เจาะลึกเบื้องหลังทีมชาติไทย U23 พ่ายเจ้าภาพ อินโดนีเซีย ชวดชิงอาเซียน คัพ 2025 เสียงแฟนบอลเริ่มชัด “เมื่อไหร่ไทยจะก้าวข้ามอาเซียน?” พร้อมวิเคราะห์โครงสร้าง แท็กติก และอนาคตบอลไทยในเวทีเอเชีย
แม้จะผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศได้ แต่การตกรอบด้วยน้ำมือของเจ้าภาพ อินโดนีเซีย ในศึก อาเซียน คัพ รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ก็ยังคงทิ้งคำถามไว้มากมายสำหรับทีมชาติไทย ทั้งในแง่แท็กติก, รูปแบบการเล่นและตัวบุคคลที่ถูกวางบทบาทในสนาม
เข้าใจได้ว่าชุดผู้เล่นที่นำทัพมาในครั้งนี้ไม่ใช่ทีมที่สมบูรณ์แบบที่สุด นักเตะหลายรายถูกดันไปเล่นในทีมชาติชุดใหญ่ อีกไม่น้อยก็อยู่ในช่วงปรี-ซีซั่นกับต้นสังกัด ทำให้การเรียกเก็บตัวและวางโครงสร้างทีมเต็มไปด้วยข้อจำกัด
ทั้งในแง่ของเวลาและทรัพยากรบุคคล
แต่ถึงอย่างนั้น สิ่งที่แฟนฟุตบอลคาดหวังก็ไม่ใช่แค่ผลการแข่งขัน หากคือ 'คุณภาพในการเล่น' ซึ่งหากมองย้อนกลับไปตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่ม ก็จะพบว่า สัญญาณของปัญหามีให้เห็นตั้งแต่เกมแรก
ทัพช้างศึกเปิดสนามด้วยชัยชนะ 4-0 เหนือติมอร์-เลสเต ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกและอาจดูน่าพอใจในตัวเลข ทว่ารายละเอียดในเกมนั้นบอกเล่าเรื่องราวอีกแบบ เพราะมีโอกาสลุ้นมากมาย แต่ใช้เปลืองเกินไปในจังหวะสุดท้าย
ไม่ต่างจากนัดต่อมากับเมียนมาร์ ที่เสมอ 0-0 ซึ่งไทย ครองเกมได้ดีกว่า แต่กลับทำได้เพียงเสมอ เพราะความไม่เฉียบคมในการจบสกอร์
มาถึงรอบรองชนะเลิศที่เจอกับเจ้าถิ่นอย่างอินโดนีเซีย ที่ได้เล่นในบ้านพร้อมเสียงเชียร์กระหึ่ม
เกมนี้กลายเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์สำคัญว่าไทย ยังมีหลายจุดที่ต้องเร่งปรับ โดยเฉพาะการวางแท็กติกที่เน้นตั้งรับแทบจะตลอด 90 นาที ทั้งที่ศักยภาพผู้เล่นบางรายดูจะเหนือกว่าเจ้าถิ่นด้วยซ้ำ
หากมองภาพรวมต้องยอมรับว่า ช่วงต่อเวลาพิเศษคือจังหวะที่ทัพช้างศึกเล่นได้ดีที่สุด เพราะอินโดนีเซีย เริ่มหมดแรง และเปิดพื้นที่ให้สวนกลับได้มากขึ้น
ทว่าสุดท้ายก็ไม่สามารถเปลี่ยนโอกาสให้เป็นสกอร์ได้ ก่อนจะมาพลาดในช่วงดวลจุดโทษ กระทั่งจอดป้ายแค่รอบ 4 ทีมสุดท้าย
หนึ่งในนักเตะที่ถูกจับตามองมากที่สุดอย่าง เสกสรรค์ ราตรี กลับไม่สามารถแบกทีมภาระปลอกแขนกัปตันทีมได้อย่างที่หวัง ทั้งที่เคยผ่านเกมระดับทีมชาติชุดใหญ่มาแล้วถึง 10 นัด และแม้จะมี 1 แอสซิสต์ในเกมกับอินโดนีเซีย แต่ฟอร์มโดยรวมกลับดูฝืน ดูเล่นยากเกินไป และขาดสมาธิในหลายจังหวะ จนกลายเป็นหนึ่งในจุดอ่อนที่คู่แข่งจับทางได้ง่าย
อีกหนึ่งรายที่แฟนๆ อาจจะชื่นชมคือ ยศกร บูรพา กองหน้าผู้ทุ่มเทเกินร้อย วิ่งไม่มีหมด ไล่บี้ไม่หยุด แต่ถ้าจะมองในอีกมุมหนึ่ง - หน้าที่ของศูนย์หน้าคืออะไร?
การขยันอย่างเดียวไม่อาจทดแทนความเฉียบขาดในพื้นที่สุดท้ายได้ และนั่นคือสิ่งที่ทีมขาดมาตลอดทั้งทัวร์นาเมนต์
ขณะที่ ธวัชชัย ดำรงค์อ่องตระกูล เองก็เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อปลายเดือนมิถุนายน ดังนั้นเวลาจัดทีมและเตรียมความพร้อมจึงค่อนข้างจำกัด แถมไม่ได้ใช้งานผู้เล่นที่ดีที่สุดทั้งหมด เพราะหลายคนอยู่ในแผนของทีมชุดใหญ่หรือไม่ได้รับการปล่อยตัวจากสโมสร จึงไม่อาจตำหนิเขาได้เต็มปาก
แต่กระนั้น สิ่งที่หลายฝ่ายผิดหวังคือแนวทางการเล่นที่เลือกใช้ในเกมกับอินโดนีเซีย ซึ่งเน้นรับลึกเกินไป ทั้งๆ ที่รูปแบบเกมรุกของเจ้าถิ่นมีจุดให้โจมตีได้อยู่ไม่น้อย หากกล้าเปิดหน้าแลกมากกว่านี้ อาจมีโอกาสพลิกเกมมากขึ้น
สิ่งที่น่ากังวลต่อไปคือการเตรียมทีมสำหรับ รอบคัดเลือก เอเชียน คัพ 2026 ในเดือนกันยายน ซึ่งไทยต้องเผชิญหน้ากับ มองโกเลีย, เลบานอน และมาเลเซีย คู่แข่งที่ยากขึ้นเป็นลำดับ
ช่วงเวลาดังกล่าวยังคาบเกี่ยวกับ คิงส์ คัพ ของชุดใหญ่ ซึ่งไม่แน่ว่า 'โค้ชวัง' จะสามารถเรียกนักเตะที่ต้องการได้ครบหรือไม่
อีกด้านหนึ่งก็ต้องไม่ลืมว่า มาซาทาดะ อิชิอิ เฮดโค้ชทีมชาติไทย กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายเลือดใหม่ ทำให้ผู้เล่นรุ่นนี้หลายรายอาจถูกดันขึ้นเร็ว แปลว่าความสม่ำเสมอของยู-23 ก็จะสั่นคลอนมากยิ่งขึ้นหากไม่จัดระบบให้ดี
สุดท้ายนี้ ต้องบอกว่า 'กำลังใจ' เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าให้มากเกินไป ก็อาจทำให้คนรับเคยตัว และไม่เห็นความสำคัญของการพัฒนา
ทีมชาติไทย มีศักยภาพที่เหนือกว่าทุกชาติภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ต้องอย่าลืมว่าประเทศอื่นๆ ก็พัฒนขึ้นเรื่อยๆ
- อินโดนีเซีย มีแข้งลูกครึ่งล้นทีม โดยเฉพาะชุดใหญ่ที่กำลังลุ้นไป เวิลด์ คัพ รอบสุดท้าย
- เวียดนาม มาตรฐานของพวกเขาในระดับนานาชาติสูงอยู่แล้ว
- มาเลเซีย อาจจะตกหล่นไปบ้าง แต่ฟุตบอลภายในกำลังรุดหน้า อีกไม่กี่ปี พวกเขาจะก้าวขึ้นมาทาบรัศมีแน่นอน
- ฟิลิปปินส์ เองก็อุดมไปด้วยนักเตะสองสัญชาติ หากพีกพร้อมๆ กัน ก็จะกลายเป็นอีกทีมที่อันตรายเหลือร้าย
หากไทย ยังย่ำอยู่กับที่ ความฝัน 'ฟุตบอลไทย ไปฟุตบอลโลก' ก็คงจะลอยอยู่ในอากาศไปอีกนาน
เราต้องเริ่มต้นจากการมองปัญหาให้ชัด และกล้าที่จะแก้จริง ไม่ใช่แค่ยอมรับและเดินต่อโดยไม่เรียนรู้อะไรเลยจากความพ่ายแพ้
เพราะต่อให้ฝันไกลแค่ไหน สุดท้าย 'สนามแข่งขัน' ก็จะเป็นผู้ให้คำตอบเสมอ