ทำไม แอต.มาดริด ไม่เปลี่ยนโค้ช(สักที) ?

ทำไม แอต.มาดริด ไม่เปลี่ยนโค้ช(สักที) ?
จากโพสต์ แอต.มาดริด คว้า อเล็กซ์ บาเอน่า(ราคา 45 ล้าน+แอดออน 5 ล้านยูโร) เมื่อรวมกับ มัตเตโอ รุจเจรี่ และ จอห์นนี่ การ์โดโซ่ เท่ากับ แอต.มาดริด ใช้เงินในตลาดนี้ไปแล้ว 92 ล้านยูโร (รวมแอดออนก็ 100 ล้านยูโรนิดๆ)

มีแฟนบอลหลายท่านจุดประกายไอเดียการเขียนบทความนี้ขึ้นมาด้วยคอมเมนท์ที่ว่า 

"ทำไม แอต.มาดริด ไม่เปลี่ยนเทรนเนอร์บ้าง ความสำเร็จไม่มี ?"

"เสริมดี แต่โค้ช..."

"แฟนแอต.มาดริดฟินจัด แต่ถ้าให้ฟินกว่านี้ ปลด ซิเมโอเน่ ออกเถอะ"

"เสริมเยอะแต่ความสำเร็จไม่มี"

"ถ้าเปลี่ยนโค้ช งัดกับคนอื่นได้สบาย" 

ถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจครับ หากพูดถึงการลุ้นความสำเร็จ แต่ละปีเราจะเห็นว่าสำหรับ แอต.มาดริด นั้นหวังผลได้ยาก อย่าง ลา ลีกา บางปีมาดีๆ สุดท้าย ไม่ มาดริด ก็ บาร์ซ่า เอาไปกิน 

ฤดูกาลที่แล้ว เคยแรงจนนำจ่าฝูงช่วงปีใหม่ แต่สุดท้ายก็ค่อยๆแผ่วจนหมดลุ้น หรือบางปี หมดลุ้นตั้งแต่ยังไม่ผ่านครึ่งฤดูกาลเลยด้วยซ้ำ 

ยิ่งเวทีแชมเปี้ยนส์ลีก ไม่ต้องพูด ไม่เคยได้แชมป์แม้แต่ครั้งเดียว 

ถ้วยแชมป์ใบล่าสุดที่คว้ามาได้เกิดขึ้นเมื่อปี 2021 

แอต.มาดริด ควรเปลี่ยนเทรนเนอร์ได้แล้วจริงหรือ ?

ทำไมบอร์ดยังเชื่อมั่น โชโล่ ทั้งๆที่ร้างความสำเร็จแบบจับต้องได้นานถึง 4 ปี ?

วันนี้เรามาเจาะลึกประเด็นนี้กันครับ 

กับฤดูกาลที่ปิดฉากไป ถ้าตามวาระคือฤดูกาลที่ 14 ของ โชโล่ ในฐานะกุนซือตราหมี แต่ถ้านับกันจริงๆ โชโล่ คุมทีมมาทั้งหมด 13 ฤดูกาลครึ่ง โดยเข้ารับงานช่วงกลางฤดูกาล 2011-12 (23 ธ.ค. 2011) ต่อจาก เกรกอรีโอ มานซาโน่ คุมทีมลงเล่นตั้งแต่นัดที่ 18 

ลงเอยฤดูกาลนั้น โชโล่ พาทีมขยับจากอันดับ 7 จบอันดับ 5 คว้าโควต้า ยูโรป้า ลีก 

ถัดมาในการคุม แอตเลติโก แบบเต็มฤดูกาล กุนซืออาร์เจนไตร์ นำทีมจบอันดับ 3 (76 แต้ม) ได้โควต้ายูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก เป็นครั้งแรกนับแต่ อาเบล เรซีโน่ เคยทำได้ในฤดูกาล 2008/09 

จากนั้นฤดูกาล 2013/14 ก็ขึ้นสู่จุดสูงสุดพา ตราหมี คว้าแชมป์ลา ลีกา พร้อมตบเท้าเข้าชิง ชปล. กับ เรอัล มาดริด ที่ ลิสบอน ซึ่งก็อย่างที่ทุกคนทราบ ทีมของ โชโล่ พลาดแชมป์ไปอย่างสุดดราม่า 

ผ่านพ้นฤดูกาลนั้นมา แอตเลติโก เก็บเกี่ยวความสำเร็จเพิ่ม ด้วยแชมป์ ยูโรป้า ลีก ในปี 2012,2018,  โกปา เดล เรย์ 2013,ซูเปร์โกปา เด เอสปันญ่า 2014,ยูฟ่า ซูเปอร์คัพ  2012, 2018 และ ลา ลีกา 2020/21 ,

เบ็ดเสร็จ ภายใต้การนำของ โชโล่ ทีมคว้าแชมป์ไปทั้งสิ้น 8 รายการ 

8 รายการใน 14 ฤดูกาล อยู่ได้แบบสบายๆ อะไรคือเกณฑ์ตัดสิน ?

คำตอบ : ความคาดหวังของผู้บริหารและแฟนบอลที่มีพื้นฐานมาจากอดีต

ทั้งผู้บริหารชุดปัจจุบันที่นำโดย มิเกล อังเคล คิล มาริน และ เอ็นรีเก้ เซเรโซ่ รวมถึงแฟนบอล โดยส่วนใหญ่ผ่านช่วงเวลาอันดำมืดของสโมสรมา โดยเฉพาะช่วงยุคทศวรรษที่ 80,90 จนถึงยุค 2000 

ถ้าไม่มี ราโดเมียร์ อันทิช ที่พาทีมคว้าดับเบิ้ลแชมป์ในฤดูกาล 1995-96 ที่เหลือก่อนหน้านั้น และช่วงเวลาหลังจากนั้น แอตเลติโก คือทีมที่เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้เลย 

บางปีได้ลุ้นโควต้าบอลยุโรปถ้วยเล็กอย่าง ยูฟ่า คัพ

บางปีเล่นไปเรื่อยๆ ความชั่วไม่มี ความสำเร็จไม่ปรากฏ

บางปีได้ลุ้นหนีตกชั้น 

และบางปีก็ตกชั้น(แม่ง)จริงๆ 

(ลงไปคลุกวงในเซกุนด้าอยู่ 2 ฤดูกาลเต็มๆ) 

นอกจากผลงานขึ้นๆลงๆ หนักไปทางลงแล้ว สถานการณ์ภายในทีมก็ไม่เคยนิ่ง ทีมมีการเปลี่ยนแปลงตัวกุนซือถี่ยิบ 

บางฤดูกาลเปลี่ยน 4 คน บางฤดูกาลเบาๆเปลี่ยนแค่ 3 บางฤดูกาลพีคๆก็เปลี่ยน 5 คน 

ครับ ฤดูกาลนึงเปลี่ยนเทรนเนอร์เยอะขนาดนี้ บอกได้ชัดเจนว่าสโมสรไร้เสถียรภาพในทุกมิติ

แอตเลติโก ยุค 80 ถึงต้น 2000 มากกว่า 90 % เป็นแบบนี้มาตลอด อย่าว่าแต่ความสำเร็จเลย แค่จะเอาชนะอริร่วมเมืองสักเกมยังทำไม่ได้ !!

แม้เป็นทีมดัง ตั้งอยู่ในกรุงมาดริด ตามหลักภูมิศาสตร์ถือเป็นอริร่วมเมืองกับ เรอัล มาดริด แต่เจอกันเมื่อไหร่ ที่ไหน จะ เบร์นาเบว หรือ กัลเดรอน ก็โดนชุดขาวซัดร่วงหมด 

จน เดร์บี้ มาดริเลนโญ่ ปี 2010 ที่ เบร์นาเบว แฟนมาดริดถึงขนาดทำ tifo (ป้ายผ้าขนาดยักษ์) ว่า "se busca un rival digno para el derbi decente

"ตามหาคู่ต่อสู้ที่เหมาะสมเพื่อเดร์บี้ที่สมน้ำสมเนื้อ" 

ช่วงเวลานั้น บรรยากาศมันเป็นแบบนั้นจริงๆ ผมเห็น tifo อันนั้นกับตา เพราะนั่งอยู่ใน เบร์นาเบว เกมนั้น ซึ่งผลลงเอย ก็ไม่ต้องสืบ หมี โดน ชุดขาว สอยร่วงตามระเบียบ

กล่าวได้ว่าช่วงเวลานั้นคือช่วงเวลาที่มืดมนในที่สุดของ แอต.มาดริด ก็ว่าได้ เพราะนอกจากตกชั้นแล้ว ก็ยังไม่สามารถเอาชนะ มาดริด เป็นเวลาติดต่อกันถึง 14 ปีเต็ม

ถ้าคุณคิดว่า โชโล่ คุมทีมมา 14 ปีเป็นเวลาที่ยาวนานเกินไปแล้วล่ะก็ การที่ แอตเลติโก เอาชนะ เรอัล มาดริด ไม่ได้ 14 ปีติดต่อกัน มันยาวนานและเจ็บปวดแค่ไหน 

หลับตาแล้วจินตนาการครับ 

เด็กคนนึงเริ่มเชียร์แอต.มาดริดตอน 8 ขวบ จวบจนอายุ 22 จบมหาวิทยาลัย ก็ยังไม่เคยเห็นทีมชนะเพื่อนร่วมเมืองเลยแม้แต่เกมเดียว 

แต่เมื่อ โชโล่ เข้ามา บรรยากาศในเมืองก็ค่อยๆเปลี่ยนไป แม้แรกๆจะยังแพ้ แต่รูปเกมยกระดับมาใกล้เคียงมากขึ้น กระทั่งถึงวันปลดล็อค แอตเลติโก จากร่มเงาของ มาดริด 

โกปา เดล เรย์ 2012-13 แอต.มาดริด ทะลุเข้าชิงกับ เรอัล มาดริด ช่วงเวลานั้น สหพันธ์ฯยังใช้การเปลี่ยนสนามไปเรื่อยๆ ซึ่งปีนั้นมีปัญหาเรื่องการหาสังเวียนนัดชิง 

คัมป์ นู ไม่ยอมให้มาจัด ส่วน เมสตาย่า ผมจำไม่ได้ว่าเพราะปัญหาอะไร ท้ายที่สุด ก็มาเหลือแค่ เบร์นาเบว กับ กัลเดรอน ซึ่งทาง คิล มาริน เจ้าของตราหมีก็เอ่ยปากว่า "ถ้ามีปัญหานักก็จัดที่ เบร์นาเบว เลยมั๊ยล่ะ ?" 

ลงเอยเกมนั้นจัดกันที่ เบร์นาเบว และผลออกมาเป็น แอตเลติโก ของ โชโล่ ที่พลิกชนะ มาดริด 2-1 ไปอย่างสุดมันส์ในช่วงต่อเวลาพิเศษ (90 นาทีเสมอ 1-1) โดย ตราหมี ได้ประตูชัยจากลูกโขกของ ชูอา มิรานด้า 

ชัยชนะเกมนั้นถือเป็นหนึ่งในชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ของ แอตเลติโก เหนือ มาดริด เพราะนอกจากจะได้แชมป์โกปาฯ แล้ว ยังเป็นการบุกมาชนะถึงถิ่นอีกต่างหาก 

แฟนหมีฉลองกันอย่างบ้าคลั่ง นักเตะเองก็สุดเหวี่ยงเอาธงแอตเลติโกโบกสะบัดไปมากลาง เบร์นาเบว 

นั่นคือสาเหตุที่ เบร์นาเบว ไม่ยอมจัดนัดชิงชนะอีกเลย 

อาถรรพ์ถูกทำลาย คำเยาะเย้ยเบาลง เหล่าโลสโกลโชเนโรสได้โอกาสยืดอกเดินอย่างมั่นใจในเมือง ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะชายที่ชื่อว่า โชโล่  ที่สมัยค้าแข้งคือหนึ่งในขุนพลชุดดับเบิ้ลแชมป์ประวัติศาสตร์ 

มาวันนี้เขาคือกุนซือที่นำ แอตเลติโก ล้ม มาดริด ถึงถิ่นพร้อมคว้าแชมป์โกปา เดล เรย์ 

ไปเล่นบ้านอริ แล้วชนะออกมา ไม่มีอะไรจะยอดเยี่ยมไปกว่านี้อีกแล้ว 

และมันก็ยิ่งพีคขึ้นอีกเมื่อฤดูกาลต่อมา โชโล่ พาทีมคว้าแชมป์ลา ลีกา โดยนัดสุดท้ายที่เป็นเกมชี้ชะตาแชมป์ พวกเขาบุกไปตามตีเสมอ บาร์ซ่า ของ ตาต้า มาร์ตีโน่ ถึง คัมป์ นู 1-1 ผงาดคว้าแชมป์หนแรกในรอบ 17 ปี 

เท่านั้นไม่พอยังเข้าชิงแชมเปี้ยนส์ลีกกับ เรอัล มาดริด อีก กลายเป็นครั้งแรกที่ทีมจากเมืองเดียวกันเข้าชิงในรายการนี้ 

แม้ลงเอยจะพ่ายแพ้ แต่แฟนหมีสามารถเชิดหน้าได้อย่างไม่อายใคร เพราะฟุตบอลของพวกเขาสู้กับมหาอำนาจของยุโรปได้อย่างสูสี 

จากนั้น แชมป์ ลา ลีกา และการเข้าชิงแชมเปี้ยนส์ลีก ก็เกิดขึ้นอีกสมัย แม้จะอย่างหลังจะลงเอยเหมือนเดิม ให้คู่อริทีมเดิม แต่มันก็ยังคงเป็นความภาคภูมิใจ 

โชโล่ ยกระดับให้ แอตเลติโก สามารถก้าวขึ้นมาต่อกรกับ เรอัล มาดริด และ บาร์ซ่า ได้อย่างสนุกสูสี 

คำว่า 3 ยักษ์ใหญ่ ลา ลีกา ที่เราเรียกคุ้นปากกันในปัจจุบัน อดีตก่อนหน้านั้น มันไม่เคยมีในสารบบ ลา ลีกา รู้จักแค่ 2 ยักษ์ใหญ่ กับอีกม้ามืดสักทีมที่นานๆครั้งจะขึ้นมาท้าทาย อย่าง บาเลนเซีย,ลา กอรุนญ่า หรือ เรอัล โซเซียดาด 

แอตเลติโก ไม่เคยเป็นทีมระดับท็อปทรี ไม่เคยจนกระทั่ง โชโล่ ก้าวเข้ามา 

นอกจากแชมป์ ลา ลีกา 2 สมัย รองแชมป์แชมเปี้ยนส์ลีก 2 สมัย บวกกับแชมป์ต่างๆอีก 6 ถ้วยที่ติดอยู่ในความทรงจำของแฟนๆแล้ว โชโล่ ยังสร้างมาตราฐานให้ แอตเลติโก เป็นขาประจำใน ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก อีกด้วย 

ตรงนี้แหละที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการพาทีมคว้าแชมป์ 

13 ฤดูกาลที่ โชโล่ คุมทีมแบบเต็มตัว ไม่มีฤดูกาลไหนเลยที่ แอตเลติโก ไม่ได้ตั๋วแชมเปี้ยนส์ลีก !! 

ปี 2020 เอ็นรีเก้ เซเรโซ่ ประธานสโมสรเคยหล่นวรรคทองถึง โชโล่ ช่วงที่มีการวิจารณ์ถึงสไตล์การเล่นของทีมว่าล้าสมัยว่า

"โชโล่ สามารถทำทีมให้เล่นอย่างไรก็ได้ตามที่ต้องการ เพราะผลการแข่งขันมันไม่อาจโต้แย้งได้"

ครับ พูดหยาบๆก็คือ ข้าไม่สนหรอกว่าทีมจะเล่นยังไง ตราบใดที่ผลงานยังใช่ ตราบนั้นเอ็งอยากทำอะไรก็ทำเลย 

ส่วนถ้าจะให้ละเอียดกว่านั้น ก็คือ โชโล่ สร้างผลงานได้ตามความคาดหวัง ตามเป้าของสโมสรในทุกปี 

"ความทะเยอทะยานไม่มีหรือ ? ไม่อยากได้แชมป์หรือ ?" 

แชมป์ใครก็อยากได้ แต่นอกจาก โชโล่ แล้ว ใครล่ะที่จะทำ แอตเลติโก ไปถึงแชมป์ ? ลองเอ่ยชื่อมาหน่อย 

อย่างที่เขียนถึงไปข้างต้นนั่นแหละครับ

"ความคาดหวังของผู้บริหารและแฟนบอลมีพื้นฐานมาจากอดีต" 

อดีต แอตเลติโก เคยตกชั้น เคยเป็นทีมพื้นๆ เคยไม่แน่นอน เคยเปลี่ยนโค้ชเป็นว่าเล่น มาวันนึงมีคนที่ทำให้ทีมเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นชนิดที่ว่าแฟนบางคนไม่เคยฝันถึงด้วยซ้ำ เป็นใครจะไม่ยึดติด 

แอตเลติโก คือ โชโล่

โชโล่ ก็คือ แอตเลติโก 

นี่คือสองสิ่งที่ผสานกลมกลืนกลายเป็นเนื้อเดียว 

โชโล่ ไม่ได้ให้แค่ความสำเร็จแก่สโมสร แต่ยังให้ความภาคภูมิใจ สร้างตัวตนในแบบฉบับของ แอตเลติโก ให้กับแฟนๆ 

จากทีมที่ไร้สไตล์ มาวันนี้ "ใครจะชอบหรือไม่ก็ช่าง" แต่ถ้าพูดถึง แอตเลติโก คุณพูดได้ทันทีเลยว่าบอลของพวกเขาเป็นแบบไหน อัตลักษณ์นี้ไม่ได้มาโดยง่าย หากแต่ต้องเพียรสร้าง

เมื่อหลุดจากห้วงเหวลึก จากยุคสมัย เฆซุส คิล ที่เปลี่ยนโค้ชเป็นว่าเล่นจนได้ฉายา 'ประธานจอมเชือด' มาถึงรุ่นลูก มิเกล อังเคล คิล มาริน เขาจึงตระหนักว่ากว่าจะมาเจอคนที่ใช่ ต้องผ่านการเดินทางอันยาวนานและเจ็บปวดแค่ไหน 

ดังนั้นระหว่าง เซฟโซน กับ ก้าวที่กล้า

ถ้ามันยังไม่ถึงเวลา อย่าทะลึ่งก้าวออกไปเชียว !!

เจมส์ ลาลีกา

..............................................................
ผลงาน ลา ลีกาของ โชโล่ (คุมทีมเต็มฤดูกาล)
แชมป์  2 ครั้ง 
รองแชมป์ 2 ครั้ง
อันดับ 3  8 ครั้ง
อันดับ 4  1 ครั้ง  
................................................................
2024-25 อันดับ 3  ได้ 76 แต้ม 
2023-24 อันดับ 4 ได้ 76 แต้ม
2022/23 อันดับ 3 ได้ 77 แต้ม 
2021/22 อันดับ 3 ได้ 71 แต้ม
2020/21 แชมป์ ได้ 86 แต้ม**
2019/20 อันดับ 3 ได้ 70 แต้ม
2018/19 อันดับ 2 ได้ 76 แต้ม 
2017/18 อันดับ 2 ได้ 79 แต้ม
2016/17 อันดับ 3 ได้ 78 แต้ม
2015/16 อันดับ 3 ได้ 88 แต้ม (เข้าชิง ชปล.)
2014/15 อันดับ 3 ได้ 78 แต้ม
2013/14 แชมป์ ได้ 90 แต้ม (เข้าชิง ชปล.)**
2012/13 อันดับ 3 ได้ 76 แต้ม
2011/12 โชโล่ รับงานแทน เกรกอรีโอ มานซาโน่ (23 ธ.ค. 2011) ขณะที่ทีมอยู่อันดับที่ 7 / จบฤดูกาลอันดับที่ 5 (ได้สิทธิ์เล่นยูโรป้า ลีก)
................................................................
ผลงานแอต.มาดริด ก่อนยุค โชโล่
2010/11 อันดับ 7 ได้ 62 แต้ม เอ็นรีเก้ ซานเชซ ฟลอเรส 
2009/10 อันดับ 9 ได้ 47 แต้ม เอ็นรีเก้ ซานเชซ ฟลอเรส 
2008/09 อันดับ 4 ได้ 67 แต้ม ฮาเวียร์ อากีร์เร่ (ปลด ก.พ.2009) / อาเบล เรซิโน่ รับงานแทน (ได้โควต้า ชปล.)
2007/08 อันดับ 4 ได้ 64 แต้ม ฮาเวียร์ อากีร์เร่  (ได้โควต้า ชปล.)
2006/07 อันดับ 7  ได้ 60 แต้ม ฮาเวียร์ อากีรืเร่
2005/06 อันดับ 10 ได้ 52 แต้ม  โฆเซ่ มูร์เซีย เปเป้ 
2004/05 อันดับ 11 ได้ 50 แต้ม เซร์ซาร์ เฟร์รานโด้ 
2003/04 อันดับ 7 ได้ 55 แต้ม เกรกอรีโอ มานซาโน่ 
2002/03 อันดับ 12 ได้ 47 แต้ม หลุยส์ อาราโกเนส 
2001/02 **แชมป์เซกุนด้า ได้ 79 แต้ม หลุยส์ อาราโกเนส**
2000/01 อันดับ 4 เซกุนด้า ดิบิซิออน 
เฟร์นานโด ซัมบราโน่ คุมนัดที่ 1-5
มาร์กอส อลอนโซ่ คุมนัดที่ 6-35
การ์ลอส การ์เซีย กันตาเลโฆ คุมที่นัด 36-42 
........................
1999-00 อันดับ 19 ได้ 38 แต้ม ตกชั้น**
เคลาดิโอ รานิเอรี่ คุมนัดที่  1-26
ราโดเมียร์ อันทิช คุมนัด
..............................
1998-99 อันดับ 13 ได้ 46 แต้ม
อาร์รีโก้ ซาคคี่ คุมนัดที่ 1-22
การ์ลอส อากีอาร์ คุมนัดที่ 23-27
ราโดเมียร์ อันทิช คุมนัดที่ 28-38 
....................
1997-98 อันดับ 7 ได้ 60 แต้ม ราโดเมียร์ อันทิช 
1996-97 อันดับ 5 ได้ 71 แต้ม ราโดเมียร์ อันทิช 
1995-96 แชมป์ ลา ลีกา ได้ 87 แต้ม ราโดเมียร์ อันทิช (แชมป์โกปา เดล เรย์)
........................
1994-95 อันดับ 14 ได้ 35 แต้ม
ฟรานซิสโก้ มาตูราน่า คุมนัดที่ 1-9
โรเบร์โต้ ดิอาเลสซานโดร คุมนัดที่ 10-22
อัลฟิโอ บาซีเล่ คุมนัดที่ 23-36
การ์ลอส อากีอาร์ คุมนัดที่ 37-38 
..........................
1993-94 อันดับ 12 ได้ 35 แต้ม
ไชอาร์ เปไรร่า คุมนัดที่ 1-7
รามอน เอเรเดีย คุมนัดที่ 8-11
เอมิลิโอ กรูซ คุมนัดที่ 12-19
โฆเซ่ หลุยส์ โรเมโร่ คุมนัดที่ 20-25
อีเซลิน โอเบเฆโร่ คุมนัดที่ 26-29
โรเบร์โต้ ดิ อเลสซานโดร คุมนัดที่ 30-38 
...........................
1992-93  อันดับ 6 ได้ 43 แต้ม (ยูฟ่า คัพ)
หลุยส์ อาราโกเนส คุมนัดที่ 1-20
อีเซลิน โอเวเเฮโร่ คุมนัดที่21 กับ 24 
โฆเซ่ ปาสโตรีซ่า คุมนัดที่22-23, คุมนัดที่25-27
รามอส อาร์มานโด้ เอเรเดีย คุมนัดที่ 28-38


ที่มาของภาพ : reuters
BY : เจมส์ ลาลีกา
อาวุธ จิวรากรานนท์
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport