ประสบการณ์ที่อยากส่งต่อในวงการลูกเด้งไทยของ "โค้ชกิจ" กรกิจ เสริมกิจเสรี

เด็กที่จะโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ เกิน 90% เกิดจากการดูแลสั่งสอนที่ดีจากพ่อและแม่หรือครอบครัวของเด็ก เช่นเดียวกัน นักกีฬาจะเก่งกาจจนมีชื่อเสียงโด่งดังระดับประเทศหรือนานาชาติได้ ย่อมต้องได้รับการบ่มเพาะฝึกสอนจากผู้ฝึกสอนหรือโค้ชที่ยอดเยี่ยม ดังนั้น "โค้ช" จึงถือเป็นฟันเฟืองหรือกลไกสำคัญมากๆ ที่จะทำให้นักกีฬาประสบความสำเร็จจนสามารถสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติได้
ประสบการณ์ที่อยากส่งต่อในวงการลูกเด้งไทยของ "โค้ชกิจ" กรกิจ เสริมกิจเสรี
เด็กที่จะโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ เกิน 90% เกิดจากการดูแลสั่งสอนที่ดีจากพ่อและแม่หรือครอบครัวของเด็ก เช่นเดียวกัน นักกีฬาจะเก่งกาจจนมีชื่อเสียงโด่งดังระดับประเทศหรือนานาชาติได้ ย่อมต้องได้รับการบ่มเพาะฝึกสอนจากผู้ฝึกสอนหรือโค้ชที่ยอดเยี่ยม ดังนั้น "โค้ช" จึงถือเป็นฟันเฟืองหรือกลไกสำคัญมากๆ ที่จะทำให้นักกีฬาประสบความสำเร็จจนสามารถสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติได้
สำหรับในวงการเทเบิลเทนนิสหรือปิงปองในประเทศไทยแล้ว มีผู้ฝึกสอนหรือโค้ชที่มีความสามารถและมีชื่อเสียงเป็นที่โจษจันมากมาย แต่ในเวลานี้ผู้ที่อยู่ในจุดที่เรียกได้ว่าแบกรับหน้าที่ความรับผิดชอบระดับชาติไว้บนหลังตลอดเวลาคงหนีไม่พ้น "โค้ชกิจ" กรกิจ เสริมกิจเสรี เฮดโค้ชหรือหัวหน้าผู้ฝึกสอนทัพเทเบิลเทนนิสทีมชาติไทยในยุคปัจจุบัน ที่รับตำแหน่งหน้าที่นี้มาอย่างยาวนานจนพูดได้ว่านานจนน้องๆ หนูๆ บางคนอาจจะยังไม่เกิดด้วยซ้ำ
วันนี้สยามกีฬามีโอกาสได้มาพูดคุยกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตของโค้ชกิจที่มันจะไม่ได้เป็นเพียงสตอรี่ที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนธรรมดาๆ คนหนึ่ง หากแต่มันได้สอดแทรกแง่มุมความคิดที่น่าประทับใจซึ่งเชื่อได้เลยว่าผู้ที่ได้อ่านน่าจะได้อะไรดีๆ กลับไปไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะโค้ชลูกเด้งในบ้านเราโค้ชกิจก็มีสารบางอย่างที่อยากจะถ่ายทอดครับผม
สยามกีฬา : ในเส้นทางการดำเนินชีวิตของโค้ชกิจคงผ่านอะไรมามากกว่าจะมาถึงจุดนี้ในวัย 50 กะรัต ทั้งพาร์ทของการเป็นนักกีฬาและเป็นผู้ฝึกสอน ขอย้อนไปในวัยเด็ก โค้ชกิจได้รู้จักกับกีฬาเทเบิลเทนนิสได้อย่างไร ?
โค้ชกิจ : ในวัยเด็กช่วงที่ผมเรียนอยู่ที่โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัยก็มีโอกาสได้ตีปิงปองแบบสนุกๆ กับเพื่อนๆ ที่โรงเรียน แต่ที่เริ่มจริงจังจริงๆ คงเกิดจากการที่พี่ชายผมชอบเล่นปิงปอง พออยู่ใกล้กันก็เลยเหมือนได้เล่นตามพี่ชายไปด้วย พอเล่นตามพี่ชายแล้วก็เลยเริ่มชอบ รู้สึกตัวอีกทีก็กลายเป็นเล่นไม่เลิกเสียแล้ว (หัวเราะ) แต่จริงๆ ก่อนหน้านั้นในช่วงป.5 ผมเป็นนักกีฬาวิ่ง จากนั้นพอขึ้นป.6 ก็มาเล่นฟุตบอล แต่พอม.1 อายุประมาณสัก 13 ที่ได้มีโอกาสเล่นตามพี่ชายแล้วก็เป็นหนึ่งในวิชาเรียนด้วยก็เลยชอบมาก แล้วก็เลยเริ่มเล่นจริงจังมากขึ้นและเริ่มได้เข้าร่วมแข่งขันกีฬาระดับจังหวัดตั้งแต่ตอนนั้น หลังจากนั้นก็อยู่ในเส้นทางเป็นนักกีฬาปิงปองมายาวจนถึงช่วงประมาณอายุ 28 ถึงจะเริ่มผันตัวเองมาเป็นผู้ฝึกสอนครับ
สยามกีฬา : เส้นทางของการเป็นนักกีฬาเป็นอย่างไรบ้าง ?
โค้ชกิจ : เส้นทางสายเทเบิลเทนนิสของผมก็เหมือนกับเด็กนักกีฬาต่างจังหวัดทั่วๆ ไป ส่วนตัวผมที่เริ่มเล่นตอนม.1 นั้นไม่ได้มีผู้ฝึกสอน เห็นรุ่นพี่เล่นก็เล่นตามแล้วก็ฝึกซ้อมกันเองกับเพื่อนๆ เกือบทุกวัน พอมีการแข่งขันกีฬาจังหวัด ก็เลยไปลงแข่งและได้เป็นตัวแทนโรงเรียนคว้าแชมป์แรกในชีวิตคือแชมป์จังหวัดภูเก็ตรุ่น 15 ปี พอได้แชมป์ยิ่งทำให้ตัวเองอยากเล่นแบบจริงจังขึ้นแม้จะไม่ได้มีโค้ชมาคอยสอน จากนั้นพอจบม.3 ก็ได้มาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ จำได้ว่าตอนม.4 ทั้งปีผมไม่ได้มีโอกาสฝึกซ้อมปิงปองเลยเพราะด้วยความไม่รู้ที่รู้ทาง ได้แต่ไปเรียนหนังสือแล้วก็กลับที่พัก กระทั่งขึ้นม.5 ผมก็ได้รู้จักสนามกีฬาไทยญี่ปุ่นดินแดง ก็เลยได้ไปเล่นที่นั่นแทบทุกวัน ในช่วงนั้นผมจึงเริ่มมีโค้ชจากที่ได้เจอกับพี่ ภูษิต ภู่ทองคำ และได้ชวนผมไปฝึกซ้อมที่การกีฬาแห่งประเทศไทย ทำให้ผมได้เจอกับอาจารย์จันทร์ ชูสัตยานนท์ ด้วยทั้งสองท่านจึงเป็นผู้สอนและให้ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับเทเบิลเทนนิสกับผมตั้งแต่นั้นมา
ความประทับใจในการเป็นนักกีฬา เริ่มจากที่ผมเริ่มต้นจากการเล่นกันกับเพื่อนๆ ในต่างจังหวัดไม่ได้มีใครสอนเป็นเรื่องเป็นราวอยู่หลายปี กว่าจะเริ่มมีโค้ชก็อยู่ในช่วงอายุ 16-17 ปีแล้ว แต่พอขึ้นม.6 (ปี พ.ศ. 2530) ผมสามารถคว้า 3 เหรียญทองจากกีฬากรมพลศึกษาในฐานะตัวแทนทีมโรงเรียนอำนวยศิลป์ กรุงเทพฯ ในประเภทชายเดี่ยว ชายคู่ และทีมชาย พร้อมได้ตำแหน่งนักกีฬาดีเด่นประจำการแข่งขัน และได้อีก 1 เหรียญทองจากประเภทชายเดี่ยวอายุ 18 ปีกีฬากรุงเทพมหานคร และในปี พ.ศ. 2536 ผมยังได้ช่วยบ้านเกิดจังหวัดภูเก็ตลงแข่งขันกีฬาแห่งชาติที่จัดขึ้นที่จ.สุราษฎร์ธานีและได้เหรียญทองประเภทชายคู่กับเหรียญเงินชายเดี่ยวพร้อมตำแหน่งนักกีฬาดีเด่นของกีฬาแห่งชาติปีนั้นมาด้วย ผมมองว่าตัวเองเป็นคนที่เริ่มต้นจากการเล่นแบบโนเนมมาก แต่ในที่สุดก็คว้าแชมป์ระดับประเทศมาได้
เรื่องราวตรงนี้ผมอยากให้เป็นแรงบันดาลใจแก่เด็กต่างจังหวัดทุกๆ คนที่กำลังพยายามและต่อสู้อยู่ ผมนั้นเริ่มต้นจากเด็กที่ไม่มีอะไร เริ่มต้นจากที่ซ้อมแบบธรรมดาๆ ไม่มีคนสอน เริ่มต้นจากความสนุกและความชอบ เริ่มฝึกซ้อมอย่างจริงจังช้า แต่ก็สามารถประสบความสำเร็จในระดับที่ผมแฮปปี้ในชีวิตได้เหมือนกัน อาจจะไม่ได้ขึ้นมาเป็นมือหนึ่งมือสองหรือเป็นกำลังหลักของประเทศไทย แต่ผมก็รู้สึกว่าในระดับนักเรียนผมก็สามารถสร้างผลงานที่ดีให้กับโรงเรียนได้ ในระดับกีฬาแห่งชาติที่เราเล่นให้กับเขตเราก็สามารถสร้างผลงานที่ดีให้กับเขตของเราได้ ด้วยความเป็นเด็กต่างจังหวัดก็สามารถพัฒนาตัวเองและประสบความสำเร็จอย่างเป็นลำดับจากกีฬานักเรียนสู่กีฬาแห่งชาติและเป็นทีมชาติไทย แต่ก็ต้องบอกว่าชีวิตการเป็นนักกีฬาผมนั้นโชคดีที่ ผมเจอพี่ภูษิตและอาจารย์จันทร์ รวมทั้งเพื่อนๆ ที่ฝึกซ้อมร่วมกันมาตั้งแต่สมัยม.5 เป็นต้นมา ที่ชวนกันเล่นกีฬาอยู่ตลอด วันหยุดไม่ได้ไปไหน ตีปิงปองอย่างเดียวครับ (หัวเราะ)
สยามกีฬา : จากบทบาทของการเป็นนักกีฬา ก้าวเข้าสู่หน้าที่ของการเป็นโค้ชได้อย่างไร ?
โค้ชกิจ : ทางการกีฬาแห่งประเทศไทยมักจะมีการจัดอบรมผู้ฝึกสอนอยู่บ่อยๆ โดยจะเป็นการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การกีฬา จิตวิทยาการกีฬา หรือจะเป็นการอบรมเป็นวิทยากร ในช่วงที่ผมอายุ 23 ปีจำได้ว่าตอนนั้นได้มีโอกาสไปเข้าร่วมการอบรมการเป็นวิทยากรรุ่นที่ 1 ของกกท. ในรุ่นผมก็อายุน้อยที่สุดเลยหละ ผมได้เข้ารับการอบรมการเป็นผู้ฝึกสอนและได้รับความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาอยู่บ่อยๆ แล้วผมเป็นคนที่เวลาได้ฟังการอบรมอะไรผมมักจะชอบจดชอบอ่าน มีความอินไปกับการอบรมตลอด ทางผู้ใหญ่เขาคงเริ่มเห็นแววตรงจุดนั้น เลยเริ่มให้ผมขยับขึ้นมาเป็นผู้ช่วยวิทยากร ออกไปอบรมผู้ฝึกสอนและนักกีฬาระดับเยาวชนตามต่างจังหวัดทั่วประเทศ
รวมทั้งในช่วงนั้นผมเป็นนักกีฬาที่เหมือนรุ่นพี่ดูแลรุ่นน้องๆ ทีมชาติไปด้วย โดยเฉพาะในช่วงอายุ 26 ซึ่งตอนนั้นน่าจะเป็นปี 1996 ทางสมาคมกีฬาเทเบิลเทนนิสแห่งประเทศไทยได้ส่ง 2 นักกีฬาที่เป็นความหวังของทีมชาติในยุคนั้นและเป็นแชมป์ประเทศไทยคือ "แป๋ว" นันทนา คำวงศ์ กับ "อัน" ชัยศิษฐ์ ชัยทัศน์ ไปฝึกซ้อมที่เมืองฟัลเคนเบิร์ก ประเทศสวีเดน โดยได้รับการสนับสนุนจาก "สติกา" (STIGA) แบรนด์ผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาเทเบิลเทนนิสระดับโลกของประเทศสวีเดน ซึ่งผมเป็นรุ่นพี่นักกีฬาทั้งสองคนและอยู่สโมสรเดียวกัน ทางสมาคมฯ จึงมอบหมายให้ผมไปดูแลน้องๆ ทั้งด้านการฝึกซ้อมและความเป็นอยู่ทั่วไป และเป็นโอกาสให้ผมได้เรียนรู้การเป็นโค้ชไปในตัวด้วย
กระทั่งตอนผมกลับมาจากซีเกมส์ที่อินโดนีเซีย ปี 1997 ในฐานะนักกีฬาทีมชาติครั้งเดียวในชีวิต ผมอายุได้ 28 ปี ก็มีผู้ใหญ่บางท่านในสมาคมฯ ได้บอกกับผมในทำนองว่า "ผมเหมาะกับการเป็นโค้ชนะ" จำได้ว่าช่วงเวลานั้นชีวิตมีความลังเลขึ้นมาในหัวอย่างมาก ก่อนที่สุดท้ายผมได้คิดว่า ณ เวลานั้นความสามารถในด้านความเป็นเลิศของผมนั้นไม่สามารถสู้น้องๆ ทีมชาติได้ ใจจริงก็ยังอยากเล่น แต่เราก็ยอมรับความจริง ด้วย 2 ปัจจัยคือ 1. ผมเคารพผู้ใหญ่หลายท่านที่ให้คำแนะนำ 2. ผมทบทวนตัวผมเองแล้วคิดว่าการพัฒนาความสามารถด้านกีฬาของผมมันไม่สามารถสู้เด็กๆ รุ่นหลังได้ ซึ่งในตอนที่ผมตัดสินใจที่จะเป็นโค้ช ตัวผมไม่รู้เลยว่าอนาคตผมจะรับหน้าที่โค้ชแล้วทำได้ดีหรือเปล่า และก็ไม่ได้คิดมาก่อนเลยว่าวันหนึ่งเราจะมาเป็นโค้ช
แต่ผมมีความรู้สึกว่าในช่วงผมอายุ 22 ที่เริ่มเข้าการอบรมต่างๆ เหมือนผมจะเริ่มถูกการปลูกฝังดีเอ็นเอของการเป็นโค้ชเข้าไปในร่างกายแบบไม่รู้ตัวเหมือนกัน โดยในช่วงนั้นกกท.มีโครงการหนึ่งที่ชื่อว่า "เจ้าซีเกมส์" ซึ่งทางกกท.ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญในด้านการฝึกฟิตเนสไปให้การดูแลนักกีฬาในสมาคมที่เข้าร่วมโครงการ ตอนนั้นตัวผมยังไม่ได้ติดทีมชาติแต่ซ้อมอยู่กับเพื่อนๆ ที่เป็นทีมชาติ พอตกเย็นอาทิตย์ละ 3 วันจะมีไปซ้อมฟิตเนสที่สมาคมกรีฑาฯ ที่สนามศุภชลาศัย พอไปซ้อมตรงนั้นผมได้เจอกับผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬานั่นคือ ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ ซึ่งปัจจุบันเป็นหัวหน้าทีมงานด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาของกกท. พอผมได้เข้าร่วมฝึก ผมรู้สึกชอบเป็นอย่างมาก ชอบวิธีการที่อาจารย์สอนให้เรา มันทำให้สภาพร่างกายของเราดีขึ้น ตีปิงปองดีขึ้น ซึ่งมันไม่จบแค่นั้น หลังฝึกเสร็จผมได้ติดตามอาจารย์เพื่อขอรับคำแนะนำเพิ่มเติมอยู่เสมอ ขนาดผมไปอยู่ที่สวีเดนผมยังเขียนจดหมายมาเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้อาจารย์ได้รับทราบด้วย ผมว่าจากจุดนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมได้เรียนรู้การเป็นโค้ชและเริ่มถ่ายทอดความรู้หลังจากวางมือจากการเป็นนักกีฬา
สยามกีฬา : ความแตกต่างระหว่างการทำหน้าที่เป็น "โค้ช" กับการเป็น "นักกีฬา" ?
โค้ชกิจ : ตอนผมเป็นนักกีฬาผมรู้สึกสนุกสนานกับมัน เติบโตและพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ เป็นพาร์ทที่ผมรับผิดชอบตัวเองเป็นหลัก แต่เมื่อผมได้รับหน้าที่เป็นโค้ช ผมรู้สึกว่าผมต้องรับผิดชอบคนอื่นด้วย คือการรับผิดชอบนักกีฬา ในเรื่องของภาระความรับผิดชอบมันมีเพิ่มขึ้นมาเยอะทีเดียว ในอดีตถ้าเราทำอะไรผิดพลาด มันก็ยังเป็นเรื่องของเรา แต่พอเราเป็นโค้ช ถ้าเราแนะนำหรือทำอะไรผิด มันจะส่งผลความผิดพลาดไปถึงคนที่เราสอนด้วย ผมต้องมีส่วนในการรับผิดชอบกับผลงานที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับทีม โค้ชคือคนแรกที่จะต้องตอบ แต่ทั้งหมดมันก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ยุ่งยากอะไรสำหรับผมมากนัก เพราะสมัยผมเป็นนักกีฬาผมก็ทำเต็มที่ ผมเป็นโค้ชผมก็ยังพยายามอย่างเต็มที่เช่นกัน เพียงแต่ข้อแตกต่างระหว่างทั้งสองบทบาทก็คือ ตอนผมเป็นนักกีฬาแล้วแข่งแพ้ นั่นคือผมแพ้คนเดียว แต่ผมเป็นโค้ชแล้วแพ้ มันจะไม่ใช่เรื่องของผมคนเดียวอีกต่อไป
สยามกีฬา : อยากให้จำกัดความเป็นโค้ชในสไตล์ของ "กรกิจ เสริมกิจเสรี" ?
โค้ชกิจ : ปรัชญาการเป็นโค้ชของผมคือ "ศึกษาเรียนรู้ และพัฒนานักกีฬาทุกคนที่อยู่ในความดูแลให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย และได้เล่นกีฬาอย่างมีความสุข"
สยามกีฬา : ผลงานการเป็นโค้ชที่ประทับใจที่สุดในชีวิต ?
โค้ชกิจ : คงจะเป็นเหรียญทองประเภทหญิงเดี่ยวในรอบ 32 ปี ของ "หญิง" สุธาสินี เสวตรบุตร จากกีฬาซีเกมส์ปี 2015 ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเหรียญทองแห่งความสำเร็จที่เฝ้ารอมาอย่างยาวนาน โดยที่ผมมีเป้าหมายส่วนตัวที่ได้จดบันทึกไว้หน้าหนึ่งเป็นภาษาอังกฤษความว่า "วันที่ 18 ตุลาคม 1997 เวลา 22.09 น. ผมนั่งอยู่ที่สเตเดียมในกรุงจาการ์ตา ในการแข่งขันซีเกมส์ ผมเห็นและได้ยินเสียงเพลงชาติของอินโดนีเซียและเวียดนาม แล้วผมก็บอกตัวเองทันทีว่า ผมจะทำเพื่อเพลงชาติไทย ผมจะทำให้ดีที่สุดเพื่อเพลงชาติ เพื่อที่จะได้มีความรู้สึกที่ยอดเยี่ยมเหมือนพวกเขา"
ถัดจากนั้นในวันที่ทีมกำลังบินกลับไทยผมได้เขียนบันทึกต่อไว้ว่า "20 ตุลาคม 1997 เวลา 20.37 น. ผมกำลังอยู่บนเครื่องบินกลับจากซีเกมส์ที่จาการ์ตา เรามีผลการแข่งขันที่ไม่ดีนัก แต่ผมยังคงคิดถึงอนาคต ผมอยู่บนเครื่องบินกำลังเขียนและฟังเพลงที่ชอบ ผมต้องทำความฝันของผมกับครอบครัว และผมเชื่อว่าผมทำได้ สำหรับการเล่นเทเบิลเทนนิสของผมมาได้ถึงตอนนี้ผมรู้สึกพอใจกับมัน และต่อจากนี้ไปผมควรให้บางสิ่งตอบกลับไปกับนักกีฬารุ่นใหม่" ซึ่งตอนนั้น หญิง-สุธาสินี เพิ่งจะ 4 ขวบ ไบร์ท-ภาดาศักดิ์ เพิ่งจะ 1 ขวบ และทิพย์-อรวรรณ ยังไม่เกิด เรียกได้ว่า วันที่ผมได้เขียนเป้าหมายเอาไว้ นักกีฬาที่จะมาสร้างเป้าหมายให้เป็นจริงทั้ง 3 คนยังไม่เกิดเลยครับ
หลังจากการตั้งเป้าหมายตอนนั้นถึงปัจจุบันทีมชาติไทยเราสามารถทำสำเร็จได้ 4 เหรียญทองในซีเกมส์ นั่นคือเหรียญทองทีมชายปี 2001 ที่มาเลเซีย, เหรียญทองหญิงเดี่ยวปี 2015 ที่สิงคโปร์, เหรียญทองคู่ผสมปี 2017 ที่มาเลเซีย และเหรียญทองหญิงคู่ล่าสุดปี 2019 ที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งในวันที่ 5 มิถุนายน ปี 2015 วันที่ไทยเราสามารถเอาชนะ เฟิง เทียน เว่ย มือ 4 ของโลกจากสิงคโปร์ในเวลานั้น และคว้าเหรียญทองมาครองได้สำเร็จผมกลั้นน้ำตาไม่ไหวเลยทีเดียว เพราะตั้งแต่ปี 1995 ที่สิงคโปร์เริ่มโอนสัญชาตินักกีฬาจีนเข้ามาไว้ในทีม "แป๋ว" นันทนา คำวงศ์ กับ "น้อง" อนิศรา เมืองสุข ตัวความหวังของไทยในเวลานั้นต้องผิดหวังพลาดการคว้าเหรียญทองมาตลอดเพราะต้านคนจีนของสิงคโปร์ไม่ได้ ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาที่ทั้งสองคนควรจะต้องกวาดเหรียญทองซีเกมส์ได้เป็นเข่ง แต่สุดท้ายเราได้เหรียญเงินเป็นเข่ง มันเป็นความสูญเสียที่เราตีค่าไม่ได้ แต่มันก็กลับเป็นแรงผลักดันให้เราวางสิงคโปร์เป็นเป้าหมายในการพัฒนาทีมจนประสบความสำเร็จมากขึ้นอย่างเป็นลำดับ
และผมอยากจะบอกว่า ผมเริ่มจากเป้าหมายที่เป็นความฝันส่วนตัวก็จริง แต่ที่ทีมชาติไทยคว้าเหรียญทองมาได้นั้น ผมต้องขอขอบพระคุณผู้ใหญ่ในสมาคมหลายๆ ท่าน และขอขอบคุณทีมงานโค้ชทุกๆ คนที่ได้ช่วยกันดูแลนักกีฬาให้สามารถผ่านร้อนผ่านหนาวไปได้ด้วยกัน ผมคนเดียวคงไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก
สยามกีฬา : วางแผนพัฒนาผลงานของทัพปิงปองไทยหลังจากนี้ไว้อย่างไรบ้าง ?
โค้ชกิจ : ผมวางเป้าที่จะให้นักกีฬาเทเบิลเทนนิสหญิงของไทยไปให้ถึงระดับท็อป 20 ของโลกให้ได้ ซึ่งตอนนี้ที่ใกล้เคียงที่้สุดคือ หญิง-สุธาสินี ที่อยู่ในเวิลด์แรงกิงอันดับ 41 ของโลก ส่วนผู้ชายผมมุ่งหวังที่จะไปให้ถึงระดับท็อป 50 ของโลก โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาก็มี "บีม" ศุภณัฐ วิสุทธิ์เมธางกูร ที่เข้าไปถึงท็อป 100 ได้ โดยเราจะทำการฝึกซ้อมตลอดปีและกำหนดแมตช์การแข่งขันเวิลด์ทัวร์ที่ชัดเจนจากเวิลด์แรงกิงของนักกีฬาแต่ละคน ต้องมีการคิดคำนวณคะแนนที่นักกีฬาจะได้รับจากแมตช์การแข่งขันนั้นๆ ให้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อการทำอันดับเข้าสู่ท็อป 20 ตามเป้าหมาย ซึ่งเป้าหมายท็อป 20 ของนักกีฬาหญิงนั้นทางสตาฟมุ่งหวังที่จะทำให้สำเร็จภายใน 2 ปีนี้ ส่วนของนักกีฬาชายก็อาจจะต้องใช้เวลานานกว่านั้นเนื่องจากในเวลานี้แคมป์ทีมชาติยังขาดนักกีฬาชายที่จะมาลุยอย่างเต็มที่อยู่
สยามกีฬา : สิ่งที่ปิงปองไทยยังขาด ?
โค้ชกิจ : เนื่องจากทีมชาติไทยทั้งในระดับเยาวชนและรุ่นทั่วไปมีเป้าหมายในระดับที่สูงขึ้นและนักกีฬาทีมชาติแต่ละคนก็สังกัดอยู่แต่ละสโมสร ผมซึ่งอยู่ในฐานะผู้ฝึกสอนทีมชาติก็อยากให้ผู้ฝึกสอนจากสโมสรต่างๆ ที่ดูแลนักกีฬาอยู่ได้มีการทำงานร่วมกันกับทีมงานโค้ชทีมชาติอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และเมื่อเราได้ทำงานร่วมกัน เราก็จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ผมชื่นชมผู้ฝึกสอนเทเบิลเทนนิสของไทยทุกคน เรามีความรู้ความสามารถด้านเทคนิคกันเป็นอย่างดี เพราะผู้ฝึกสอนแทบทุกคนเคยเป็นอดีตนักกีฬามาก่อน แต่เราควรจะเพิ่มเติมในเรื่องของความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ความรู้ในเรื่องของกระบวนการคิดการพัฒนาจิตใจ และความรู้ในเรื่องของการวางแผนระยะยาว เพื่อจะได้พัฒนานักกีฬาของเราให้ก้าวไปสู่การเป็นแชมป์ที่มีความสามารถสูงกว่าเดิมทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติด้วย ผมอยากเชิญชวนโค้ชทุกๆ คนมาช่วยกันพัฒนานักกีฬาไปสู่เป้าหมายในระดับที่สูงขึ้น
สยามกีฬา : เสน่ห์ของอาชีพ ผู้ฝึกสอน หรือ โค้ช เทเบิลเทนนิสที่ทำให้โค้ชกิจรักและทำมายาวนานจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 22 ปีแล้วคืออะไร ?
โค้ชกิจ : ผมมองว่าด้วยความที่บทบาทหน้าที่ของผู้ฝึกสอนมันสามารถศึกษาเรียนรู้และพัฒนาได้อย่างไม่มีขีดจำกัดทั้งตนเองและนักกีฬา เป็นอาชีพที่เป้าหมายของความสำเร็จมันสามารถเดินหน้าไปได้เรื่อยๆ เป็นอะไรที่ท้าทายสำหรับผมและตอบโจทย์ปรัชญาในการใช้ชีวิตของผมที่สุดครับ
สยามกีฬา : มีอะไรอยากจะฝากทิ้งท้ายถึงพี่ๆ น้องๆ ผู้ฝึกสอนเทเบิลเทนนิสรุ่นใหม่ที่กำลังอยากจะพัฒนาตนเองให้ไปได้ไกลเหมือนโค้ชกิจ ?
โค้ชกิจ : ผมอยากจะฝากให้เพื่อนๆ โค้ชและน้องๆ ทุกคนที่สนใจงานด้านนี้ได้ศึกษาเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เพราะหน้าที่ของเรานั้นมันจะต้องรับผิดชอบต่อนักกีฬามากกว่าการรับผิดชอบต่อตนเอง มันจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ถ้าเราต้องการจะประสบความสำเร็จในบทบาทหน้าที่ผู้ฝึกสอน เราก็จะต้องพัฒนาตนเองก่อน เพราะถ้าเราไม่พัฒนาตนเองก่อน เราจะทำให้นักกีฬาของเราเก่งได้อย่างไร ทุกวันนี้ถึงผมจะมีหน้าที่เป็นโค้ชทีมชาติแต่ผมก็พร้อมที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ผมสามารถเรียนรู้ได้จากทุกคน ผมไม่ปิดกลั้นตัวเองและไม่ยึดติดกับตำแหน่งโค้ชทีมชาติ ผมพร้อมที่จะเรียนรู้อยู่ตลอด สิ่งนี้น่าจะเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการจะเป็นโค้ชที่ดีครับ
เลิฟ...เลิฟ
ประวัติ
กรกิจ เสริมกิจเสรี (หัวหน้าผู้ฝึกสอนเทเบิลเทนนิสทีมชาติไทย)
ชื่อเล่น : กิจ อายุ : 50 ปี
เกิด : 20 พฤศจิกายน 2513 เกิดจังหวัด : ภูเก็ต
โปรไฟล์โค้ช : คุมทัพเทเบิลเทนนิสทีมชาติไทยคว้าเหรียญทองกีฬาซีเกมส์ 4 สมัย (เหรียญทองทีมชาย ปี 2001 ที่มาเลเซีย), (เหรียญทองหญิงเดี่ยว ปี 2015 ที่สิงคโปร์), (เหรียญทองคู่ผสม ปี 2017 ที่มาเลเซีย) และ (เหรียญทองหญิงคู่ ปี 2019 ที่ฟิลิปปินส์)
โค้ชคนแรก : คุณภูษิต ภู่ทองคำ และ อาจารย์จันทร์ ชูสัตยานนท์
คติประจำใจ : ไม่ยึดติดกับความรู้ที่มี การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกเวลา
เป้าหมายชีวิตหลังจากนี้ : ผมอยากมีส่วนในการแบ่งปันประสบการณ์ให้กับเพื่อนโค้ชด้วยกันหรือคนที่ชอบกีฬา หากเขาได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อ ผมก็จะมีความสุขครับ และอีกหนึ่งความฝันของผมคือการมีศูนย์ฝึกอคาเดมี่ระดับมาตรฐานสากลเป็นของตัวเอง ซึ่งในเรื่องนี้คงจะเกิดขึ้นหลังจากที่ผมวางมือจากการคุมทีมชาติในอนาคต