ตำนาน...สตาร์ซอคเก้อร์รายวัน

ตำนาน...สตาร์ซอคเก้อร์รายวัน
15 สิงหาคม 2535 (1992) แทบลอยด์ฟุตบอลต่างประเทศ สื่อสิ่งพิมพ์ภายใต้บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท ถือกำเนิดขึ้นมา

จริงๆ จะว่าไปก่อนหน้านั้นมีแทบลอยด์ พิเศษ ต้อนรับเทศกาลบอลยูโร 1988 บอลโลก 1990, ยูโร 1992 ชิมลางมาก่อนแล้ว นอกเหนือไปจากฐานแฟนบอลสตาร์ซอคเก้อร์ รายสัปดาห์ และหนังสือบอลอย่างชูตโกล, เวิล์ด ซอคเก้อร์ ฉบับกลางสัปดาห์ อีกหลายเล่ม

แฟนบอลนอก...ในยุคโลกยังไม่ไร้พรมแดน การหา การติดตามข้อมูลบอลเป็นไปด้วยความยาก ดังนั้น สตาร์ซอคเก้อร์ รายสัปดาห์ เป็นฐานรองรับ ก่อนถึงจุดเริ่มต้นของ หนังสือบอลนอกรายวันอย่าง สตาร์ซอคเก้อร์

คนในออฟฟิส เรียก "เล่มเล็ก" เพราะไซส์เล็กแบบแทบลอยด์ ส่วนเล่มใหญ่คือสยามกีฬารายวัน  ที่ตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 2528 

ผมเองในฐานะแฟนหนังสือสยามสปอร์ต ตั้งแต่รายสัปดาห์, หนังสือเอ็กส์ตร้า, หนังสือแปล กลายเป็นคนทำงานในท้ายที่สุด

ดังนั้น.....ผมพอจะแอบอ้างได้บ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของ สตาร์ซอคเก้อร์ รายวัน ก็เพราะผมคือ  staff ชุดแรกของหนังสือพิมพ์เล่มนี้  

15 ส.ค. 1992  วางแผงเล่มแรก 

25 ส.ค. 1992  วันแรกที่ผมเริ่มต้นทำงานกับ สตาร์ซอคเก้อร์ รายวัน หลังจากผมสอบคัดเลือกผ่านเข้ามาทำงานเป็นทีมข่าวกีฬาต่างประเทศ พร้อมกับ คุณฉุย, โมนาลิซ่าและอีกท่านหนึ่งคุณ จ๋า 

ออฟฟิซ ของเราเหมือน อาศรม ครับ ซอยแคบๆ ยาวๆ จากแยกเกษมราษฏร์ ไปโผล่ใกล้ๆตลาดคลองเตย ถนนสุขุมวิทนั่นแหละ ก่อนค่อยย้ายที่มายังลาดพร้าว 48 และรามอินทรา 40 ในปัจจุบัน

สำหรับพวกเรา "สต๊าฟ" ชุดแรก เข้ามาเพื่อรองรับกับหนังสือพิมพ์รายวันเปิดใหม่ พร้อมกับรุ่นพี่หลายคนที่ทำงานอยู่ในกองบรรณาธิการก่อนแล้ว 

ตอนนั้น พี่โย่ง เอกชัย นพจินดา คือหัวหน้าแผนกข่าวกีฬาต่างประเทศ มีชื่อเสียงที่ช่อง 7 สี  นอกจากตอบจดหมาย "คัมภีร์ฟุตบอล" ทางรายสัปดาห์ พี่โย่ง ยังมีคอลัมน์ ในสตาร์ซอคเก้อร์ รายวันหน้าสุดท้ายชื่อ "ตามอำเภอใจสไตล์ย.โย่ง"

พี่น้องหนู ธราวุธ นพจินดา ก็มีคอลัมน์ กับน้องหนู ในซอคเก้อร์

พี่บิ๊กจ๊ะ สาธิต กรีกุล กลับมาจากการทำงานที่อังกฤษ ไปอ่านข่าวที่ช่อง3  แล้วเปิดพื้นที่ในซอคเก้อร์ คือการตอบจดหมาย "กับฟุตบอล กับแฟนๆ กับบิ๊กจ๊ะ" 

พี่กบ กิตติกร อุดมผล เตรียมบินไปทำงานที่อังกฤษเป็นปีที่สอง มีคอลัมน์ส่งมาจากอังกฤษ เช่นเดียวกันกับพี่ ต.โต้ง อิสรพงษ์ ผลมั่ง ตอนนั้นจะไปเป็นน้องใหม่ไปอังกฤษปีแรก เจ๊ หมวย มาเฟียรี บินไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส ไม่นานนักหลังจากน.ส.พ. วางแผง

นอกจากผมและสต๊าฟงานชุดแรกแล้วใน กองบก. ยังมี ก.ป้อหล่วน, ช่อคูน คอลัมนิสต์ทั้งสองท่านที่เป็นสายเยอรมนี แบบลึกซึ้งถึงแก่น สายอิตาลีก็พี่ หมู นพนันท์, เล็ก กระชุ่น, มร. อู๊ด (เคยพากย์เทนนิส ทางยูบีซี), พี่นพ ธีระ, พี่ยุ ชูตเอาต์ , พี่โอ้ ศาธนันท์, พี่ต๋อม กิตติ , พี่พงษ์ ตะวัน โลหิตอรุณ (แฟนลีดส์ เข้าเส้น) 

ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้คือทีมกองบอกอ ที่ต้องทำหนังสือเล่มนี้กัน โดยเหลือพื้นที่สุดท้ายคือหน้าหนึ่ง เอาไว้พาดหัวก่อนลงแท่นพิมพ์ ส่วนสำคัญส่วนนี้ ได้พี่ โอฬาร เชื้อบาง หรือ คุณเฉียบ เป็นคนจัดการคุมเข้ม ก่อนเป็นหนังสือสู่สายตาคอบอลในช่วงสายๆและบ่ายๆของแต่ละวัน

แม้เวลาผ่านไป 31 ปีจนกระทั่งน.ส.พ. ปิดตัวลงวันสองวันนี้...ผมยังจำวันแรกที่เข้ามาทำงานได้แม่นยำ 

งานวันแรกของผมเมื่อ 25 ส.ค. 1992 คือการเข้าเวร 2 ทุ่มครึ่ง ออกเวรตีห้า

คืนนั้นช่วงเบรกงานตอนเที่ยงคืน ผมกับคุณฉุยไปหาก๊วยเตี๋ยวกิน แถวซอยสุขุมวิท 24 ตรงข้ามโรงพิมพ์  กินเสร็จผมควักเงินจ่ายลี้ยงเตี๋ยว คุณฉุย....โดยบอกว่า

 "วันนี้วันเกิดเรา" คุณฉุย ยังอุทาน "เฮ้ย ทำงานวันแรกเป็นวันเกิด คลาสสิคจริง"

แย่หน่อยตรงที่ระหว่างกินเตี๋ยวกันนั้น มีคนเมาสองคน ตีกันเฉย

555555

งานช่วงแรกของเราหน้าที่หลักๆ คือฉีกกระดาษจากเทเลกส์ ข่าวกีฬา ของสามสำนักข่าว เอพี, เอเอฟพี, รอยเตอร์ส ซึ่งส่งมาทั้งคืน จากนั้นมาแบ่งกันแปล คืนหนึ่งก็ 7-10 ข่าว บวกกับการแปลบทความ....ลงหนังสืออีกคนละเรื่องสองเรื่อง ต่อสัปดาห์ 

บทความที่ผมแปลเรื่องแรกคือ "สจวร์ต ริปลีย์"  ปีกทีเด็ดที่ตอนนั้นย้ายจากมิดเดิลส์โบรช์ มาร่วมทีมแบล็คเบิร์น โรเวอร์ส.....

จากชุดทีมแปลข่าวชุดแรก...ภายใน 8-9 เดือน กองบก. เริ่มใหญ่ขึ้น ทีมงานตามสมทบ มี สมเก้, ป๋ายาว ทั้งสายเยอรมนีและอิตาลี ต่อด้วย ลิตเติลโจ, นัมเบอร์เทน  ที่สอบคัดเลือกเข้ามาช่วงต้นปี 1993 พอปลายปี "บอ บู๋" ก็ตามมาสมทบ จากนั้นก็เป็นซัมเมอร์ฮิลล์  แมวเพชร, ส่วน ตังกุย กับ เต็ก บางจาก อยู่สายวิทยุ 99 และถูกดึงมาช่วยเขียนงานจนเป็นส่วนหนึ่งของกอง บก.....มี มาริโน่ สาธิต สุวรรณประทีป ที่มีความตั้งใจอยากทำงานกับซอคเก้อร์ อย่างสูง เขาเป็นทีมแปลของหนังสือกอล์ฟของสยามสปอร์ต จนพี่ยอดทอง นำมาฝากให้อยู่กับทีมข่าวในท้ายที่สุด อีกคนก็ ไทซอน ที่เข้ามาฝึกงานก่อนได้งานทำ 

จากนั้นก็มี....ดร.พิว, เปาผี, ยักษ์ dd และอีกมากมายหลายคน ผมจำไม่ได้แล้ว ทั้งที่คลองเตย, ลาดพร้าว 48 จนกระทั่งรามอินทรา 40 

น้องๆชุดหลังผมไม่ค่อยคุ้น เพราะหลังผมกลับมาจากการทำงานที่อังกฤษ ช่วงปี 1998 ผมก็กระโดดเข้าวงการทีวี มีงานกับ UBC (ต่อมาคือทรู วิชันส์), ช่อง 7 เลยไม่ค่อยได้เจอกับทีมงาน นอกจากส่งงานปิดต้นฉบับกับ หัวหน้าคนปิดหนังสือเท่านั้นเอง

ถามว่า สตาร์ซอคเก้อร์ ให้อะไรกับผม....

ตอบ ; ส่วนตัวของผมนอกเหนือไปจากการเสริมสร้างศักยภาพในการทำงานแล้ว ผมยังได้โอกาสจากชื่อของ "สยามกีฬาสตาร์ซอคเกอร์" ให้ได้ก้าวเข้าไปทำงานในสื่ออีกหลายแขนงรวมทั้งทีวีและมีงานพิเศษอีกมากมาย 

คล้ายๆกันกับว่า ผมผ่านการเรียนจากสถาบันที่มีชื่อและสังคมยอมรับ

เหมือนจบอ๊อกส์ฟอร์ด หรือจบวิศวะที่ อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน หรือจบสายเศรษฐศาสตร์จาก  LSE 

เมื่อผมมาจากสยามกีฬาและสตาร์ซอคเกอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ช่อง7 มีชื่อของ พี่โย่ง รุ่นพี่สยามสปอร์ต เป็นใบรับประกัน เลยทำให้คนที่ช่อง7 ยอมรับไปโดยปริยาย

คิดดูขนาดตอนจะเป็นพิธีกรครั้งแรก....เจ้าของรายการกีฬา ถามว่า

"น้องพิธีกรคนนี้ผ่านแล้วนะ"  

ทีมงานช่อง 7 บอก  "คุณสุรางค์ เปรมปรีดิ์ โอเคแล้ว น้องเขามาจากสยามกีฬา รุ่นน้องย.โย่ง พึ่งกลับมาจากทำงานที่อังกฤษ"

ผมคิดถึงเรื่องนี้ทีไร...ผมจะนึกถึงว่าโอกาสของผมได้มาจากการผ่านสถาบัน อย่างสยามกีฬาสตาร์ซอคเกอร์  ที่ให้ความรู้ ให้ประสบการณ์ ให้ผมได้พัฒนาการทำงานอย่างต่อเนื่อง

ถามว่าใจหายมั้ย...

คงไม่ถึงขนาดนั้นเพราะผมพอทราบอยู่แล้วว่าการเปลี่ยนแปลงคือนิรันดร์ เมื่อ ดิจิทัล  ก้าวเข้ามาการ disruption ย่อมเกิดขึ้น กลายเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ รับผลกระทบมาต่อเนื่อง 

วันนี้แทบลอยด์ หรือสื่อสิ่งพิมพ์ไซส์เล็กเริ่มล้มหายตายไปจากแผงหนังสือ ทุกคนต่างมุ่งหน้าสู่โลกใบใหม่กันมากขึ้น ไม่ใช่ว่าสื่อสิ่งพิมพ์หมดความหมายไร้คุณค่า เพียงแต่ "ความต้องการ" ของคนเรานั้นมีมากกว่าการ "รอ" ที่แผงหนังสือ

ขอเพียงแค่เราเลื่อนนิ้ว ไถหน้าจอสี่เหลี่ยมเราก็ได้รับรู้สิ่งที่เราต้องการอย่างรวดเร็วและเข้าถึงได้มากมายมหาศาลกว่าที่ไม่เคยเจอมาก่อนในชีวิต 

ของแบบนี้ว่ากันไม่ได้ครับ....หากคนกลุ่มใหญ่จะเลิก "รอ" ข่าวสารจากแผงหนังสือหรือ 7-11 ใกล้บ้านท่าน

ข้อมูลและข่าวสารทุกอย่างมันอยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุดแล้วในวันนี้

หลายคนไถ่ถามมาหลายปี.... พวกเราก็ยังคงทำงานกันเหมือนเดิม และรับรู้การเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นในหนังสือเล่มนี้ และคิดว่ามันใกล้เข้ามาแล้ว 

ไม่วันใดก็วันหนึ่ง....

ไม่ใช่อยู่ๆก็ปิดตัวอย่างไม่มีวี่แววอะไรมาก่อน แบบนั้น "ช็อค" แน่ๆ

แต่เมื่อถึงจุดที่ต้องยุติการตีพิมพ์แบบรายวันลง มันก็เหมือนคนที่ทำใจเอาไว้ก่อนแล้ว 

ดังนั้นเมื่อถึงวันที่ 31 พ.ค. น.ส.พ. ไซส์แทบลอยด์ สตาร์ซอคเก้อร์ รายวัน มีอันต้องปิดตัวลง 

ความรู้สึกใจหายจึงไม่บังเกิดขึ้น....

กระนั้นก็ตามที... "ซอคเกอร์" ยังไม่ได้จากไปไหน มันแค่เปลี่ยนสถานะจากแทบลอยดร์ รายวัน กลายร่างเล็กๆเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ น.ส.พ. สยามกีฬารายวันที่มีอายุระดับ 39 ย่าง 40 ปี 

ณ จุดนี้ พวกเรายังคงทำงานกันอยู่ แค่เปลี่ยนพื้นที่ไปจากเดิม เท่านั้น

ไม่ได้ประกาศว่า น.ส.พ. จะท้าทาย ดิจิทัล แต่ น.ส.พ. สยามกีฬา จะยังคงนำเสนอในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม ครบทุกรสชาติของการกีฬา ทั้งในและต่างประเทศ คอลัมนิสต์ ประสบการณ์สูงยังคงแชร์มุมมองต่อโลกของกีฬาที่กว้างใหญ่ในเชิงลึกอยู่ต่อไป

ผมขอทิ้งท้ายด้วยวาทะคมๆของเพื่อนผมคนหนึ่งที่ชื่อ ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน

ผมทักไลน์ไปคุยเพื่อขอร้องให้ ดร.วิทย์ ช่วยเขียนสั่งลา สตาร์ซอคเกอร์ ซะหน่อย ในฐานะที่ ดร. วิทย์ เป็นแฟนซอคเกอร์ มายาวนานตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมโน่นเลย 

ดร.วิทย์ บอกกับผมว่า....

"สิ่งพิมพ์อาจจะลดบทบาทลง แต่วิญญาณแห่งการรักกีฬาไม่เคยหายไปครับ"

JACKIE

ป.ล. ผมขอรวบรวมบางส่วนจากทวิตเตอร์ ทีแฟนๆซอคเก้อร์ ร่วมอำลาอ่านแล้วทำให้น้ำตาซึมออกมาเฉยเลย


ที่มาของภาพ : twitter
BY : JACKIE
อดิสรณ์ พึ่งยา
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport
X