แฟนบอลลิเวอร์พูลบางคนเบื่อหน่ายกับ VAR

ในความรู้สึกของพวกเขา ลิเวอร์พูลเหมือนตกเป็นเป้าหมายเล่นงานหรือได้รับผลอันไม่เป็นใจอยู่เสมอกับเทคโนโลยีนี้
เกมกับเอฟเวอร์ตัน เกมกับเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด เกมกับไบรท์ตันในนัดล่าสุด และอีกหลายๆ เกม จนกระทั่งบางคนตั้งข้อสังเกตว่าตั้งแต่เป็นตัวตั้งตัวตีเรื่องที่จะให้สโมสรบริหารจัดการค่าลิขสิทธิ์กันเองหรือแยกลีกออกไปเตะกันเอง แชมป์พรีเมียร์ลีก 2019/20 ก็ถูกจ้องเล่นงานด้วย VAR อยู่ตลอด
สำหรับผม ผมยังไม่เชื่ออะไรที่เป็นลักษณะปรักปรำกันแบบนั้นในทันที เรื่องนี้จะพูดกันลอยๆ คงไม่เหมาะ ตราบใดที่ยังไม่มีพยานหลักฐานที่จับต้องได้เป็นชิ้นเป็นอันเราไม่ควรปักใจเชื่อหรือเอาอารมณ์นำรายละเอียดอื่นๆ ที่อาจจะมองข้ามไป
เพราะอย่าลืมว่านอกจากลิเวอร์พูลแล้ว แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดก็เป็นอีกทีมที่เป็นผู้ชักธงนำร่วมกันในประเด็นบริหารค่าลิขสิทธิ์กันเอง แต่ทีมปีศาจแดงมีแต้มเพิ่มขึ้นมา 1 คะแนนเมื่อนำตารางแบบใช้ VAR กับไม่ใช้ VAR มาเปรียบเทียบกัน
ถ้ายึดตามทฤษฎีโดนแกล้งเพราะหมั่นไส้อย่างที่แฟนบอลบางคนเชื่อว่าลิเวอร์พูลถูกกลั่นแกล้ง แมนฯ ยูไนเต็ด ก็ควรจะต้องโดนกลั่นแกล้งหรือสั่งสอนให้รู้ว่ากำลังเล่นกับใครอยู่อย่างเดียวกันด้วย แต่จากสถิติที่คำนวนกันออกมา ลิเวอร์พูลคือทีมที่เสียแต้มจาก VAR มากกว่าใคร
(ทั้งการตัดสินจาก VAR ที่โปร่งใสและที่ยังมีคำถามรวมกัน ลิเวอร์พูลเสียไปแล้ว 7 แต้ม มากกว่าอันดับสองอย่างเวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยนถึง 4 แต้ม มากกว่าสเปอร์ส 5 แต้ม มากกว่าแมนฯ ซิตี้ กับ เชลซี 6 แต้ม มากกว่า อาร์เซน่อล 7 แต้ม มากกว่ายูไนเต็ด 8 แต้ม และมากกว่า ไบรท์ตัน เอฟเวอร์ตัน เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด 10 แต้ม)
เรื่องทฤษฎีถูกแกล้งนั้นสำหรับผมโยนทิ้งไป และมองว่ามันคือปัญหาจากกระบวนการใช้งาน VAR เองมากกว่า เพราะไปๆ มาๆ ดูเหมือนว่าแม้หลักการจะยังอยู่แต่รายละเอียดของการใช้นั้นจุกจิกยิบย่อยลงไปมาก
มากชนิดที่ชวนให้รู้สึกการใช้ VAR มันต้องวุ่นวายเรื่องมากขนาดนี้เลยจริงๆ หรือ คือหันไปเพ่งเล็งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแทบจะทุกเหตุการณ์เลย
หัวใจสำคัญของ VAR มีเพียงคำเดียวคือช่วยแก้ไขคำตัดสินที่ Clear and obvious error - ผิดพลาดอย่างเห็นได้ชัดแจ้ง
การตัดสินที่ผิดพลาดอย่างเห็นได้ชัดแจ้งหรือพลาดแบบโต้งๆ มีอะไรบ้าง
ประตูของแฟร้งค์ แลมพาร์ด ในฟุตบอลโลก 2010 ประตูของ เปโดร เมนเดส ที่ยิงใส่ รอย แคร์โรลล์ จังหวะพุ่งล้มของ ร็อบบี้ ฟาวเลอร์ ใส่ เดวิด ซีแมน ประตูแฮนด์บอลของ เธียร์รี่ อองรี ในรอบเพลย์ออฟฟุตบอลโลกกับไอร์แลนด์ ประตูแฮนด์ออฟก๊อดของ ดีเอโก้ มาราโดน่า
เหตุการณ์เหล่านี้คือการตัดสินผิดพลาดแบบ Clear and obvious มั่นใจได้เลยว่า VAR ไม่มีทางพลาดตาม และทั้งหมดจะถูกเปลี่ยนจากผิดเป็นถูก
ลูกยิงของแลมพาร์ดจะกลายเป็นประตู ลูกยิงของเปโดร เมนเดสจะกลายเป็นประตู จุดโทษของฟาวเลอร์จะถูกริบคืน ประตูของอองรีจะถูกริบทิ้งพร้อมใบเหลือง เช่นเดียวกับหัตถ์พระเจ้าไม่มีวันเกิดขึ้น
สิ่งที่เราต้องการจาก VAR คือเรื่องนี้ แก้ผิดให้เป็นถูก โดยเฉพาะจังหวะที่ผิดกันแบบชัดๆ มองเห็นกันทั้งโลก
ปัญหาก็คือขอบเขตของความถูกผิดนั้นมีกว้างมาก ไอ้ที่ผิดแบบที่คนพันล้านคนก็เห็นเหมือนกันหมดทั้งพันล้านนั้นไม่ใช่ปัญหาหรอก แต่จังหวะฟุตบอลที่ไม่รู้แน่ว่าผิดหรือถูก แฟร์หรือฟาวล์ นั้นก็มากมายมหาศาล
การสกัดที่ควรจะเป็นลูกโทษกับการสกัดที่ไม่ร้ายแรงถึงขั้นเป็นฟาวล์ การตัดสินที่ต้องใช้ดุลพินิจ จังหวะยากๆ ที่แม้กระทั่งกรรมการฟีฟ่าหรือโค้ชโปรไลเซนส์ 10 คนก็ยังมองไม่เหมือนกัน
นั่นล่ะที่เป็นปัญหา เพราะ VAR ยังไม่ได้มีบรรทัดฐานที่ชัดเจนพอสำหรับกรอบในเรื่องนี้
การตัดสินที่ Clear and obvious error ไม่ได้อยู่แค่ประตูของแลมพ์ส เมนเดส อองรี มาราโดน่า หรือการพุ่งล้มของฟาวเลอร์ แต่มันขยายขอบเขตไปถึงการสกัดของฟาบินโญ่ การสกัดของบรูโน่ แฟร์นันด์ส แฮนด์บอลของ ลูคัส มูร่า ไม่แฮนด์บอลของ เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ และเหตุการณ์ที่เป็นข้อถกเถียงอีกนับไม่ถ้วนที่เกิดขึ้นเฉพาะแค่ฤดูกาลนี้
ยังไม่รวมเรื่องการตีเส้นหาแนวล้ำหน้า/ไม่ล้ำหน้า ซึ่งไม่ได้อยู่ในเรื่องดุลพินิจแต่เป็นข้อเท็จจริง หากมันก็ยังเกิดคำถามถึงที่มาของข้อเท็จจริงนั้นอยู่ดี ภาพที่หยุดเพื่อตีเส้นประคือภาพที่ถูกต้องที่สุดจริงไหมในเมื่อความละเอียดของการถ่ายทอดสดระดับฟูลเอชดีมีเฟรมมากมายถึง 50 เฟรมในแต่ละวินาที และในแต่ละเฟรมบอลเคลื่อนที่กับคนเคลื่อนที่สวนกันสามารถเกิดความแตกต่างกันได้ถึง 20-30 เซนติเมตร
คุณเลือกเฟรมที่เกิดการสัมผัสบอลขึ้นเป็นครั้งแรกได้จริงไหม ถ้าคุณจะเอาความละเอียดขนาดล้ำหน้าเป็นมิลลิเมตรจริงๆ คุณก็ควรจะมั่นใจก่อนว่าที่มาของการเลือกภาพที่นำมาพิจารณานั้นแน่นอนจริงๆ
นั่นเป็นเรื่องล้ำหน้าที่เกี่ยวกับประเด็นข้อเท็จจริงก็ต้องตามปรับปรุงกันไป เช่นเดียวกับปัญหาเรื่องการใช้ดุลพินิจของทีม VAR ที่จะเข้ามาช่วยผู้ตัดสินในสนามที่คงจะถูกหยิบมาพูดคุยอย่างจริงจังเป็นระยะๆ เพื่อลดความขัดแย้งให้ได้มากที่สุดและกำหนดมาตรฐานคำตัดสินให้เป็นบรรทัดฐานให้ได้ชัดเจนที่สุดเช่นกัน
ผมคิดว่าโดยตัวของ VAR เองนั้นทำให้การใช้งาน VAR เริ่มขยับจากที่ควรจะช่วยตัดสินแค่ในบางจังหวะกลับกลายเป็นยื่นมือเข้ามาแทรกในทุกๆ จังหวะ
ด้วยเพราะมันโฟกัสที่การปะทะ เท้าสะกิดกันไหม โดนบอลไหม การหันไปเน้นที่จุดเหล่านี้ทำให้ตัวของมันเองหลุดไปจากคำว่า Clear and obvious error decision ที่ควรจะยึดถือตามหลักการ
เพราะธรรมชาติของการตัดสินในสนามนั้นผู้ตัดสินจะพิจารณาจากองค์ประกอบแวดล้อมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยไม่ใช่เพียงดูว่าเท้าสกัดโดนคนหรือโดนบอล เช่น บอลเปลี่ยนทิศทางไหม ความได้เปรียบของฝ่ายรุกเสียไปหรือเปล่า ท่าทีการเข้าสกัดรุนแรงเกินไปหรือไม่ แม้กระทั่งแอ๊คติ้งของผู้เล่น ฟาวล์แค่ 1 แต่แอ๊กติ้ง 10 น้ำหนักในการเป่าฟาวล์ก็เบาลง
หลายครั้งที่เราจะรู้สึกว่าตัวเองคล้อยตามกับการตัดสินในเหตุการณ์จริง คือเมื่อดูจังหวะต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุจนเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุมันไม่น่าจะฟาวล์หรือน่าจะฟาวล์ และก็รู้สึกว่ากรรมการตัดสินในจังหวะนั้นๆ ได้ดี สอดคล้องกับมุมมองของเรา แต่ VAR กลับย้อนมาให้ผู้ตัดสินได้พิจารณา "เฉพาะ" จังหวะปะทะว่ามีการสกัดโดนเท้ากันจริงๆ หรือไม่ได้ปะทะกันแต่ลักษณะการเข้าฟาวล์นั้นอันตรายเช่นเข้าบอลจากข้างหลัง
เมื่อผู้ตัดสินได้พิจารณาจากภาพที่เน้นให้เห็น "เฉพาะ" จังหวะปะทะ จังหวะนั้นก็จะดูรุนแรงขึ้นเป็นธรรมดาเพราะเราเน้นแต่กับจังหวะนั้น บทบาทของเงื่อนไขอื่นที่แวดล้อมการปะทะนั้นซึ่งเดิมอยู่ในการประมวลผลในหัวของผู้ตัดสินด้วยก็จะถูกลดทอนความสำคัญลงไป กลายเป็นดูกันแค่จังหวะปะทะเท่านั้นไม่มีบริบทอื่น
แน่นอนว่าเราคงเอาความรู้สึกมานำความถูกต้องไม่ได้ แต่สิ่งที่อยากจะสื่อและเชื่อว่าทางสมาคมฟุตบอล พรีเมียร์ลีก และสมาคมผู้ตัดสินก็คงพิจารณาด้วยเช่นกันคือความไหลลื่นและศิลปะในการตัดสิน เพราะบางเหตุการณ์เราไม่ได้ตัดสินแบบหุ่นยนต์
ผมคิดว่าภารกิจสำคัญในเรื่อง VAR คือการหาบรรทัดฐานในเรื่องการตัดสินที่ Clear and obvious error ให้ได้ ทีม VAR จะเข้ามามีส่วนกับตรงนี้ตอนไหนบ้างหรือเหตุการณ์ไหนบ้างที่ไม่ได้ทำให้ตัวมันเข้ามายุ่มย่ามกับการตัดสินหลักๆ ทั่วไป
คีย์เวิร์ดหรือกุญแจสำคัญอยู่ตรงนี้ล่ะครับ การตัดสินใดที่ผิดพลาดแบบชัดแจ้ง และต้องชัดแจ้งจริงๆ เท่านั้นที่ VAR จะเข้ามาช่วยเปลี่ยนจากผิดให้เป็นถูก
ตรงนี้คงต้องให้เวลากับคณะทำงาน เช่นเดียวกันแฟนบอลก็ต้องอดทนกับมันด้วย
การใช้ VAR นั้นเป็นคุณมากกว่าโทษ ถ้าเอาสถิติมากางออกดูก็จะยิ่งเห็นชัด VAR ช่วยให้คำตัดสินถูกต้องกว่าเดิมมาก ฤดูกาลนี้ผ่านไป 10 สัปดาห์มีการใช้ VAR กลับคำตัดสินเดิม 45 ครั้ง ยืนยันคำตัดสินเดิม 1 ครั้ง
แยกย่อยลงไปอีก VAR มีส่วนกับผลต่างๆ ตามนี้
-เป็นประตู 14 ครั้ง
-ริบประตู 16 ครั้ง
-ได้จุดโทษ 14 ครั้ง
-แฮนด์บอลเป็นจุดโทษ 7 ครั้ง
-ริบจุดโทษคืน 4 ครั้ง
-ให้ยิงจุดโทษใหม่เพราะผู้รักษารประตูขยับเท้าออกจากเส้น 2 ครั้ง
-ริบประตูเพราะล้ำหน้า 13 ครั้ง
-ให้ประตูจากการตัดสินล้ำหน้าผิดพลาด 2 ครั้ง
-ริบประตูจากแฮนด์บอล 1 ครั้ง
-ให้ประตูจากการตัดสินแฮนด์บอลที่ผิดพลาด 0 ครั้ง
-ริบประตูจากการทำฟาวล์ก่อนหน้า 2 ครั้ง
-ใบแดง 5 ครั้ง
-ยกเลิกใบแดง 1 ครั้ง
-ไล่นักเตะผิดคน 1 ครั้ง
ส่วนใหญ่แล้วการตัดสิน VAR ชัดเจนและช่วยแก้ผิดให้เป็นถูกได้จริงๆ การยอมรับมีมากกว่า ปิดความขัดแย้งได้จบกว่า แต่ก็นั่นล่ะครับ มันก็ยังอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ วิเคราะห์ปัญหา และพัฒนารูปแบบวิธีการใช้งานให้ลงตัวที่สุดอยู่ดี
แน่นอนมันมีทีมที่เสียผลประโยชน์จากกระบวนการเรียนรู้นี้ บางทีมมาก บางทีมน้อย ก็อยู่ที่มุมมองของแต่ละคนว่าจะมองมันอย่างไร มองว่าโชคร้าย มองว่าโดนกลั่นแกล้ง มองว่ามาตรฐานการตัดสินไม่ได้เรื่อง ตรงนี้คงบังคับความคิดกันไม่ได้
ผมคิดว่าในระหว่างนี้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็กำลังวุ่นวายกับการหาแนวทางที่ลดปัญหาจากการใช้งาน VAR กันชนิดหัวหมุนอยู่เหมือนกัน ต้องมีสัมมนา มีอบรมเพิ่มเติม มีการทำความเข้าใจกันอีกหลายรอบ เพื่อให้บรรทัดฐานของการใช้งานชัดเจนขึ้นอีก จังหวะคล้ายๆ กันควรมีคำตัดสินไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อป้องกันความสับสนและเสียงวิจารณ์อันมีแต่จะทำให้เกิดความกดดันขึ้นโดยไม่จำเป็น
ใครๆ ก็อยากให้การใช้งานออกมาเต็มประสิทธิภาพที่สุดด้วยกันทั้งนั้น ไม่ควรมีเครื่องมือใดที่กำเนิดมาเพื่อลบความขัดแย้งจะกลายเป็นสร้างความขัดแย้งใหม่ขึ้นมาอีก แต่หลังจากผ่านการใช้งานมาฤดูกาลเศษเราก็ได้เห็นว่าจังหวะที่ตัดสินยากของฟุตบอลนั้นมีมากมายจริงๆ แต่ละเหตุการณ์ก็มีรายละเอียดแตกต่างกันออกไปอีก ฉีกกิ่งก้านแตกแขนงออกไปเป็นสิบๆ ทาง
สำหรับผมนั้นเอาใจช่วยทีมงาน VAR หลักการนั้นดีอยู่แล้วคือเข้ามาช่วยตัดสินเหตุการณ์สำคัญระดับเปลี่ยนเกม 4 เหตุการณ์เท่านั้นคือ
1 ได้/ไม่ได้ประตู
2 เป็น/ไม่เป็นจุดโทษ
3 ใบแดงโดยตรง (ไม่นับใบเหลืองและใบเหลืองที่ 2)
4 ไล่ออกผิดคน
ทั้ง 4 หัวข้อนี้ต้องอยู่ในข่าย Clear and obvious error dicision ด้วยซึ่งตอนนี้บทบาทของ VAR ในเรื่อง Clear and obvious error dicision นั้นดูจะล้นเกินไปหน่อย การตัดสินใดๆ ก็เลยดูจะถูกปัดมาเข้าข่ายนี้ไปเสียหมดโดยเฉพาะเหตุการณ์ในเขตโทษ
มันจึงกลายเป็นว่ามากไป จุกจิกเกินไป ยิบย่อยเกินไปจนรู้สึกอึดอัด
คงต้องมาหาคำจำกัดความกับคำนี้กันใหม่เพื่อกรอบการทำงานที่ชัดเจนขึ้น ผมเชื่อว่าสุดท้ายแล้ว VAR จะก้าวไปสู่การใช้งานที่ดีขึ้นและได้รับการยอมรับมากขึ้นนั่นล่ะครับ เพียงแต่เราต้องเข้าใจว่า ณ ปัจจุบันนี้มันยังไม่ได้ไปถึงเส้นชัย..
ถ้าเปรียบกับวิ่ง 100 เมตร VAR ก็ออกตัวไปได้แล้วสัก 40-50 เมตร โอเคมันมีปัญหาเกิดขึ้นอยู่บ้างแต่ก็ยังดีกว่าไม่มีโอกาสได้ออกวิ่งก้าวแรกเลยนะครับ
ตังกุย