ทีมชาติไทย U23 พ่ายจุดโทษ อินโดนีเซีย 6-7 หลังเสมอกัน 1-1 ทำให้ "ช้างศึก" ร่วงรอบรองชนะเลิศอาเซียน คัพ 2025 เปิด 5 ประเด็นสำคัญหลังเกม ทั้งแท็กติก, ฟอร์มผู้เล่น, ปัญหาจบสกอร์ และภาพรวมอนาคตลูกหนังไทยในภูมิภาค
[ 1 ] แท็กติกเป็นผล แต่ผู้เล่นไม่ตอบสนอง
ด้วยเงื่อนไขสำคัญสองอย่าง - หนึ่งคือการต้องเจอกับเจ้าภาพ อินโดนีเซีย ที่มีแรงเชียร์มหาศาล และสองคือข้อจำกัดด้านตัวผู้เล่นที่ขาดทั้งประสบการณ์และความเข้าใจในเกมระดับชาติ ทั้งยังไม่อาจใช้นักเตะชุดที่ดีที่สุดมาลุยทัวร์นาเมนต์ระดับภูมิภาคอีกต่างหาก
จากปัจจัยข้างต้น มันทำให้ทีมชาติไทย เลือกใช้แผนการเล่นที่เน้นความรัดกุม พร้อมกับรอโอกาสสวนกลับอย่างมีจังหวะ
ในแง่แท็กติก ถือว่ามาถูกทาง - อินโดนีเซีย แม้จะครองบอลได้มากกว่า แต่ก็ไม่อาจเจาะแนวรับช้างศึกเข้าไปจบสกอร์เน้นๆ ได้มากนัก
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นปัญหาคือการตอบสนองในจังหวะสวนกลับของผู้เล่นไทย ที่ยังช้า, ขาดความแม่นยำและไม่สอดประสานกันได้ดีนัก
หลายจังหวะ เกมสวนกลับของทัพช้างศึกควรจะมีลุ้นจบสกอร์ แต่กลับถูกตัดตอนกลางคัน เนื่องจากการขาดการเติมเต็มของผู้เล่นริมเส้น หรือมิดฟิลด์ไม่มีการสอดขึ้นมารับบอลได้เร็วพอ
ส่วนประตูที่ถูกตีเสมอ 1-1 ก็มาจากการเสียสมาธิ เพราะประกบ เยนส์ ราเว่น ไม่ดีพอ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าศูนย์หน้าเชื้อสายเนเธอร์แลนด์ส ผู้นี้คือตัวทีเด็ดของอินโดนีเซีย
สถานการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้แท็กติกจะวางไว้ดี แต่การเคลื่อนที่และการประสานงานไม่ตอบสนอง ประสิทธิภาพของแผนที่วางไว้ย่อมไม่เกิดผล
[ 2 ] เสกสรรค์ ไม่สร้างสรรค์
เสกสรรค์ ราตรี คือชื่อที่แฟนฟุตบอลหลายคนฝากความหวังไว้มากในชุดนี้ ไม่เพียงเพราะเขาเคยผ่านการติดทีมชาติชุดใหญ่มาแล้ว แต่ยังเพราะมีปลอกแขนกัปตันทีมสวมใส่อยู่บนแขน
ด้วยพรสวรรค์ที่มี บวกดีกรีที่เหนือกว่าเพื่อนๆ ในชุดยู-23 มันบ่งชี้ว่าเด็กหนุ่มชาวราชบุรี ควรจะเป็น 'ความหวัง' ของทัพช้างศึก
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสนามกลับไม่ใช่แบบนั้น โดยเฉพาะเกมกับอินโดนีเซีย - เสกสรรค์ มีช่วงเวลาที่ดูขาดความมั่นใจ หลายจังหวะพยายามเลี้ยงฝ่าดงแข้งเจ้าถิ่นแบบฝืนตัวเอง และมักจะเสียบอลในพื้นที่สำคัญ บางจังหวะก็เลือกช็อตที่ยากจนเกินไป โดยไม่มองหาตัวเลือกที่ดีกว่า
แม้จะมี 1 แอสซิสต์ที่ถวายพานงามๆ ให้ ยศกรบูรพา แต่หากมองภาพรวม เขายังไม่สามารถสร้างความแตกต่างให้กับทีมได้เลย โดยเฉพาะในช่วงที่ไทย จำเป็นต้องเปลี่ยนจังหวะเกมเร็วเพื่อสวนกลับ
ด้วยพรสวรรค์ บวกด้วยประสบการณ์ที่เพิ่มพูน หากว่า เสกสรรค์ ยังไม่สามารถก้าวข้าม คำว่า 'ดาวรุ่งตลอดกาล' ก็จะติดตัวเขาไปอีกยาวๆ
[ 3 ] ปัญหาเดิมๆ จบสกอร์ไม่คม
เกมกับอินโดนีเซีย ทัพช้างศึกมีโอกาสยิงถึง 14 หน โดยเป็นการซัดตรงกรอบ 5 ครั้ง และเปลี่ยนเป็น 1 ประตู ซึ่งในแง่ตัวเลขอาจไม่ได้เลวร้าย แต่เมื่อเทียบกับโอกาสที่ได้มา รวมถึงลักษณะของเกมที่เล่นกับคู่แข่งระดับเดียวกัน มันยังถือว่าไม่ดีพอ
ยศกร บูรพา ในตำแหน่งศูนย์หน้าตัวเป้า อาจจะได้รับคำชื่นชมในเรื่องความทุ่มเทและพละกำลังความแข็งแกร่ง แถมยังยิงได้หนึ่งประตู แต่ถ้ามองในแง่ประสิทธิภาพของคำว่า 'ศูนย์หน้า' ต้องบอกว่าเขายังห่างไกลจากการเป็นความหวังของทีมชาติไทย
ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ของวงการลูกหนังสยามประเทศ เพราะตั้งแต่ชุดเล็ก ไปจนถึงชุดใหญ่ ความสามารถในการสร้างโอกาสอาจจะดีขึ้น แต่ความคมในการจบสกอร์ยังเป็นจุดอ่อนเสมอ
นี่เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะถ้าหมดยุค ธีรศิลป์ แดงดา ต่อด้วย ปรเมศย์ อาจวิไล ณ ปัจจุบัน ก็ยังมองหาความหวังคนใหม่ไม่เจอเลยสักที
[ 4 ] ศรวัสย์ - ชวัลวิทย์ - พิชิตชัย แววดี
แม้ผลงานโดยรวมของทีมจะน่าผิดหวัง แต่ยังมี 3 นักเตะที่เปล่งประกายออกมาในเกมนี้ และควรได้รับคำชื่นชมในฐานะอนาคตของฟุตบอลไทย
ศรวัสย์ โพธิ์สมัน จอมหนึบจาก สงขลา เอฟซี แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจ, ความเยือกเย็นและการยืนตำแหน่งที่ยอดเยี่ยม โดยเฉพาะในการป้องกันจุดโทษช่วงยิงตัดสิน ทำให้เห็นว่าตำแหน่งผู้รักษาประตูมีอนาคตแน่นอน
พิชิตชัย เศียรกระโทก เซนเตอร์ฮาล์ฟจอมโหดที่โชว์พลังดุดัน, อ่านเกมเฉียบและกล้าเข้าสกัดแบบไม่กลัวเจ็บ แม้จะยังต้องขัดเกลาประสบการณ์ แต่หากได้รับการปั้นแต่งอย่างถูกวิธี เขาคือหนึ่งในกองหลังของทัพช้างศึก
ชวัลวิทย์ แซ่เล้า ดาวรุ่งเนื้อหอมจาก บางกอก เอฟซี โดดเด่นเรื่องเทคนิค, กล้าเล่น-กล้าลุยและเพิ่มมิติเกมรุกได้หลากหลาย หากเพิ่มความเด็ดขาดในการจบสกอร์ เขาน่าจะเก่งกาจกว่านี้อีกหลายเท่าตัว
[ 5 ] ก้าวข้ามอาเซียนที่ยังต้องรอต่อไป
แม้ไทย จะมีลีกแข็งแกร่งและระบบสโมสรดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน แต่ผลงานของทีมชาติกลับสวนทาง
เกมกับอินโดนีเซีย จบลงด้วยสถิติเหล่านี้...
- ครองบอลน้อยกว่า (ไทย 30% - อินโด 70%)
- ฟาวล์มากกว่า (ไทย 11 - อินโด 3)
- จ่ายบอลน้อยกว่าแบบขาดลอย (ไทย 232 - อินโด 680 ครั้ง)
สิ่งเหล่านี้คือคำตอบว่า ไทย ยังไม่พร้อมที่จะก้าวขึ้นไปเหนืออาเซียน จริงๆ เพราะขาดทั้งระบบการเล่นร่วมกันที่ชัดเจนและการพัฒนาอย่างมีทิศทาง
หากไม่เริ่มจากโครงสร้างฟุตบอลรากหญ้า, การวางระบบโค้ชให้มีแนวทางไปในทิศเดียวกัน รวมถึงการพัฒนาผู้เล่นแบบต่อเนื่อง
ความฝัน 'ฟุตบอลไทย ไปฟุตบอลโลก' ก็อาจยังคงเป็นเพียงวาทกรรมสวยหรูในกระดาษ
อนาคตลูกหนังไทย กำลังยืนอยู่บนทางแยก อยู่ที่จะเลือกเดินตามความเคยชินแบบเดิมๆ หรือจะกล้าสร้างระบบที่แข็งแกร่งกว่านี้
คำตอบนั้น…ไม่ได้อยู่ที่ชัยชนะนัดเดียว แต่อยู่ที่ความกล้าเปลี่ยนแปลงในระยะยาว