โปรเจ็กต์ Dream จาก "ไปฟุตบอลโลก" สู่ "เป็นแชมป์โลก"

คุณจริงจังกับความฝันของตัวเองแค่ไหน

นั่นสิครับ.. เราจริงจังกับความฝันของเราแค่ไหนกันนะ ถ้าเราคิดว่าเราจริงจังที่สุดแล้ว ทำไมระยะห่างระหว่างเรากับความฝันของเราถึงยังไม่กระเตื้องไปไหนเลย

หรือว่าในความเป็นจริงแล้ว เรายังจริงจังกับมันไม่พอ.. ที่เราคิดว่าจริงจังเต็มที่แล้ว พยายามเต็มที่แล้วนั่นแหละ มันก็อาจจะยังไม่พอ

เพราะความฝันว่าจะไปฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายให้ได้ มันอาจจะต้องเอาความจริงจังนั้นคูณเข้าไปอีกหลายเท่า

อาจจะห้าเท่า สิบเท่า หรือยี่สิบเท่า.. ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน

เมื่อสัปดาห์ก่อนผมมีโอกาสไปเยี่ยมชมที่ทำการและพิพิธภัณฑ์ฟุตบอลของสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น (เจเอฟเอ) ในทริปที่เจลีกและสยามสปอร์ตเชิญสื่อและอินฟลูเอนเซอร์หลายคนไปสัมผัสบรรยากาศลูกหนังที่นั่น

เรามีโอกาสได้พูดคุยสัมภาษณ์กับตัวแทนของเจเอฟเอ และเดินชมพิพิธภัณฑ์ที่มีจำนวน 2-3 ชั้นลึกลงไปใต้ดิน

สัมผัสได้ถึงอารมณ์ร่วมและแรงบันดาลใจมากมาย นึกถึงเด็กๆ ญี่ปุ่นที่มาทัศนศึกษาคงจะได้พลังด้านบวกกลับไปเยอะ บางคนในจำนวนนั้นอาจใช้มันเป็นแรงผลักดันสู่การเป็นนักฟุตบอลอาชีพและดาวเด่นในอนาคต

ญี่ปุ่นไปฟุตบอลโลกมาแล้ว 6 สมัย.. กาตาร์ 2022 ที่กำลังจะมาถึงคือสมัยที่ 7

ทั้ง 7 สมัยที่ว่านั้นเกิดขึ้นติดต่อกัน

นับตั้งแต่ปี 1998 ที่ฝรั่งเศสซึ่งญี่ปุ่นลบฝันร้ายแห่งโดฮาเมื่อ 4 ปีก่อนหน้านั้นลงได้สำเร็จ พวกเขาก็ไม่เคยหันมองข้างหลังอีกเลย

ทุกอย่างล้วนพุ่งไปข้างหน้า เป้าหมายถูกขยับให้ไกลออกไปอีก

จากที่ "ต้องไปฟุตบอลโลกให้ได้" ก็กลายเป็น "ต้องไปฟุตบอลโลกให้ได้อย่างต่อเนื่อง" ไปเป็น "ต้องเข้ารอบน็อกเอ๊าต์ฟุตบอลโลกให้ได้ และทำมันให้ได้อย่างสม่ำเสมอ"

ฟุตบอลโลก 6 สมัยที่ผ่านมา ญี่ปุ่นตกรอบแรก 3 ครั้ง ผ่านรอบแรก 3 ครั้ง

มันเกิดขึ้นแบบสลับฟันปลา ตก-ผ่าน-ตก-ผ่าน-ตก-ผ่าน และยังไม่เคยไปไกลเกินกว่ารอบ 16 ทีมสุดท้าย

ยิงจุดโทษกับปารากวัยเมื่อปี 2010 กับแพ้เบลเยียมในวินาทีบาป 2-3 เมื่อปี 2018 คือผลงานที่ใกล้เคียงที่สุดกับการทะลุเข้าไปถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายของโลก

กระนั้นมันคือการพัฒนาที่เราต่างมองเห็นอยู่ตรงหน้า ขนาดทีมอันดับหนึ่งของโลกอย่างเบลเยียมยังเลือดตาแทบกระเด็นกว่าจะรวมพลังกลับมายิงสามประตูรวดแซงชนะขุนพลซามูไรได้

จากที่ใช้นักเตะที่เล่นในประเทศล้วนๆ ในครั้งแรกสุดปี 1998 ขุนพลแดนอาทิตย์อุทัยของ อากิระ นิชิโนะ ที่เดินทางไปลุยศึกรัสเซีย 2018 มีผู้เล่นที่ค้าแข้งในต่างแดนถึง 15 คน

15 จาก 23 คนเล่นในยุโรป ไม่เพียงเท่านั้นในจำนวน 8 คนที่เหลือยังมีสองคนเคยไปเล่นในยุโรปมาแล้ว และอีกสี่คนไปยุโรปหลังจบฟุตบอลโลกครั้งนั้น

นี่คือคุณภาพของนักฟุตบอลญี่ปุ่น

เป้าหมายที่จะผ่านรอบแรกฟุตบอลโลกให้ได้อย่างสม่ำเสมอคือเรื่องที่ต้องทำให้สำเร็จต่อไป แต่เราเห็นการพัฒนาของพวกเขา และเราก็รู้จักพวกเขาดีพอที่จะรู้ว่าเวลาตั้งใจทำอะไรให้ได้นั้นคนญี่ปุ่นจะจริงจังกับมันแค่ไหน

พิพิธภัณฑ์ฟุตบอลที่เจเอฟเอนั้นบอกเล่าเรื่องราวของญี่ปุ่นกับเกมลูกหนังตั้งแต่อดีต จากวันที่ล้มลุกคลุกคลานมาถึงวันนี้ที่ก้าวกระโดดทะลุขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งของทวีปเอเชีย ไปเตะรอบสุดท้ายฟุตบอลโลกเป็นว่าเล่น และถึงจุดที่กล้าฝันว่าตัวเองจะเป็นแชมป์โลก

ถ้าผมเป็นคนญี่ปุ่นก็คงจะภูมิใจและอยากจะชวนเพื่อนต่างชาติมาเดินดูพิพิธภัณฑ์ฟุตบอลนี้ไปด้วยกัน ได้อธิบายและตอบคำถามเพื่อนๆ ในเรื่องต่างๆ หรือเฝ้ามองเด็กประถมตัวเล็กๆ ที่มาทัศนศึกษาและตื่นตาตื่นใจกับการวิ่งไล่อ่านเรื่องราว ตาวาวกับถ้วยรางวัล หรือตะโกนเรียกเพื่อนมาดูเสื้อแข่งของนักฟุตบอลตำนานและนักเตะคนโปรด

คาสุโยชิ มิอูระ มาซามิ อิฮาระ ฮิเดโตชิ นากาตะ ชินจิ โอโนะ ชุนสึเกะ นากามูระ มาโกโตะ ฮาเซเบะ ยูโตะ นางาโตโมะ เคซึเกะ ฮอนดะ ชินจิ คากาวะ

แม้กระทั่ง โอโซระ สึบาสะ เฮียวงะ โคทาโร่ วากาบายาชิ เกนโซ มิซากิ ทาโร่ มิสุงิ จุน มัตสึยาม่า ฮิคารุ ก็ยังโผล่มามอบความฝันให้กับทุกๆ คน..

ผมเองยังยืนดูเสื้อหมายเลข 7 ของ มาซากิโยะ มาเอโซโนะ อยู่นานสองนาน เพลงแข้งเทวดาของเขาที่สุพรรณบุรีในวันนั้นยังตราตรึง.. ความเจ็บปวดเคียดแค้นในวันนั้นเปลี่ยนเป็นประทับใจฝังแน่นไม่ลืมเลือนจนถึงวันนี้ เขาคือหนึ่งในนักเตะสุดโปรดของผม

นั่นล่ะครับ แรงบันดาลใจอบอวลไปหมด ที่สำคัญคือพวกเขามีรากฐานอันมั่นคงที่พร้อมเป็นพลังผลักดันแรงบันดาลใจเหล่านั้นให้เดินหน้าสู่ความเป็นจริง ด้วยโครงสร้างที่แข็งแรงมาตั้งแต่ฟุตบอลระดับเยาวชน มัธยม มหาวิทยาลัย สามารถสร้างและเฟ้นหานักฟุตบอลชั้นดีได้มากมายในแต่ละปี

นั่งฟังตัวแทนของเจเอฟเอตอบคำถามของน้องๆ นักข่าวและอินฟลูเอนเซอร์ รับรู้ได้เลยว่าหลายๆ เรื่องที่เรายังล้มๆ ลุกๆ ไปไหนไม่ได้ไกลอย่างเช่นความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนของฟุตบอลท้องถิ่น การสร้างเอกลักษณ์และความนิยมให้กับสโมสร แต่ละสโมสรสามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง มีโมเดลการตลาดเข้าไปจับ โครงสร้างในภาพรวมที่สามารถมองเห็นได้ร่วมกัน หรือเรื่องอื่นๆ อีกมากมายที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาวงการลูกหนังนั้นเขาทำมันได้นานแล้ว

นานและยั่งยืนจนกลายเป็นพื้นฐานสามัญไปแล้ว เขาแทบไม่ได้พูดถึงมันเลยราวกับว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่คุณต้องมีอยู่แล้ว เหมือนเวลาออกจากบ้านก็ต้องใส่รองเท้า เวลาอาบน้ำก็ต้องถูสบู่ หรือเวลาข้ามถนนก็ต้องมองดูรถให้ดีก่อนอะไรทำนองนั้น

ครั้งหนึ่งญี่ปุ่นก็เคยเป็นอย่างเรา มีปัญหาเหมือนเรา แต่เขาผ่านมันไปได้แล้ว จนเมื่อถึงจุดหนึ่งก็อยู่ตัว วางใจได้ว่ามันสามารถเดินหน้าไปได้ต่อ เขาก็มองหาพัฒนาการด้านอื่นๆ ต่อไป เพื่อทำความฝันให้เป็นความจริง

พวกเขามีโปรเจ็กต์ Dream ที่ตั้งเป้าจะเป็นแชมป์โลกภายในปี 2050

โปรเจ็กต์นี้เกิดขึ้นหลังจากเสร็จสิ้นการทำหน้าที่เจ้าภาพร่วมในฟุตบอลโลกปี 2002 ซึ่งญี่ปุ่นผ่านเข้ารอบน็อกเอ๊าต์ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

เข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกได้แล้ว ผ่านรอบแรกฟุตบอลโลกได้แล้ว เป้าหมายก็ต้องไปให้ถึงแชมป์โลกสิ

มันอาจจะดูไกลในวันนั้น และยังไม่ได้เข้าใกล้ความจริงในวันนี้ถ้าดูเพียงผลลัพธ์ที่ออกมาจากรอบที่เข้าไปถึงในฟุตบอลโลก แต่พวกเขาก้าวเดินไปข้างหน้าอยู่ทุกวัน

โปรเจ็กต์ 50 ปีอาจจะฟังดูยาว แต่มันเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นในโครงสร้างฟุตบอลของเขา เพราะในรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ พวกเขายังมีโครงการระยะสั้นกับระยะกลางให้ทำ เพื่อความมั่นคงสู่โครงการระยะยาวที่วางเอาไว้

50 ปี 70 ปี หรือ 100 ปี ไม่ใช่เรื่องน่าตลกหรือน่ารันทดท้อสำหรับการวางเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ ญี่ปุ่นไปฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้ด้วยแผนงานที่วางไว้ก่อนหน้านั้นราว 30 ปี แล้วพวกเขาก็วางโปรเจ็กต์ Dream ต่อในกำหนดเวลาอีก 50 ปี

จาก "ไปฟุตบอลโลก" สู่ "เป็นแชมป์โลก"


น่าตลกไหม? ญี่ปุ่นน่ะหรือจะไปบอลโลก ญี่ปุ่นน่ะนะจะเป็นแชมป์โลก

ในวันที่มีแต่คนหัวเราะ พวกเขาเดินหน้าไปเรื่อยๆ

ไม่มีอะไรน่าอาย ไม่มีอะไรน่าขายหน้า คนมีความฝันเดินตามความฝันผิดตรงไหน คนไม่มีความฝันเอาแต่หัวเราะเยาะความฝันของคนอื่นต่างหากที่น่าตลก

หันกลับไปดูอีกที จากเป้าหมาย "ไปฟุตบอลโลก" ที่เคยยากลำบากเลือดตาแทบกระเด็น พวกเขาเดินผ่านมันมาไกลเหลือเกิน ไกลจนบางทีเมื่อหันกลับมามองข้างหน้าอีกครั้ง เป้าหมาย "เป็นแชมป์โลก" อาจจะอยู่ใกล้กว่าแล้วด้วยซ้ำ

ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่จะมีความฝัน เราทุกคนต่างก็มีความฝัน เพียงบางคนฝันแล้วตื่นมาก็ลืมไป แต่บางคนฝันแล้วดิ้นรนหาทางไปให้ถึงความฝัน มุ่งมั่นอย่างถวายชีวิตเพื่อทำให้มันกลายเป็นความจริง

ฝัน.. แล้ววางแผนอย่างรอบคอบเพื่อความฝันนั้น หาวิธีที่ถูกต้องที่สุดที่จะทำมันสำเร็จ แล้วก็ลงมือทำอย่างจริงจัง ทำอย่างมุ่งมั่นไม่ลังเล ด้วยความศรัทธาและอดทน

อุทิศตนในทุกภาคส่วน ประสานไปในทิศทางเดียวกัน ตั้งแต่แฟนบอล หน่วยงานท้องถิ่น สโมสร สมาคมฟุตบอล ไปจนถึงภาครัฐและภาคเอกชน

ด้วยทุกคนมีความฝันแรงกล้าร่วมกัน และมีเพียงความร่วมแรงร่วมใจกันเท่านั้นที่จะทำให้มันกลายเป็นความจริง

นั่นคือ Dream ของเขา..

Dream ที่ไม่ใช่แค่วาดฝันสวยงามแล้วเอาแต่เฝ้ารอให้มันเกิดขึ้น

ในโลกแห่งความจริงไม่มีฝันอย่างนั้นหรอก การจะทำความฝันให้เป็นจริงต้องแลกด้วยหยาดเหงื่อและความเหนื่อยยากแสนสาหัสทั้งสิ้น

พวกเขาฝัน.. และเขาจริงจังอย่างที่แทบจะเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อให้มันกลายเป็นจริง นั่นล่ะคือ Dream ของพวกเขา

ตังกุย


ที่มาของภาพ : -
BY : ตังกุย
ณัฐพล ดำรงโรจน์วัฒนา
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport