6 ข้อ "พญาครุฑสยายปีก"! ทีมชาติอินโดนีเซียกับย่างก้าวที่น่าจับตา

อินโดนีเซีย กำลังไปได้สวยกับพัฒนาการแบบก้าวกระโดดอย่างชัดเจน เพราะไม่ว่าจะทีมชาติชุดใหญ่หรือชุดเยาวชนของพวกเขานั้นผลงานขยับขึ้นสูงทีละนิด และนี่คือเรื่องราวของประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยถูกสมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติสั่ง 'แบน' แต่กลับขึ้นมาผงาดง้ำจนยักษ์ใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเหลียวมอง!!

[ 1 ] หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์

    ดัตช์ อีสต์ อินดีส์ หรือหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ส คือจุดเริ่มต้นของอินโดนีเซีย อันเนื่องมาจากพวกเขายังอยู่ในอาณานิคมของประเทศเนเธอร์แลนด์ส 

   ด้วยความที่เป็นเมืองขึ้น มันจึงทำให้พวกเขากลายเป็นชาติแรกของเอเชีย ที่ได้ไปตะลุย เวิลด์ คัพ รอบสุดท้ายในปี 1938 โดยเวลานั้นมีทั้งหมด 16 ทีม เข้าร่วมการแข่งขัน และใช้ระบบน็อก-เอาต์ไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศ

   แน่นอนว่า ดัตช์ อีสต์ อินดีส์ ไปไม่ถึงดวงดาว พวกเขาตกรอบแรกแบบเละเทะกับความพ่ายแพ้ต่อฮังการี 0-6

   เวลาผันผ่านเรื่อยมากระทั่งถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จักรวรรดิญี่ปุ่น บุกถึงดินแดนตะวันออกเฉียงใต้ของเอเชีย ในปี 1942 เพื่อทำการขับไล่เนเธอร์แลนด์ส ออกไป และก็ทำสำเร็จเสียด้วย  

   แม้จะยังไม่ได้รับความยินยอมจากเนเธอร์แลนด์ส ทว่า ดัตช์ อีสต์ อินดีส์ ก็ถือโอกาสประกาศเอกราช พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็นอินโดนีเซีย ในปี 1945 และต่อมาก็เก่งกาจขนาดคว้าตั๋ว โอลิมปิก 1956 ซึ่งเป็นหนเดียวกับไทย ที่ได้เข้าร่วมมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ

   การต่อสู้เพื่อเป็นปลดแอกตนเองจากการเป็นเมืองขึ้นยื้อยุดอย่างยาวนาน กระทั่งปี 1963 ที่พวกเขาได้รับเอกราชสักที

[ 2 ] สู่วงการลูกหนังเต็มตัว

   ในนามอินโดนีเซีย พวกเขาเข้าร่วมฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกเป็นหนแรกในปี 1958 แต่ก็ต้องถอนตัวออกจากการแข่งขันกระทันหัน ก่อนจะกลับมามีเอี่ยวอีกครั้งในปี 1974

   อย่างไรก็ตาม แม้จะได้สิทธิ์คัดเลือก แต่ทัพการูด้าก็ไม่เคยเฉียดใกล้โควตาไปตะลุย เวิลด์ คัพ รอบสุดท้ายเลย แม้ผู้คนในประเทศจะคลั่งไคล้ในกีฬาลูกหนังกันแบบสุดลิ่มก็ตาม เนื่องจากมีการแบ่งฝั่งกันแบบชัดเจน

   ทัวร์นาเมนต์ที่ผลงานของอินโดนีเซีย ดูจะจับต้องได้ มีเพียง เอเชียนเกมส์ กับ ซีเกมส์ 2 รายการสำคัญของทวีปเท่านั้น

   ใน เอเชียนเกมส์ พวกเขาเคยทำอันดับดีที่สุดกับการคว้าเหรียญทองแดงในปี 1958 ที่จัดการแข่งขัน ณ ประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ ซีเกมส์ คว้าเหรียญทองมาคล้องคอในปี 1987 และ 1997

   จากผลงานที่ออกมา มันจึงค่อนข้างชัดเจนว่าฟุตบอลของอินโดนีเซีย ยังอยู่ห่างไกลจากมาตรฐานของทวีป เพราะเอาแค่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ยังเป็นรองไทย, เวียดนาม, มาเลเซีย หรือแม้แต่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ อยู่พอสมควร

[ 3 ] เกมที่ถูกกล่าวขานทั่วโลก

   ไทเกอร์ คัพ หรือ อาเซียน คัพ ทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลหมายเลขหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถูกจัดแข่งขันเป็นหนที่สองในประวัติศาสตร์ ณ ประเทศเวียดนาม แน่นอนว่าชาติต่างๆ ปรารถนาที่จะก้าวสู่บัลลังก์แชมป์ในบั้นปลาย

   ด้วยความที่กฎและกติกาค่อนข้างแปลก พ่วงด้วยการเดินทางระหว่างรอบแรกกับรอบรองชนะเลิศนั้นสุดแสนจะไกลโพ้น แถมความระห่ำของสาวกลูกหนังของเจ้าถิ่นก็ค่อนข้างเดือด มันจึงทำให้ทั้งไทย และอินโดนีเซีย ไม่ต้องการเผชิญหน้าทีมดาวทอง

   ภาพที่ปรากฏคือต่างฝ่ายต่างแสดงทีท่าว่าไม่อยากชนะ จนกระทั่งถึงช่วงทดเวลาการแข่งขัน สกอร์บอร์ดแสดงผล 2-2 ทว่า มูร์ซียิด เอฟเฟนดี้ กองหลังของอินโดนีเซีย 'จัดให้' ด้วยการยิงเข้าประตูตัวเองไปดื้อๆ แถมยังปรบมือที่ตนเองซัดบอลไปตุงตาข่าย ประมาณว่า 'สำเร็จ' ตามแผน

   ไทย ชนะไป 3-2 แต่ผลที่ตามมานั้นมหาศาลอย่างยิ่ง เพราะพลันที่วิดีโอการแข่งขันเผยแพร่ไปในวงกว้าง ทั่วโลกต่างก็ออกมาตำหนิถึงความไม่เป็นมืออาชีพของทั้งสองชาติ

   ทั้งไทย และอินโดนีเซีย โดนสมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ปรับไปทีมละ 40,000 ดอลลาร์ ขณะที่ เอฟเฟนดี้ ฮีโร่ผู้ซัลโวประตูชัยก็ถูกสั่งแบนทั้งชีวิต

[ 4 ] ถูกแบนจาก ฟีฟ่า

   อินโดนีเซีย ก้าวมาเป็นทีมแนวหน้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุค 2000 กับการคว้ารองแชมป์ อาเซียน คัพ ได้ถึง 4 สมัย จากการแข่งขัน 6 ครั้ง พร้อมทั้งยังผ่านรอบคัดเลือกไปเล่น เอเชียน คัพ รอบสุดท้ายได้ 4 หน ติดต่อกัน

   แต่แล้วในปี 2011 ความแตกแยกภายในสมาคมฟุตบอลของตนเอง ทำให้พวกเขาแบ่งแยกเป็น 2 ฝ่าย ฟุตบอลลีกก็จึงแบ่งเป็น 2 ลีก ซึ่งไม่มีที่ใดในโลกทำมาก่อน จนกระทบถึงทีมชาติ เพราะไปแพ้บาห์เรน ยับเยินถึง 0-10

   สมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ ส่งหนังสือแจ้งเตือน พร้อมขีดเส้นว่าถ้ายังไม่สามารถหาข้อสรุปได้สำเร็จ จะถูก ฟีฟ่า สั่งแบนในปี 2013

   ปัญหาคาราคาซังยังดำเนินต่อไป จนในที่สุด ปี 2015 พวกเขาก็ถูกสั่งระงับการแข่งขันทุกรายการของฟีฟ่า เนื่องจากการแทรกแซงของรัฐบางที่เข้ามาเอี่ยวกับสมาคมฟุตบอลอินโดนีเซีย

   สิ่งที่ตามมาคือพวกเขาหมดสิทธิ์เข้าร่วมทัวร์นาเมนต์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น เอเชียน คัพ รวมไปถึง เวิลด์ คัพ รอบคัดเลือก ซึ่งผลจากการถูกแบนย่อมส่งผลถึงการพัฒนาศักยภาพนักเตะในประเทศโดยตรง

[ 5 ] ยุคเปลี่ยนผ่านของ ชิน แท-ยง

   หลังจากสู้รบกับเรื่องการเมืองภายในมานานพอสมควร ในที่สุดสมาคมฟุตบอลอินโดนีเซีย ก็ผนึกกันเป็นหนึ่งเดียวเสียที โดยเฉพาะปี 2020 ที่ทุ่มเงินมหาศาลคว้า ชิน แท-ยง อดีตกุนซือเกาหลีใต้ ชุดฟุตบอลโลก 2018 มาคุมทีม

   ตามรายงานจากสื่อต่างประเทศนั้นระบุว่าค่าเหนื่อยของเทรนเนอร์รายนี้มีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านดอลลาร์ ต่อ 1 ปี (ประมาณ 37 ล้านบาท) ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์โค้ชของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

   แท-ยง ได้รับดาบอาญาสิทธิ์ที่จะเข้ามาพัฒนาฟุตบอลอินโดนีเซีย แบบทั้งระบบ ซึ่งเขาก็เล็งเห็นว่าโครงสร้างเยาวชนคือสิ่งแรกที่ต้องวางรากฐานให้ดีที่สุด เนื่องจากมันจะส่งผลต่อในระยะยาว

   นอกเหนือไปจากการทำทีมชาติชุดใหญ่ เขายังรับผิดชอบทีมชุดยู-16, ยู-19, ยู-20 และยู-23 ปี อีกต่างหาก ซึ่งนั่นคือปัจจัยหลักที่ทำให้ขุนพลการูด้ายุคใหม่จึงอุดมไปด้วยผู้เล่นอายุน้อย

   กุนซือเชื้อสายเกาหลีใต้ ไม่ทำให้เงินที่สมาคมฟุตบอลอินโดนีเซีย ทุ่มลงไปมลายหาย เพราะผลงานของพี่แกจัดว่ายอดเยี่ยมมากๆ เมื่อเทียบกับการที่เคยถูกแบนจาก ฟีฟ่า จนขาดการพัฒนาแบบต่อเนื่อง

   ทัพการูด้าชุดเยาวชนคัมแบ็กสู่การเล่นทัวร์นาเมนต์ระดับทวีป ไม่ว่าจะชุดยู-20 หรือยู-23 พ่วงด้วยการที่ทีมชุดใหญ่ที่เน้นนักเตะวัยฉกรรจ์ แต่กลับไปถึงรอบชิงชนะเลิศของ อาเซียน คัพ 2022 ก่อนจะแพ้ไทย ที่เจนเวทีกว่าไปแบบน่าเสียดาย

   เท่านั้นไม่พอ แท-ยง ยังพา อินโดนีเซีย คว้าเหรียญทอง ซีเกมส์ 2023 ซึ่งเป็นหนแรกในรอบ 32 ปี ที่ประสบความสำเร็จระดับภูมิภาค

[ 6 ] พญาครุฑสยายปีก - อินโดนีเซียกับย่างก้าวที่น่าจับตามอง

   ปี 2024 ผลงานในระดับนานาชาติของอินโดนีเซีย กำลังไปได้สวย กลับมามีส่วนร่วมกับ เอเชียน คัพ 2023 (แข่งขันในปี 2024) หลังห่างเหินไปนานกว่า 16 ปี แถมยังทะลุรอบน็อก-เอาต์เป็นหนแรกในประวัติศาสตร์ได้อีกต่างหาก

   ขณะที่ฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือกโซนเอเชีย ก็อยู่ในสถานการณ์ที่ดีกับการรั้งอันดับ 2 ของกลุ่ม เอฟ โดยมีแต้มเหนือเวียดนาม 4 คะแนน กับการแข่งขันที่ยังเหลืออีก 2 นัด ซึ่งถ้ายังรักษามาตรฐานการเล่นในระดับนี้ พวกเขาน่าจะตีตั๋วสู่รอบต่อไปได้ไม่ยาก

   แต่ที่เซอร์ไพรส์สุดๆ คือการทะลุถึงรอบรองชนะเลิศ ยู-23 เอเชียน คัพ 2024 ที่ดวลลูกจุดโทษเอาชนะเกาหลีใต้ หนึ่งในตัวเต็งของทัวร์นาเมนต์ไปแบบพลิกล็อกช็อกทั้งปฐพี

   โอลิมปิกเกมส์ ณ กรุง ปารีส ประเทศฝรั่งเศส อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแล้ว

   ในห้วงเวลาอันสั้น ชิน แท-ยง สามารถเสกให้อินโดนีเซีย ที่หลับใหลมาแสนนานกลับมายืนอยู่แถวหน้าของอาเซียน ได้อย่างน่าภาคภูมิ

   รากฐานเยาวชนที่แข็งแรง, ระเบียบวินัยของผู้เล่น, สภาพร่างกายที่ต้องฟิตสมบูรณ์ที่สุดและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน คือสิ่งที่กุนซือชาวเกาหลีใต้ ปลูกฝังลูกทีมของตนเองอยู่เสมอ

   ล่าสุดเทรนเนอร์วัย 53 เพิ่งได้รับการยืนยันจากสื่อต่างประเทศว่าตกลงขยายสัญญาอยู่โยงกับทัพการูด้าไปอย่างน้อยๆ ก็ถึงปี 2027 

   นั่นหมายความว่าพวกเขาพร้อมแล้วที่จะก้าวขึ้นมาท้าทายมหาอำนาจแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง ไทยแลนด์

    แสงสปอตไลต์กำลังสาดส่องไปที่อินโดนนีเซีย กับพัฒนาการที่ก้าวกระโดดในทุกชุดที่ส่งแข่งขัน ค่าเฉลี่ยอายุผู้เล่นของพวกเขาก็สุดแสนจะน้อยนิด เมื่อเทียบกับชาติอื่นๆ ในละแวกนี้

   นี่คือผลพวงจากความที่สมาคมฟุตบอลของพวกเขารวมเป็นหนึ่งเดียวแบบไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย และพร้อมจะมุ่งหน้าไปทิศทางเดียวกัน โดยเอาผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง

   พญาครุฑสยายปีก - อินโดนีเซียกับย่างก้าวที่น่าจับตามอง


ที่มาของภาพ : AFC Asian Cup
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport