียน คัพ 2022 ถือเป็นการแข่งขันที่ 14 แต่ก็มีเพียง 4 ประเทศเท่านั้นที่เคยสัมผัสโทรฟี่นี้

ไทย คือแชมป์มากที่สุด ด้วยจำนวน 6 สมัย (1996, 2000, 2002, 2014, 2016 และ 2020)

ตามต่อด้วย สิงคโปร์ ที่ 4 หน (1998, 2004, 2007 และ 2012)

ขณะที่ 'จ้าวอาเซียน' ยุคใหม่อย่างเวียดนาม เพิ่งจะได้แชมป์เพียง 2 ครั้ง (2008 และ 2018) 

โดยมีมาเลเซีย ที่ได้ครองสมัยเดียวในปี 2010 ตามมาเป็นอันดับสี่

5. อินโดนีเซีย 'พระรอง' มากที่สุด?

อินโดนีเซีย เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากไทย (9) ที่จำนวน 6 ครั้ง ในปี 2000, 2002, 2004, 2010, 2016 และ 2020 แต่ไม่มีเลยสักหนที่พวกเขาได้แชมป์กลับไป

ปีที่ใกล้เคียงกับโทรฟี่มากที่สุดคือการห้ำหั่นกับไทย ในปี 2022 ซึ่งครั้งนั้นพวกเขาเสมอกับช้างศึกในเวลาปกติ 2-2 ก่อนจะแพ้ในการดวลลูกจุดโทษ 2-4 

6. บรูไน, กัมพูชา, สปป.ลาว และติมอร์-เลสเต ไม่เคยผ่านรอบแบ่งกลุ่ม?

ในจำนวน 11 ชาติที่เข้าร่วมการแข่งขัน มีถึง 4 ทีม ที่ไม่เคยผ่านรอบแบ่งกลุ่มเลย นั่นคือบรูไน, กัมพูชา, สปป.ลาว และติมอร์-เลสเต

บรูไน คือทีมที่ทำแต้มได้น้อยที่สุด กับการมีเพียง 2 คะแนน จากการเข้าร่วมการแข่งขันหนเดียว ดังนั้นใน อาเซียน คัพ 2022 ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 ที่ได้เล่นรายการนี้ พวกเขาจึงมุ่งมั่นมากๆ เพื่อจะทำผลงานให้ดีที่สุด

ขณะที่ติมอร์-เลสเต ซึ่งมีส่วนร่วมมาแล้ว 3 สมัย นั้นก็มี 3 คะแนน เท่านั้น โดยที่ปีนี้ไม่ผ่านรอบเพลย์-ออฟ

7. มาเลเซีย 'มารยาทงาม' มากที่สุด?

แม้ว่ารางวัล 'แฟร์เพลย์' หรือทีมมารยาทงามจะไม่ค่อยมีผลนักในแง่ของการแข่งขัน เนื่องจากจะวัดจากใบเหลือง-ใบแดงและการฟาวล์ตลอดทั้งทัวร์นาเมนต์ 

ที่สำคัญบรรดาทีมที่เข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศก็มีโอกาสที่จะได้รางวัลนี้ยากเอามากๆ เพราะมีเกมเยอะกว่าชาติอื่นๆ แถมต้องเจอการแข่งขันที่กดดันด้วย

อย่างไรก็ตาม ไทย เคยได้รางวัล 'มารยาทงาม' มาแล้ว 2 ครั้ง ในปี 2008 และ 2016 แต่ก็ยังน้อยกว่ามาเลเซีย ที่คว้ามาแล้ว 3 หน (2000, 2012 และ 2018)

8. นอห์ อลัม ชาห์ ยิงเยอะในปีเดียว - ธีรศิลป์ ดาวซัลโวตลอดกาล?

หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของ อาเซียน คัพ คือ 'ดาวซัลโว' และส่วนใหญ่ก็จะมาจากทีมที่ได้เป็นแชมป์นั่นเอง

สิงคโปร์ มี นอห์ อลัม ชาห์ ศูนย์หน้าชื่อดังแห่งทศวรรษที่ 2000 กับการสังหารไปถึง 17 ประตู และครองสถิติ 'ดาวซัลโวสูงสุด' มายาวนานเกินสิบปี โดยในปี 2007 เขาซัดไป 10 ลูก ซึ่งถือเป็นการยิงมากที่สุดในครั้งเดียว

อย่างไรก็ตาม หัวหอกของทัพเมอร์ไลอ้อนต้องถูกเพชฌฆาตชาวไทย อย่าง ธีรศิลป์ แดงดา ที่มีส่วนร่วมกับ อาเซียน คัพ 5 สมัย และมาฟอร์มแจ่มในปี 2020 ก่อนจะแซงเป็นขึ้นเป็น 'ดาวซัลโวสูงสุด' ตลอดกาลไปด้วยจำนวน 19 ประตู 

9. ชนาธิป คนแรกและคนเดียว 'นักเตะยอดเยี่ยม' 3 สมัย?

ตลอด 14 ครั้ง ของการแข่งขัน ไม่เคยมีสักครั้งที่ 'นักเตะยอดเยี่ยม' ประจำทัวร์นาเมนต์จะตกเป็นของคนๆ เดียวเกินกว่า 1 หน

ทว่า ชนาธิป สรงกระสินธุ์ ทำลายสถิตินั้นลงอย่างราบคาบและคงหาผู้ใดมาสร้างความยิ่งใหญ่แบบนี้ได้อีก

ตำนานนักเตะของแต่ละชาติอย่าง ไซนัล อบิดิน ฮัสซัน (มาเลเซีย), เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง (ไทย) หรือ นอห์ อลัม ชาห์ (สิงคโปร์) ต่างก็เคยถูกรับเลือกให้เป็นผู้เล่นทรงคุณค่าเพียงหนเดียวเท่านั้น

ทว่า ชนาธิป กลับทำได้ถึง 3 หน ในปี 2014, 2016 และล่าสุดคือ 2020 

10. เสนายัน ใหญ่สุด - จะลัน เบซาร์ เล็กสุด?

สนามแข่งขันใน อาเซียน คัพ 2022 มี 12 สนาม โดยส่วนใหญ่สามารถจุผู้ชมได้ระดับ 30,000 ที่นั่ง ขึ้นไป

โดยสนามที่ใหญ่ที่สุดในการแข่งขันครั้งนี้คือ เกโลร่า บัง การ์โน่ หรือที่คุ้นหูในชื่อ เสนายัน สเตเดี้ยมประจำชาติของอินโดนีเซีย ที่จุได้ถึง 77,193 คน

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เพิ่งเกิดโศกนาฏกรรมไปเมื่อเดือนตุลาคม แม้จะไม่ใช่สนามแห่งนี้ แต่เพื่อความปลอดภัย รัฐบาลอินโดนีเซีย จึงยังไม่อนุมัติให้มีผู้ชมในสนามแข่งขัน 

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงเป็นไปได้สูงว่าเกมที่พวกเขาจะเปิดบ้านรับมือทีมชาติไทย ในวันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม น่าจะไม่มีแฟนๆ ในสนาม

ส่วนสนามที่เล็กที่สุดใน อาเซียน คัพ 2022 คือ จะลัน เบซาร์ ของสิงคโปร์ ที่ได้รับการยืนยันแล้วว่าจะใช้แข่งขันอย่างน้อย 2 เกม ในรอบแรกกับเมียนมาร์ และเวียดนาม

จะลัน เบซาร์ จุผู้ชมได้เพียง 2,500 ที่นั่งเท่านั้น

แต่ถ้าสิงคโปร์ สามารถทะลุเข้ารอบรองชนะเลิศ พวกเขาจะเปลี่ยนไปใช้สนามกีฬาแห่งชาติ ซึ่งมีความจุ 55,000 คน แทนที่

11. ฮัสซัน อายุมากสุด - วงศักดา อายุน้อยสุด?

ฮัสซัน ซันนี่ ผู้รักษาประตูทีมชาติสิงคโปร์ ที่เคยมาเล่นในลีกไทย กับ อาร์มี่ ยูไนเต็ด คือนักเตะที่อายุมากที่สุดของทัวร์นาเมนต์ด้วยวัย 38 ปี และเมื่อถึงเมษายน 2023 เขาจะทะลุ 39 เลยทีเดียว

ขณะที่ผู้เล่นที่อายุน้อยที่สุดในทัวร์นาเมนต์นี้คือ วงศักดา จันทะลือสาย กองหลังวัย 17 ของทีมชาติ สปป.ลาว ที่กำลังจะครบ 18 เต็มๆ ในวันพุธที่ 28 ธันวาคม ที่จะถึงนี้

12. ลีกไทย ส่งเข้าแข่งขันมากที่สุด?

ทุกชาติที่เข้าแข่งขัน อาเซียน คัพ 2022 จะสามารถลงทะเบียนผู้เล่นได้ทีมละ 23 คน เท่านั้น เท่ากับว่าจะมีนักกีฬาในทัวร์นาเมนต์นี้ทั้งหมด 230 คน จาก 10 ประเทศ

ลีกของประเทศไทย คือลีกที่มีนักเตะเข้ามาร่วมรายการนี้มากที่สุด ด้วยจำนวน 34 คน โดยเป็นขุนพลทีมชาติไทย 22 คน, ฟิลิปปินส์ 2 คน, มาเลเซีย 1 คน, สิงคโปร์ 2 คน, เมียนมาร์ 5 คน และ สปป.ลาว อีก 3 คน

13. ลีกนอกเอเชีย มี 5 ราย

เวลานี้ฟุตบอลพัฒนาสูงขึ้นในทุกๆ ปี แต่ถ้าต้องการรุดหน้าไปข้างหน้าได้ไว คุณจำเป็นจะต้องออกไปผจญภัยในลีกที่มาตรฐานสูงกว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ใน อาเซียน คัพ 2022 ก็มีผู้เล่นที่โลดแล่นอยู่นอกเอเชีย อยู่ 5 คน ได้แก่

เหงียน ควง ไฮ (เวียดนาม) - โป แอฟเซ (ฝรั่งเศส)

วิตัน ซูเลมัน (อินโดนีเซีย) - เทรนชิน (สโลวาเกีย)

อิลฮาน ฟานดี้ (สิงคโปร์) - ไดเซอ (เบลเยียม)

เซบาสเตียน ราสมุสเซ่น (ฟิลิปปินส์) - แรนเดอร์ส (เดนมาร์ก)

นิค เทย์เลอร์ (กัมพูชา) - ออร์แลนโด้ ซิตี้ (สหรัฐอเมริกา)

นอกจากนี้ ยังมี 2 ผู้เล่นจากลีกญี่ปุ่น มาด้วย 2 คน คือ ประตามา อาร์ฮาน แบ็กซ้ายอินโดนีเซีย (โตเกียว เวอร์ดี้) เจฟเฟอร์สัน ทาบินาส กองหลังฟิลิปปินส์ (มิโตะ โฮลี่ฮ็อค) 

14. อินโดนีเซีย ยังบลัด?

อินโดนีเซีย ครองความเป็นทีมที่อายุเฉลี่ยน้อยที่สุดของทัวร์นาเมนต์กับตัวเลข 23.7 ปี ตามด้วย ฟิลิปปินส์ 24.5 ปี, มาเลเซีย 25.3 ปี, บรูไน 27.9 ปี ส่วนไทย อยู่อันดับ 5 กับ 28.3 ปี

15. โค้ชเกาหลีใต้ มากที่สุด?

10 ประเทศ ที่เข้าร่วมแข่งขันไม่มีทีมใดเลยที่ใช้ 'เฮดโค้ช' เป็นคนชาติของตนเอง

โดยเกาหลีใต้ มีกุนซือมากที่สุดในทัวร์นาเมนต์นี้ด้วยจำนวน 3 คน คือ พัก ฮัง-ซอ (เวียดนาม), ชิน แท-ยง (อินโดนีเซีย) และ คิม พัน-กอน (มาเลเซีย)

รองลงมาคือเยอรมัน, ญี่ปุ่น และสเปน เท่ากันที่ประเทศละ 2 คน 

ส่วนไทย ใช้เป็นหนึ่งเดียวที่ใช้โค้ชบราซิล คือ อเล็กซานเดร โพลกิ้ง ซึ่งก็มีเชื้อสายเยอรมัน เช่นกัน



ที่มาของภาพ : Siamsport / gettyimages
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport