วีระศักดิ์แต่งตั้ง"ปัทมา''ร่วมดันมวยไทยเข้าอลป.

''อาจารย์เอ'' วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไฟเขียวแต่งตั้ง 21 คณะทำงานศึกษาวิเคราะห์แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนมวยไทยสู่ อลป. ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564) ส่วนใหญ่เป็นผู้รอบรู้เรื่องกีฬาทั้งสิ้น อาทิ คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล, ดร.ณัฐ อินทรปาณ และ สันติภาพ เตชะวณิช เพื่อติดตามผลงานการดำเนินงานด้านต่างๆ ให้เข้มข้นยิ่งขึ้นกว่าเดิม มีผลตั้งแต่บัดนี้
นายสกล วรรณพงษ์ ผู้ว่าการ กกท. เปิดเผยว่า ตามที่การกีฬาแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการกีฬา ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานงานเกี่ยวกับการกีฬา ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และจัดทำโครงการ แผนงานต่างๆ พร้อมสถิติเกี่ยวกับการการส่งเสริมการกีฬา รวมทั้งประเมินผล ติดต่อร่วมมือกับองค์การ หรือ สมาคมกีฬา ทั้งในและนอกราชอาณาจักร รวมทั้งประกอบกิจการอื่นๆ เพื่อผลประโยชน์ของการกีฬา โดยเฉพาะการส่งเสริมผลักดันกีฬามวยไทย ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศที่มีศักยภาพ ให้ได้บรรจุในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ล่าสุดจึงเห็นควรให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อศึกษาวิเคราะห์ และวางแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนมวยไทยสู่โอลิมปิกเกมส์นั้น
ทั้งนี้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 107 แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2558 จึงแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาวิเคราะห์แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนมวยไทยสู่โอลิมปิกเกมส์ ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564) ซึ่งได้รับการอนุมัติเห็นชอบจาก ''อาจารย์เอ'' นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นที่เรียบร้อยแล้วทั้งหมด 21 ตำแหน่ง ประกอบด้วย 1. คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล (กรรมการโอลิมปิกสากล) ที่ปรึกษา, 2. ดร.ณัฐ อินทรปาณ (อดีตกรรมการโอลิมปิกสากล) ที่ปรึกษา, 3. นายสันติภาพ เตชะวณิช (ที่ปรึกษาสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย) ที่ปรึกษา, 4. ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ที่ปรึกษา, 5. รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ฝ่ายกีฬาอาชีพและสิทธิประโยชน์ ประธานคณะทำงาน, 6. รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ฝ่ายกีฬาเป็นเลิศและวิทยาศาสตร์การกีฬา รองประธานคณะทำงาน, 7. ผู้แทนกระทรวงต่างประเทศ คณะทำงาน, 8. ผู้แทนสำนักงบประมาณ คณะทำงาน, 9. ผู้แทนกรมบัญชีกลาง คณะทำงาน,
10. ผู้แทนกรมพลศึกษา คณะทำงาน, 11. ผู้แทนสถาบันการพลศึกษา คณะทำงาน, 12. ผู้แทนคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย คณะทำงาน, 13. ผู้แทนสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย คณะทำงาน, 14. ผู้แทนสมาคมกีฬามวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย คณะทำงาน, 15. ผู้แทนสมาคมกีฬามวยไทยนายขนมต้ม คณะทำงาน, 16. ผู้แทนสภามวยไทยโลก ในพระบรมราชูปถัมภ์ คณะทำงาน, 17. ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและแผนการกีฬาแห่งประเทศไทย คณะทำงาน, 18. ผู้อำนวยการฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย คณะทำงาน, 19. ผู้อำนวยการฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย คณะทำงานและเลขานุการ, 20. ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย คณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการ, 21. หัวหน้างานส่งเสริมพัฒนาและกำกับควบคุมกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย คณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการ
สำหรับคณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้งทั้งหมด มีอำนาจหน้าที่ดังนี้ คือ 1. ศึกษาวิเคราะห์ และวางแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนมวยไทยสู่โอลิมปิกเกมส์ ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564) 2. จัดทำแนวทางบูรณาการ การขับเคลื่อนมวยไทยสู่โอลิมปิกเกมส์ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ 3. เสนอแผนบูรณาการ และประสานงานกิจกรรมเพื่อส่งเสริมขับเคลื่อนมวยไทยสู่โอลิมปิกเกมส์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสต์ 4. รายงานผลการดำเนินงาน และความคืบหน้าการขับเคลื่อนมวยไทยสู่โอลิมปิก ให้คณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการกีฬามวย ทราบเป็นระยะ และ 5. ดำเนินการอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ส่วน ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ ประธานสหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ (อิฟม่า) ในฐานะนายกสมาคมกีฬามวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ต้องขอขอบคุณผู้ใหญ่ในรัฐบาลทุกท่านที่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะเป็นภารกิจวาระสำคัญแห่งชาติ ที่คนไทยทั้งหมดอยากเห็นกีฬามวยไทยบรรจุเข้าสู่โอลิมปิกเกมส์ ซึ่งทุกอย่างเราได้ดำเนินตามขั้นตอนของ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ ไอโอซี ทุกอย่าง โดยเฉพาะบุคลสำคัญที่มีความรอบรู้เรื่องกีฬาอย่าง ดร.ณัฐ อินทรปาณ, คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล, นายสันติภาพ เตชะวณิช และ นายสกล วรรณพงษ์ เข้ามาช่วยเป็นคณะทำงานในครั้งนี้ เชื่อว่าทุกอย่างจะเดินหน้าไปได้ด้วยดี อีกทั้งทาง นายวีระศักดิ์ ได้ติดตามแผนงานและสอบถามเรื่องต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อต้องการให้ทุกอย่างสำเร็จ
ตามเป้าหมาย บ่งบอกถึงการให้ความสำคัญและสนใจของ รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา บ้านเรา ที่อยากเห็นมวยไทยบรรจุเข้าไปสู่กีฬาโอลิมปิกเกมส์ ปี 2024 ณ ประเทศฝรั่งเศส ยิ่งแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีจากนี้ไป จะต้องเข้มข้นทั้ง เรื่องการบริการจัดการ, การแข่งขันอย่างมีระบบ, การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และ การยอมรับของผู้คนจากทั่วโลก เพื่อชนะใจบอร์ดบริหารโอลิมปิกสากล ให้ได้