จุดอิ่มตัวของฟุตบอลไทย

สวัสดีวันสงกรานต์ (13 เมษายน 2561) ซึ่งในวันนี้นับเป็นวันแรกของประเพณีไทยอย่างเป็นทางการ ก็ขอให้ทุกท่านมีความสุขเนื่องในวันปีใหม่ของไทย เมื่อพูดถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์สิ่งที่หลายคนนึกถึงคือการกลับบ้านเกิดตามภูมิลำเนา การเฉลิมฉลอง และการเล่นน้ำ แต่สิ่งที่จะมีผลตามมา และไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นก็คือเรื่องของอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท และการสูญเสีย ก็หวังว่าสงกรานต์ปีนี้ทุกคนจะสนุกกันอย่างมีสติเมาไม่ขับนะครับ
วกกลับมาเรื่องที่ผมจะพูดถึงในวันนี้ และเป็นที่พูดถึงในช่วงที่ผ่านมา ก็คือเรื่องของกระแสความนิยมของฟุตบอลลีกไทยที่ในฤดูกาล 2018 ดูจะลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา ที่ผ่านมามีหลายฝ่ายที่วิเคราะห์หาสาเหตุของเรื่องนี้ซึ่งก็มีหลายเหตุผลไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ข้อนี้เป็นปัจจัยอีกข้อที่สำคัญ ในแรงจูงใจให้คนมาดูฟุตบอลแข่งขันต้องใช้เงินจำนวนมากทั้งค่าเดินทาง, ค่ากิน และค่าบัตร เสี่ยงภัยอันตรายใกล้ตัว
ส่วนหนึ่งจึงตัดสินใจติดตามถ่ายทอดสดทีวีทางบ้าน หรืออินเทอร์เน็ตจะสะดวกกว่า รวมทั้งไม่ต้องเบียดเสียดกับคนอื่น ผลงานของทีมที่เชียร์ตกต่ำ อันนี้เป็นอีกเหตุผล ในเรื่องที่แฟนบอลเข้าสนามน้อยลง ตัวผลงานทีมจะเป็นตัวบ่งชี้ว่า จะมีแฟนบอลหรือไม่ หากทีมนั้นๆ มีผลงานที่ไม่ดีนัก ห่างหายจากความสำเร็จไปนาน ทำให้มีผลกระทบเช่นกัน แต่ทีมใหญ่ก็มีเช่นกันในเรื่องความอิ่มตัวกับความสำเร็จแฟนบอลบางกลุ่มอาจถอนตัวออกไป โปรแกรมการแข่งขัน
ส่วนนี้อาจเป็นเรื่องที่ฝ่ายจัดการแข่งขันต้องทำการประเมินอีกครั้ง ว่ามีกระทบหรือไม่ เนื่องจากการจัดโปรแกรมในฤดูกาล 2018 ได้เพิ่มแมตช์ฟาดแข้งวันศุกร์ในช่วงเวลา 19.00 น. หรือ 20.00 น. เข้าไปด้วย รวมทั้งวันเสาร์ยังคงมีการแข่งขันในช่วง 20.00 น. ตามเดิมมีโดยตรงต่อยอดแฟนบอลหรือไม่ ติดตามฟุตบอลง่ายขึ้น ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าฟุตบอลไทยนับเป็นกีฬาที่อยู่ในกระแสข่าวสำคัญประจำวัน ส่งผลให้มีการถ่ายทอดสดทางช่องฟรีทีวี จานดาวเทียม และอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ต่างๆ นับเป็นผลกระทบโดยตรงที่หลีกเหลี่ยงไม่ได้ และสามารถจับกลุ่มเพื่อนดูการแข่งขันได้เช่นกันไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง
แต่คำถามที่ผมตั้งอยากย้อนถามทุกท่านว่า และเป็นมุมมองของผมเองก็คือ คนไทยบ้า!!! ฟุตบอลกันขนาดไหน สโมสรที่แต่ละท่านเชียร์เพราะอะไร มีความผูกพันแค่ไหน ที่ผมถามว่าคนไทยบ้าฟุตบอลกันขนาดไหนก็เพราะหากไม่ได้บ้าจริง ชอบจริง รักจริง เมื่อถึงวันหนึ่งท่านก็จะรู้สึกอิ่มตัวกับมัน
ยกตัวอย่างจากตัวผมเอง ผมยอมรับนะครับผมเริ่มเชียร์ฟุตบอลก็เริ่มจากการดูฟุตบอลต่างประเทศ และชื่นชอบสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จากประเทศอังกฤษชนิดเข้าเส้น ในช่วงแรกที่ผมเชียร์ผมจะใจจดใจจออยู่กับมันดึกดื่นแค่ไหนก็จะรอดู ติดตามข่าวสารทุกช่องทาง จนถึงขนาดบนบานศาลกล่าวให้ทีมรักชนะก็ทำมาแล้ว และหนักที่สุดคือการสักโลโก้ทีมที่ผมรักไว้บนร่างกายแบบนี้ที่เค้าเรียกว่า "เข้าเส้น" แต่เมื่อวันหนึ่งผมเชียร์ทีมนี้จนได้เห็นความสำเร็จมากจนมันไม่น่าท้าทาย และเมื่อวันหนึ่งที่ผลงานถดถอย และแย่ลงแรกๆ ก็รู้สึกผิดหวังแต่เวลาผ่านไปก็รู้สึกเริ่มชินกับเรื่องเหล่านี้จนมองเป็นเรื่องธรรมดา ทุกวันนี้ผมแทบจะไม่ค่อยได้ดูการถ่ายทอดสดของทีมที่ผมรัก ไม่ค่อยได้ติดตามข่าวสารเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็ยังแอบเอาใจช่วยอยู่บ้าง นี่แหละครับที่ผมมองว่ารู้สึกอิ่มตัวกับการเชียร์ทีมนี้
ย้อนกลับไปข้างต้นที่ผมกล่าวเอาไว้ แล้วฟุตบอลไทยล่ะ? เรารักและเชียร์ทีมๆ นั้นขนาดไหน ผมเองก็ยอมรับตรงๆ อีกนั่นแหละว่าแม้จะอยู่กับวงการฟุตบอลไทยมานาน แต่ผมกลับไม่มีทีมเชียร์อย่างจริงจังสักทีมเลย ยกเว้นทีมชาติไทย ที่แน่นอนว่าทุกคนต้องเชียร์ในฐานะคนไทย ผมเคยลองที่จะเชียร์ทีมๆ หนึ่งที่อยู่ใกล้บ้านแต่ก็ไม่ได้รู้สึกผูกพันอะไรสุดท้ายก็เลิกเชียร์
ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดก็แค่อยากจะยกให้เห็นว่า เหตุผลที่คนส่วนใหญ่มองว่าสภาพเศรษฐกิจ, ผลงานของทีมที่เชียร์ตกต่ำ, โปรแกรมการแข่งขันที่อัดแน่นเกินไป และติดตามฟุตบอลง่ายขึ้น ผมมองว่าเรื่องเหล่านี้มันปลายเหตุเท่านั้น ต้นเหตุคือคุณรักฟุตบอล และเชียร์ทีมๆ นั้นเข้าเส้นจนถึงบ้าทีมๆ นั้นแค่ไหน อาจจะไม่ต้องถึงขนาดเชียร์แบบจริงจัง หรือแพ้ไม่ได้จะเป็นจะตาย แต่ความหมายของผมคือเชียร์เป็นประจำทุกนัดทุกสัปดาห์จนเป็นกิจวัตร ไม่ว่าทีมจะแพ้หรือชนะ เพราะถ้าคุณคิดแบบที่ผมคิดคุณจะไม่มีวันรู้สึก "อิ่มตัว" กับทีมที่คุณเชียร์เลย
เอาจริงๆ อย่าว่าแต่แฟนบอลเลยครับที่ถึงจุดอิ่มตัว ทุกวันนี้เจ้าของสโมสร คนทำทีมหลายคนก็รู้สึกแบบนี้กันแล้ว จะเห็นได้จากช่วงที่ผ่านมามีผู้มีเงินหลายคนที่เข้ามาทำทีมฟุตบอล และก็ต้องวางมือไปเพราะพวกเค้าหมดความท้าทายก็เท่านั้น
มันยากครับที่จะไปบังคับให้เข้ามาทำทีมหรือว่าเข้ามาเชียร์ เพียงแต่ผมไม่อยากเห็นวันนั้น "วันที่ฟุตบอลไทยถึงจุดอิ่มตัว"
"คนสี่แคว"