ไทยร่วมหารือวาดาหาแนวทางร่วมต้านสารต้องห้ามในวงการกีฬา

ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่ากกท. พร้อมด้วย ดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานศูนย์ควบคุมการใช้สารต้องห้ามแห่งชาติ ให้การต้อนรับผู้บริหารจาก ผู้บริหารองค์กรต่อต้านสารกระตุ้นโลก หรือ "วาดา" ที่เดินทางมาไทยเพื่อร่วมหารือถึงแนวทางในการทำงานร่วมกัน หลังไทยถือเป็นชาติเดียวในอาเซียนที่มีศูนย์ตรวจสารต้องห้ามนักกีฬาที่ได้มาตรฐาน ตั้งอยู่ที่ ม.มหิดล และถือเป็นเพียง 1 ใน 6 แห่งของเอเชีย

ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประทศไทย (กกท.) พร้อมด้วย ดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานศูนย์ควบคุมการใช้สารต้องห้ามแห่งชาติ, นายสุรศักดิ์ เกิดจันทึก  รองผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย ฝ่ายยุทธศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ, บูรณรัตน์ ทรงพันธุ์  รองผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารและวิเทศสหการ สถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา ให้การต้อนรับ ดร.มายูมิ ยายา ยามาโมโตะ และ โอลิมเปีย คาราวาชซีลี่ ผู้บริหารองค์กรต่อต้านสารกระตุ้นโลก หรือ "วาดา"  ในโอกาสที่เดินทางมายังประเทศไทย เพื่อร่วมกันหารือถึงความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน ที่ตึก กกท. เมื่อวานก่อน 

ในโอกาสนี้ผู้บริหารของทั้ง 2 องค์กร ได้ร่วมกันหารือถึงความร่วมมือด้านสารต้องห้ามทางการกีฬา และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เพื่อป้องกันไม่ให้นักกีฬาใช้สารต้องห้าม หรือเอาเปรียบคู่แข่งขัน โดยมีเป้าหมายเป็น "Clean sport" ในทุกกีฬา ซึ่งศูนย์ตรวจสารต้องห้ามในนักกีฬาของ ม.มหิดล ถือเป็นศูนย์เดียวในอาเซียน และ 1 ใน 6 แห่งของเอเชียที่ได้รับรองมาตรฐานและเปิดดำเนินการ  และทั่วโลกมีศูนย์ตรวจสารต้องห้ามที่วาดาให้การรับรอง  26 แห่ง 

สำหรับการหารือในครั้งนี้ ได้มีการหารือเรื่องความร่วมมือของภาครัฐในการดำเนินงานด้านสารต้องห้ามทางการกีฬา, การส่งเงินสมทบ (Contribution) ให้กับองค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (WADA: World Anti-Doping Agency) ที่ประเทศไทยมีพันธะกิจต้องช่วยสนับสนุนด้านการเงินให้กับองค์กรฯ, การพูดคุยถึงการดำเนินงานที่เป็นอิสระของสำนักควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาและศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬาของมหาวิทยาลัยมหิดล ปัญหาในการจ่ายเงินค่าตรวจหาสารต้องห้ามให้กับศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬาของมหาวิทยาลัยมหิดล, ความต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการดำเนินงานด้านสารต้องห้ามในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการลงนาม MOU ระหว่างกัน รวมถึงการเดินทางศึกษาดูงานในต่างประเทศเพื่อศึกษาตัวอย่างที่เป็น Best Practice อีกด้วย

นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เยาวชน และกีฬาประเทศบรูไน, คณะกรรมการองค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาประจำประเทศบรูไน ยังได้เข้ามาเยี่ยมชมศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬา สถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา รวมทั้งการหารือแนวทางในการส่งตัวอย่างมาตรวจที่ศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬาในโอกาสต่อไปด้วย


ที่มาของภาพ : -
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport