บอลหญิงชิงแชมป์โลก 2031 เพิ่มทีมเพิ่มโอกาส แต่ ทีมชาติไทย ต้องเพิ่มคุณภาพ

บอลหญิงชิงแชมป์โลก 2031 เพิ่มทีมเพิ่มโอกาส แต่ ทีมชาติไทย ต้องเพิ่มคุณภาพ
ฟีฟ่าเพิ่มทีมลุยศึกฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก 2031 เป็น 48 ชาติ เปิดทางเอเชียคว้าโควตามากขึ้น ทีมชาติไทยมีลุ้นลุยเวิลด์คัพสมัยที่ 3 แต่ต้องเร่งพัฒนาลีก ระบบเยาวชน และผลงานในระดับทวีปเพื่อยืนระยะในเวทีโลก

สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ประกาศเพิ่มทีมในการแข่งขันฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก 2031 เป็น 48 ทีม จากเดิมรอบสุดท้ายในการแข่งขันชิงแชมป์โลกจะมีเพียง 32 ทีม การเพิ่มทีมตรงนี้ยังผลให้โควตาแต่ละทวีปเพิ่มเติมตามมาด้วย แต่ในรายละเอียดทุกชาติของทุกทวีปยังมีเวลาปรับปรุงอีกมากถึง 5-6 ปี เต็มในการบกระดับสู่ความหวัง อะไรที่ดูเหมือนว่าง่ายอาจจะไม่ใช่ขนมกรุบกรอบเพราะหากแนวคิดฟุตบอลหญิงของชาติรองๆเปลี่ยนไปทั้งเรื่องของการเติมผู้เล่นลูกครึ่ง โอนสัญชาติ ลงทุนในระบบมากขึ้น จะเพิ่มทวีคูณการแย่งโควตาสูงขึ้นตามมา

โควตาฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก  2031

ยุโรป: 20 ทีมอัตโนมัติ + 2 ทีมเพลย์ออฟ

เอเชีย: 8 ทีมอัตโนมัติ + 2 ทีมเพลย์ออฟ

อเมริกาใต้: 7 ทีมอัตโนมัติ + 2 ทีมเพลย์ออฟ

แอฟริกา: 4 ทีมอัตโนมัติ + 2 ทีมเพลย์ออฟ

คอนคาเคฟ: 5 ทีมอัตโนมัติ (รวมเจ้าภาพสหรัฐฯ) + 3 ทีมเพลย์ออฟ

โอเชียเนีย: 1 ทีมอัตโนมัติ + 1 ทีมเพลย์ออฟ

ทีมเพลย์ออฟกลาง: 3 ทีมจากโควตาเพลย์ออฟ 6 ทวีป 12 ทีม 

ทวีปเอเชีย 8+2 ทีม มีขาประจำมีชาติยกระดับ

ก่อนถึงปี 2031 ที่จะมีการเพิ่มทีมในฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก เป็น 48 ทีม ทุกทวีปจะได้เห็นคุณภาพตัวเองทันทีในการแข่งขันฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก 2027  ที่บราซิล เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน สำหรับทวีปเอเชียในปี 2027 ได้โควตา 6+2 ทีม  ใช้รายการชิงแชมป์เอเชีย 2026 เป็นการคัดเลือกทีม หากให้จัดเกรดทีมขาประจำและทีมที่มักสอดแทรกภาพในทวีปเอเชียถือว่าชัดเจน

- ทีมขาประจำ 5 ทีม : ญี่ปุ่น 9 ครั้ง ,จีน 8 ครั้ง,ออสเตรเลีย 8 ครั้ง ,เกาหลีเหนือ 4 ครั้ง ,เกาหลีใต้ 4 ครั้ง 

- ทีมที่เริ่มพัฒนาความสำเร็จ 4 ทีม : ทีมชาติไทย 2 ครั้ง, ฟิลิปปินส์ 1 ครั้ง ,เวียดนาม 1 ครั้ง ,ไต้หวัน

หากมองจากสถานการณ์ตรงนี้แล้วสถานการณ์ของทีมชาติไทยมีโอกาสสูงมากที่จะไปฟุตบอลโลกสมัยที่ 3 แต่ก็อย่าลืมว่าเมื่อจำนวนทีมเพิ่มขึ้นในแง่ของโควตาชาติต่างๆก็เริ่มทำงานกันหนักขึ้น เพื่อไปให้ถึงปลายทาง ชาติในเอเชียตะวันตกอาจจะต้องดูการเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกครั้งในครั้งนี้ว่าพวกเขาจะจริงจังแค่ไหน? แต่โดยลำพังเรื่องของวัฒนธรรมแล้วชาติจากเอเชียตะวันตกยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง ซึ่งตรงนี้ตามต่อว่าพวกเขามีความมุ่งมั่นกับการลงทุนแค่ไหน? สิ่งสำคัญสำหรับทีมฟุตบอลหญิงไทยต้องทำผลงานให้ดีในชิงแชมป์เอเชียเริ่มตั้งแต่ครั้งนี้ เพราะว่ารายการชิงแชมป์เอเชียจะเป็นการคัดทีมไปบอลโลก จะมีผลต่อการจัดทีมวางในครั้งต่อๆไปในการจับสลากแบ่งสายเอเชียกันปัญหาตกม้าตายโดยไม่จำเป็น

พัฒนาลีก ยกระดับเยาวชนเกมระดับทวีป

ตั๋วฟุตบอลโลกของทีมฟุตบอลสาวไทยมีโอกาสสูงลิบลิ่วมากกว่าฟุตบอลชายเพราะคู่แข่งไม่เยอะแจ้งสถานะชัดเจน เพียงแต่ว่าถ้าอยากกินความสำเร็จระยะยาว จำเป็นต้องจัดการลีกฟุตบอลอาชีพในประเทศให้ดี เติมความแข็งแกร่งเข้าไปด้วยวิธีการเพิ่มการมีส่วนร่วมกับชุมชนให้มากขึ้น และที่สำคัญโครงสร้างระดับเยาวชนที่ต้องได้โค้ชเก่งๆไปใส่เพิ่มจำนวนประชากรคุณภาพในระบบให้มากขึ้น และคาดหวังกับความสำเร็จในระดับเยาวชนเอเชีย สิ่งที่จะลืมไม่ได้เลยคือการส่งออกนักเตะไปเล่นต่างแดนในลีกที่คุณภาพสูงกว่า เพราะฟุตบอลโลก 2031 ,2035 การันตีแล้วว่าทีมรอบสุดท้ายจะแข่งขัน 48 ทีม สิ่งที่ต้องทำคือการพัฒนารากหญ้าให้ยอดได้ออกดอกออกผลเรื่อยๆ (แบบมีคุณภาพ) 

แข็งแกร่งเอเชียเพื่อไม่โดนตบเวิลด์คัพ

แม้ว่า ทีมชาติไทย จะไปเล่นฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก 2 ครั้ง ในปี 2015 ที่แคนาดา และ 2019 ที่ฝรั่งเศส แต่เราก็มีอันต้องตกรอบแรกทั้ง 2 ครั้ง  แถมมีสถิติด้านลบที่ยังเป็นสถิติตลอดกาลของฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก ที่ไม่น่าจดจำเท่าไรนัก เพราการไปฟุตบอลโลกมาตรฐานเราต้องยกระดับขึ้นเรื่อยๆ 

- สหรัฐฯ 13-0 ทีมชาติไทย l แพ้ชนะขาดลอยสุดในเกมเดียว

- สหรัฐฯ 13-0 ทีมชาติไทย l เสียประตูมากสุดในเกมเดียว

- ทีมชาติไทย เสียประตู 4 ประตู หรือมากกว่ามากถึง 4 เกม จาก 6 นัด 

- ทีมชาติไทย ค่าเฉลี่ยเสียประตูสูงสุดต่อเกม 6.67 ประตู

- ทีมชาติไทย ผลต่างประตูได้เสียมากสุด -19 ประตู 

นี่คือตัวเลขไม่น่าจดจำ แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการบริหารจัดการเพิ่มความแข็งแกร่งเพื่อออกไปสู้ไม่ใช่เพียงสู้เพื่อตั๋วบอลโลกเท่านั้นเพราะการเดินทางไปแข่งขันควรมีภูมิคุ้มกันให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจของคนรุ่นต่อๆไปที่จะเข้าสู่ระบบฟุตบอลหญิงเพื่อตัวเลือกสร้างโอกาสในโอกาสด้วยวิธีการของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย เพราะฟุตบอลหญิงมีโอกาสได้ตั๋วไปบอลโลกสูงคุณภาพต้องสูงตาม

อย่ามองข้ามการลงทุนเพื่ออยู่บนกองเงินกองทอง

หากย้อนกลับไปดูตัวเลขเม็ดเงินในการแข่งขันฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก 2023 ที่ผ่านมา  นับว่ามหาศาลพอควร ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกรับทรัพย์แน่ๆ 54 ล้านบาท นอกจากนั้น นักตะทุกคนจะได้รับเงินจากฟีฟ่าเป็นการตอบแทนที่พาทีมสำเร็จในฟุตบอลโลก แค่รอบแบ่งกลุ่มก็รับอยู่ที่ 1 ล้านบาทเศษ โดยข่าวล่าสุดฟีฟ่าจะมีการเพิ่มจำนวนเงินในการแข่งขันฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก 2027 ให้ใกล้เคียงกับฟุตบอลชายและเงินที่จะตอบแทนนักเตะที่พาทีมผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายฟุตบอลโลก เม็ดเงินตรงนี้ถือว่ามหาศาลเมื่อเทียบกับการต่อสู้ นอกจากนั้นในทุกๆปี ฟีฟ่ายังมีการมอบเงินให้กับสมาชิก 211 ชาติ สำหรับการพัฒนาฟุตบอลหญิงและนะดับเยาวชน 

เงินรางวัลในแต่ละรอบฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก 2023 / สำหรับทีม

- รอบแบ่งกลุ่ม : 1,560,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 54,038,400บาท)

- รอบ 16 ทีม : 1,870,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 64,776,800บาท)

- รอบก่อนรองชนะเลิศ : 2,180,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 75,515,200บาท)

- อันดับ4 : 2,455,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 85,041,200บาท)

- อันดับ3 : 2,610,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 90,410,400บาท)

- รองชนะเลิศ : 3,015,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 104,439,600บาท)

- ชนะเลิศ : 4,290,000  เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 148,605,600บาท)

เงินที่มอบให้นักเตะฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก 2023 / ต่อคน

- รอบแบ่งกลุ่ม : 30,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1,039,020 บาท)

- รอบ16 ทีม : 60,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2,078,040บาท)

- รอบก่อนรองชนะเลิศ : 90,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3,117,060บาท)

- อันดับ4 : 165,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 5,715,600บาท)

- อันดับ3 : 180,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 6,235,200บาท)

- รองชนะเลิศ : 195,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 6,754,800บาท)

- ชนะเลิศ : 270,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 9,352,800บาท)



ที่มาของภาพ : GettyImages
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport