ริชาร์ด ฮิวจ์ส กับประสบการณ์ที่พาให้มาเป็นผอ.กีฬา ลิเวอร์พูล

หนึ่งในภารกิจที่หนักที่สุดของ ริชาร์ด ฮิวจ์ส กับการทำงานที่ ลิเวอร์พูล คือการช่วยหาคนที่จะเข้ามาแทนที่ เจอร์เก้น คล็อปป์

เอฟเอสจี กลุ่มทุนเจ้าของสโมสรมองว่ามันเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ ที่ ลิเวอร์พูล ต้องให้ผู้บริหารด้านฟุตบอลระดับสูงเข้ามาเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนกระบวนการนี้ เพราะต้องนำเสนอโครงสร้างการทำทีมให้แก่กุนซือที่หมายตาไว้ 

ซึ่งคนในกลุ่มนั้นก็มี ชาบี อลอนโซ่

ฮิวจ์ส วัย 44 ปีทำหน้าที่ผู้อำนวยการด้านเทคนิค บอร์นมัธ มาเป็นเวลาหนึ่งทศวรรษ ก่อนจะประกาศลาออกล่วงหน้าเมื่อไม่นานนี้

เขารับตำแหน่งนั้นเมื่อปี 2014 เพราะความสัมพันธ์อันดีกับ เอ็ดดี้ ฮาว กุนซือคนเก่า ที่รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยวัยทีนเอจจากการที่ขึ้นมาอยู่ทีมชุดใหญ่ในช่วงเวลาไล่เลี่ย

ปี 2002 ทั้งคู่ออกจาก บอร์นมัธ ไปอยู่ ปอร์ทสมัธ แทบจะพร้อม ๆ กัน แล้วทำให้ ฮิวจ์ส กับ ฮาว ได้เจอกับ ไมเคิ่ล เอ็ดเวิร์ดส์ ที่เข้ามารับงานในถิ่น แฟร็ตตัน พาร์ค บทบาทนักวิเคราะห์ผลงาน

ที่ ปอร์ทสมัธ ฮาว ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับอาการบาดเจ็บ จนนำไปสู่การพิจารณาเรื่องอนาคตนักฟุตบอลอาชีพ 

ขณะที่ ฮิวจ์ส กับ เอ็ดเวิร์ดส์ ชิดเชื้อมากขึ้น และแม้ว่าเวลาต่อมาเส้นทางของทั้งคู่แตกต่างกัน แต่ทั้งสองคนก็คงยังติดต่อกันอยู่ด้วยสาเหตุจากธรรมชาติในสายงานของพวกเขา 

...

ฮาว ในฐานะอาชีพผู้จัดการทีมออกจาก บอร์นมัธ ตอนปี 2020 เมื่อทำทีมตกชั้นจาก พรีเมียร์ลีก แต่ ฮิวจ์ส ยังคงทำหน้าที่เดิม 

ฮิวจ์ส เริ่มเปิดตลาดยุโรปมากขึ้น และได้ไปสะดุดตา อิลเลีย ซาบาร์นยี่ จาก ดินาโม เคียฟ และ มิลาน เคอร์เคซ จาก อาร์แซด อัล์คมาร์ จนพาแข้งสองรายนี้มาอยู่กับทีมเมื่อปี 2023

ผลงานบนสนามเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินความสำเร็จของ ฮิวจ์ส ก็จริง แต่การเสริมทัพก็เป็นเครื่องชี้วัดเขาด้วยเช่นกัน 

ย้อนไปเมื่อปี 2015 ฮาว เคยพา บอร์นมัธ เลื่อนชั้นสู่ พรีเมียร์ลีก ได้ด้วยทีมที่มีค่าเฉลี่ยอายุเพียง 25 ปี ซึ่งนั่นทำให้สโมสรจากแดนใต้จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อที่จะเอาตัวรอดกับการเล่นในลีกสูงสุด

ตอนแรก พวกเขาเน้นไปที่การดึงนักเตะที่มีประสบการณ์สูงมาร่วมทัพ แต่บรนดานักเตะอายุเยอะที่สภาพร่างกายโรยราซึ่งย้ายมาอยู่กับทีมตลอดช่วง 5 ปีต่อมาก็ไม่เคยช่วยทีมได้แบบจริงจังเลย 

ไม่ว่าจะเป็น ซิลแว็ง ดิสแต็ง, เจอร์เมน เดโฟ หรือกระทั่ง แจ็ค วิลเชียร์

ท้ายสุดแล้ว บอร์นมัธ ค่อย ๆ เริ่มเน้นไปที่การดึงนักเตะอายุน้อยมาร่วมทัพ ทว่าตอนที่ บอร์นมัธ ต้องไปอยู่ในกลุ่มหนีตกชั้นเมื่อช่วงปี 2020 นั้น ฮาว รวมถึง ฮิวจ์ส เองก็โดนตำหนิอย่างหนักที่เน้นใช้เงินไปกับนักเตะอย่าง โดมินิค โซลันกี้, จอร์ดอน ไอบ์ และ แบรด สมิธ 

ทั้ง 3 คนที่ว่า ต่างย้ายมาจาก ลิเวอร์พูล ซึ่งตอนนั้น เอ็ดเวิร์ดส์ ทำงานให้ ลิเวอร์พูล และได้รับคำชมอย่างมากที่ทำเงินได้มากพอตัวจากการปล่อย 3 นักเตะที่ไม่ได้อยู่ในแผนการทำทีมของ คล็อปป์

ที่จริงตอนปี 2019 ฮิวจ์ส ก็เคยออกปากเตือนแล้วว่า ต้องใช้เวลาสักพักกว่าที่นักเตะคนต่าง ๆ จะปรับเข้าสู่สิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ได้ และเป็นการดีกว่า ที่จะประเมินผลงานของผู้เล่นที่ซื้อมาหลังผ่านไปแล้ว 1 ปีครึ่ง ไม่ใช่แค่ 1 สัปดาห์ครึ่ง

โซลันกี้ ใช้เวลาพักใหญ่กว่าจะปรับตัวเข้ากับทีม ซึ่งกว่าที่เขาจะทำอย่างนั้นได้ บอร์นมัธ ก็หล่นไปเล่นใน เดอะ แชมเปี้ยนชิพ 

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่นั้นมา โซลันกี้ ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า จนถึงขนาดที่ว่า บอร์นมัธ น่าจะทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำหากเลือกที่จะขายต่อให้กับเหล่าสโมสรชั้นนำที่ให้ความสนใจ

ฮิวจ์ส ยังเป็นคนผลักดันให้ บอร์นมัธ คว้าตัว ไทโรน มิงส์ (จาก อิปสวิช ทาวน์), เบนิค อโฟบี้ (วูล์ฟส์), มักซ์ กราเดล (แซงต์-เอเตียน), ลูอิส คุ้ก (ลีดส์ ยูไนเต็ด), เนธาน อาเก้ (เชลซี), แอร่อน แรมสเดล กับ เดวิด บรู้ค (เชฟฯ ยูไนเต็ด), เจฟเฟอร์สัน เลอร์มา (เลบันเต้), ฟิลลิป บิลลิ่ง (ฮัดเดอร์ฟิลด์ ทาวน์), อาร์เนาต์ ดันจูม่า (คลับ บรูช) และ ลอยด์ เคลลี่ (บริสตอล ซิตี้)

ในกลุ่มนักเตะทั้งหมดนี้มีเพียงคนเดียวที่ไม่ได้มาจากลีกในต่างแดน หรือลีกระดับที่ต่ำกว่า 

ซึ่งเวลาต่อมาพวกเขาต่างพิสูจน์แล้วว่าสามารถเล่นในระดับสูงได้ ไม่ว่าจะเป็นกับที่ บอร์นมัธ หรือกับที่อื่น 

โดยคนเดียวที่เป็นข้อยกเว้นก็คือ นาธาน อาเก้ เพราะเขาย้ายมาสู่ ดีน คอร์ท ตอนที่ไม่ได้อยู่ในทีมชุดใหญ่ เชลซี 

แต่หลังจากนั้น อาเก้ พัฒนาตัวเองจนทุกวันนี้กลายเป็นแกนหลักตรงแดนรับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ยุค เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ไปแล้ว

หากมองถึงช่วงไม่นานนี้ ฮิวจ์ส สามารถนำนักเตะดาวรุ่งจากต่างแดนเข้ามาสู่ทีมได้ 

ทั้งที่ก่อนหน้านั้นหลายคนมองว่าไม่มีทางที่จะเกิดดีลแบบนั้นได้ แถมยังได้นักเตะชั้นยอดในระดับ เดอะ แชมเปี้ยนชิพ มาร่วมทีมด้วย 

มาร์คัส ทาเวอร์เนียร์, อ็องตวน เซเมนโย่, หลุยส์ ซินิสเตร์ร่า, อเล็กซ์ สกอตต์, มาร์กอส เซเนซี่, จัสติน ไคลเวิร์ต ต่างทำผลงานได้โดดเด่น จะมีก็เพียง ไทเลอร์ อดัมส์ ที่แทบไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันนับตั้งแต่ที่ย้ายมาจาก ลีดส์ เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 

นับตั้งแต่ที่ ฮิวจ์ส ถูกดันไปเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค บอร์นมัธ แผนกการเสริมทัพของสโมสรก็มีบุคลากรมากกว่าเดิมถึง 3 เท่า แต่ยังถือว่ายังน้อยอยู่เมื่อเทียบกับมาตรฐาน พรีเมียร์ลีก 

ฮิวจ์ส เชื่อว่าการมีกลุ่มทีมงานที่ไม่มากเกินไปจะช่วยทำให้การประสานงานกันมีความราบรื่นมากกว่า โดยกลุ่มทีมงานนั้นมี ไซม่อน วอร์ด รวมอยู่ด้วย 

ไซม่อน คือน้องชายของ จูเลี่ยน วอร์ด คนที่เคยรับงานผู้อำนวยการกีฬา ลิเวอร์พูล ต่อจาก เอ็ดเวิร์ดส์ เป็นเวลาสั้น ๆ นั่นเอง

ตัวอย่างนักเตะที่ประสบความสำเร็จจากการทำงานในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของ ฮิวจ์ส ไม่ค่อยมีให้เห็น

ที่เป็นแบบนั้นเพราะขอบข่ายการทำงานของเขาคือเน้นไปที่นักเตะอายุน้อยที่มีศักยภาพดี 

นั่นทำให้เป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่มีคนได้เห็นนักเตะเหล่านั้นลงเล่นใน พรีเมียร์ลีก ในช่วงที่ผ่านมา แถมตำแหน่งของ ฮิวจ์ส ก็ไม่ใช่ตำแหน่งที่จะออกมาพูดกับสื่อมากเท่าไหร่ 

อย่างไรก็ตาม ตอนปี 2019 เขาก็เคยออกมาคุยผ่านสื่อเหมือนกัน เป็นตอนที่บอกว่างานของตัวเองคือการช่วยเติมกระสุนให้ปืน (หมายถึงทีมของ ฮาว) ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ฮาว จะมีอำนาจตัดสินใจทั้งขั้นแรกและขั้นสุดท้ายในการเสริมทัพทุกดีล 

ส่วน ฮิวจ์ส จะรับหน้าที่ในช่วงอื่น ๆ ระหว่างนั้น เช่น การส่งรายละเอียดเรื่องการเงินให้ นีล เบล็ค คนเป็นซีอีโอพิจารณา 

ครั้งหนึ่ง ฮิวจ์ส เคยพูดเป็นนัยว่า ฮาว เก่งกาจในเรื่องการทำให้การตัดสินใจที่แย่ดูเป็นการตัดสินใจที่โอเคได้ และทำให้การตัดสินใจที่โอเคดูเป็นการตัดสินใจที่ยอดเยี่ยม 

มันเป็นประโยคที่อาจจะเป็นการให้คำนิยามถึงการทำงานของ คล็อปป์ กับที่ ลิเวอร์พูล ได้เช่นกัน

HOSSALONSO


ที่มาของภาพ : getty images
BY : Hossalonso
ธีรศานต์ คงทอง
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport